ผบ.ตร.บินแดนปลาดิบนำคณะเข้าพบ ผบ.ตร. ญี่ปุ่น และเอกอัครราชทูต หารือแลกเปลี่ยนความร่วมมืออาชญากรรมไซเบอร์ คอลเซ็นเตอร์ ค้ามนุษย์ พร้อมดูงานสถานีตำรวจ หน่วยงานอาชญากรรมเทคโนโลยีนำมาปรับใช้ยกระดับการทำงานตำรวจไทย
วันนี้ (11 กรกฎาคม 2568) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล/โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6-9 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ และคณะ ได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ
ผบ.ตร.และคณะเข้าเยี่ยมคารวะ นายโยชิโนบุ คุสึโนกิ ผบ.ตร.ญี่ปุ่น โดยได้มีการหารือประเด็นความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การฉ้อโกงออนไลน์ อาชญากรรมทางไซเบอร์ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในโอกาสนี้ ผบ.ตร.ได้กล่าวขอบคุณ ผบ.ตร.ญี่ปุ่น ที่อนุมัติในหลักการการส่งนายตำรวจประสานงานมาประจำยังประเทศญี่ปุ่น
คณะตำรวจไทยได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานีตำรวจชินจูกุ ซึ่งเป็นสถานีตำรวจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและพลเรือนปฏิบัติหน้าที่รวม 700 นาย
ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิง 100 คน โดยคณะฯ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมการฝึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจแผนกต่างๆ ของสถานีตำรวจ ได้แก่ แผนกสืบสวนอาชญากรรมองค์กร และศูนย์รับแจ้งเหตุ
ผบ.ตร.และคณะยังได้เข้าพบ นายฮิเดอากิ โออิตะ ผู้อำนวยการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพื่อประชุม หารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ และศึกษาดูงานหน่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางเทคโนโลยี
โดยเป็นหน่วยงานทำหน้าที่สนับสนุนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในด้านการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล เช่น การตรวจสอบวัตถุพยานต่างๆ และการรักษาสภาพของวัตถุพยาน เช่น โทรศัพท์ ฮาร์ดดิสก์ รถยนต์ เป็นต้น และศึกษาดูงานศูนย์ต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการกระทำที่เป็นภัยต่อประเทศญี่ปุ่น ที่เน้นการโจมตีทางไซเบอร์
นอกจากนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ ยังได้นำคณะเข้าหารือกับ นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เพื่อหารือปัญหาการลักลอบเข้าเมือง การค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาการเดินทางของคนไทยและนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางมายังประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ การเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของ ผบ.ตร.และคณะ นำมาซึ่งประโยชน์ของการหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางการญี่ปุ่น โดยเฉพาะอาชญากรรมทางไซเบอร์ คอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์
รวมทั้งการดูงานสถานีตำรวจ ศูนย์สืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ หน่วยงานพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล ซึ่งได้ประโยชน์ แนวคิดหลายประการที่จะนำมาปรับใช้ในการทำงานของตำรวจไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ในการดูแลพี่น้องประชาชนต่อไป