จุดแรก ทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น ซอยเทอดไท 83 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กทม.พบของกลาง อาทิ บุหรี่ไฟฟ้าใช้แล้วทิ้ง (เป็นคำ) 65,000 ชิ้น แยกชิ้นหัวดูดบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยา 40,000 ชิ้น อุปกรณ์ส่วนควบของบุหรี่ไฟฟ้า (ตัวจำหน่ายไฟฟ้า) 35,000 ชิ้น รวม140,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 70 ล้านบาท
จุดที่ 2คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งท้องที่ สน.บุคคโล เป็นที่เก็บสินค้าบุหรี่ไฟฟ้าเครือข่ายเดียวกัน พบของกลางอีกประมาณ 1 แสนชิ้น รถยนต์ ที่ใช้ขนสินค้า มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท รวมทั้ง 2 จุดมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
การบุกค้นครั้งนี้ขยายผลตามมาจากพบผู้ต้องสงสัยนำกล่องพัสดุไปส่งที่ร้านบริการส่งพัสดุเอกชนรายหนึ่ง ปกติจะต้องใช้บัตรประชาชนในการรับรองพัสดุที่ส่งว่าถูกกฎหมาย แต่กลับไม่ยอมยื่นบัตรให้ บริษัทขนส่งแจ้งตำรวจ สน.ภาษีเจริญ เพราะคาดว่าในสิ่งของภายในกล่องน่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
จากนั้นชุดสืบสวนติดตามมาพบแหล่งเก็บบุหรี่ไฟฟ้าแห่งนี้ ตามที่อยู่บนกล่องพัสดุ จากการตรวจค้นนอกจากได้ของกลางแล้ว จับกุมผู้ต้องหาได้ 1 ราย สารภาพว่า เป็นผู้ดูแล
น.ส. จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 14 พฤษภาคม มีการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าแล้วกว่า 1.6 ล้านชิ้น มูลค่าหลายร้อยล้านบาท เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามร้านค้าในย่านสถานศึกษา เปิดเทอมนี้เห็นได้ชัดไม่มีร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในลักษณะนี้แล้ว ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ยากขึ้น
ในส่วนของกรณีนี้ก็จะมีการขยายผลตรวจสอบว่าเป็นเจ้าของเดียวกับที่เคยไปทลายโกดังในจังหวัดนนทบุรี ที่มีบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 2.6 แสน มูลค่าความเสียหายกว่า 130 ล้านบาท เมื่อ 18 มีนาคมที่ผ่านมาหรือไม่
อีกทั้งรัฐบาลยังสั่งการให้ตำรวจไซเบอร์และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปราบปรามร้านค้าออนไลน์ เพื่อปิดกั้น URL ควบคู่กับการตั้งด่านตรวจสกัดบริเวณชายแดน ซึ่งหน้าที่ของตำรวจแต่ละพื้นที่ เพื่อจับกุมการลักลอบนำเข้า
คาดว่าสินค้าล็อตนี้มีการนำเข้าก่อนที่จะมีการปราบปรามอย่างเข้มข้น ประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถกระจายสินค้าจึงนำมาเก็บไว้ก่อน คาดว่าสินค้าเหล่านี้ถูกนำเข้ามาจากทางประเทศจีน ส่วนตัวน้ำยาอาจจะนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย
โดยประเทศไทยไม่มีแหล่งผลิต เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ส่วนสินค้าของกลางจะถูกส่งไปยังกรมศุลกากรเพื่อประเมินมูลค่าและคดีจะถูกส่งไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ขอฝากประชาสัมพันธ์ ไปยังประชาชนให้ช่วยเป็นหูเป็นตาหากพบร้านค้าจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แจ้งเบาะแสมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถานีตำรวจใกล้บ้าน เบื้องต้นได้รับแจ้งแล้วประมาณ 14,000 เคส แบ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ 9,000 ราย และอื่นๆอีก 5,000 ราย
ด้านพล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. บอกเสริมอีกว่า ในการตรวจค้นครั้งนี้สามารถจับกุมผู้ต้องหา 1 ราย เป็นชาย สัญชาติไทย รายทำหน้าที่ดูและส่งสินค้า ทำมาสามปีแล้ว ได้รับค่าจ้างเดือนละ 18,000 บาท โดยซัดทอดไปยังผู้ที่ว่าจ้างด้วย
เบื้องต้นดำเนินคดี ข้อหา การลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ถือว่า มีความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ.2559 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และ ประกาศกรมศุลกากรที่ 185/2564 เรื่อง พิธีการศุลกากรว่าด้วยการผ่านแดนทางอิเล็กทรอนิกส์