Saturday, November 23, 2024
More
    Homeท่องปทุมวันเจาะใจ น.1-พล.ต.ท.สำราญ นวลมา แม่ทัพสีกากีเมืองหลวง

    เจาะใจ น.1-พล.ต.ท.สำราญ นวลมา แม่ทัพสีกากีเมืองหลวง

     

    พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คนที่51 ในวัย48ปี

    เป็นลูกชายคนสุดท้อง จาก2คน  ของครอบครัวค้าขายใน จ. เพชรบุรี จบจากโรงเรียนพรหมานุสรณ์  สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 34 เลือกเหล่าตำรวจ จบนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 50

    พื้นเพคนเพชรบุรี ส่วนใหญ่รับราชการ เป็นตำรวจ ทหาร โดยรุ่นพี่ๆ ที่พรหมานุสรณ์ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตำรวจ ทหารหลายๆคน สำราญ เช่นกัน นั่นคือจุดเริ่มต้นถนนสีกากีของเขา

    เริ่มชีวิตตำรวจสน.พระโขนง

    “เรียนจบปี40 บรรจุครั้งแรก  เป็นพนักงานสอบสวน สน.พระโขนง 3 ปี  มีโอกาสได้ร่วมทำงานคดีสำคัญๆของผู้บัญชาการ  วรรณรัตน์ คชรักษ์ หัวหน้าทีม คือพล.ต.ต.จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา  รอง ผบช.น.

    หมายความว่า สืบสวนได้อะไรมา ได้พยานมาไม่ต้องมาที่ สน. เราสอบปากคำ เข้าสำนวนให้เขาได้เลย  ก็ทำงาน 3 ปี คิดว่า งานสอบสวนเราก็โอเค.”

    พล.ต.ท.สำราญ ย้อนอดีตเส้นทางสีกากีให้ฟัง

     ขึ้นสารวัตรสายตรวจ191

    พอมีพื้นฐาน ผมก็อยากได้งานอำนวยการ  เข้าไปอยู่ที่ทะเบียนพล ตร.ไปอยู่งานแต่งตั้งสัญญาบัตร ประมาณ 2 ปี จากนั้นไปอยู่สำนักงาน ผบ.ตร.ยุคนั้น คือท่านสันต์ ศรุตานนท์ อยู่ทะเบียนพลด้วย

    จนครบขึ้นสารวัตร  ไปขึ้นที่สายตรวจ 191เป็นสารวัตรงานสายตรวจ 2 วาระปี 2546-2547 เริ่มมีผลงานจับกุม  

    หลังน้ำท่วม54เป็นผกก.ดอนเมือง

    อยู่สายตรวจ 3 ปีกว่าๆ มาเป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม สน.บางนา  จากนั้นไปอยู่ที่ศูนย์สืบสวนนครบาล สมัยท่านฉันทวิทย์ รามสูต เป็นผู้การ

    เป็นรอง ผกก.สืบสวน 3  อยู่ได้ปีหนึ่ง   กลับถิ่นเดิมเป็น รอง ผกก.สายตรวจ ได้ 1 ปี  ครบขึ้น เป็น ผกก.สน.ดอนเมือง  ตอนนั้นน้ำท่วมเยอะปี54 น้ำแห้งไปเป็น ผกก.พอดี ก็มุ่งมั่นพัฒนาโรงพัก  

    2 ปี ครบเครื่องเลย ทั้งอาชญากรรม การเมือง ถวายความปลอดภัย รับเสด็จ  โรงพัก ก็ทำโรงพักได้ดีเด่น ผู้บังคับบัญชาชมเชยหลายส่วน

    โยกเป็นผกก.สายตรวจผบก.

    จากดอนเมือง  กลับมาที่ ผกก.สายตรวจ อีก 2 ปี ขึ้นรองผู้การ แล้วก็ขึ้นผู้การ 191 ขึ้นเป็น รอง ผบช.น.คุมงานด้านกิจการพิเศษ ถวายความปลอดภัย งานในส่วนของกิจการพิเศษทั้งหมด แล้วก็ขึ้น ผบช.น.  

    นำข้อดีบิ๊กตำรวจปรับใช้

    ถ้าถามว่ามีใครเป็นไอดอล พล.ต.ท.สำราญบอกว่า เราอยู่นครบาลมาแทบจะตลอด ก็มาไล่ว่า ผบช.น.ท่านไหน เก่งส่วนไหน ก็เอามาปรับใช้  ตั้งแต่ท่านวรรณรัตน์ คชรักษ์ งานสืบสวน  ท่านดำรงศักดิ์ นิลคูหา งานด้านป้องกันปราบปราม

    ท่านปานศิริ ประภาวัต ด้านงานสอบสวน ท่านจักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา หรืออย่างท่านกฤษฎา พันธุ์คงชื่น ท่านเป็น รอง ผบช.น.งานสืบสวน ผมถือว่าท่านเป็นครูได้เลย หรือท่านฉันทวิทย์ รามสูต ท่านก็สอนสำคัญ

    บิ๊กอู๋ แม่แบบคลุกกับลูกน้อง

    อีกท่านคือท่านอดุลย์ แสงสิงแก้วด้านป้องกันปราบปราม  สมัยก่อน กลางคืนท่านจะอยู่กับลูกน้อง ยกตัวอย่างลูกน้องจบมาใหม่ ความรู้ทางด้านกฎหมายยังไม่แม่น

    ไม่ว่าจะเป็น ส.ต.ต.หรือ ส.ต.ท.ที่จบใหม่ ยุทธวิธีก็ยังไม่พร้อม การตรวจสอบของสื่อหรือประชาชนปัจจุบัน ก็มีเยอะ

    สิ่งที่จะสร้างความมั่นใจคือ ผู้บังคับบัญชา ต้องอยู่กับเขา ให้เขาอุ่นใจ มั่นใจเรื่องของกฎหมาย ยุทธวิธี มีผู้บังคับบัญชาอยู่ด้วย

    เอาแนวนายยุคเก่ามาปรับใช้

     ผมก็อยากให้ บช.น.เพิ่มส่วนนี้เข้าไป เหมือนนายยุคเก่าๆ ที่ออกตรวจกับลูกน้อง ตรงนี้ได้ท่านสำเริง สวนทอง มอบนโยบายในส่วนของงานป้องกันปราบปราม  

    คือไม่ต้องกลับมากเหมือนย้อนยุค แต่เอาแนวเก่ามาลองปรับ เอาแนวใหม่ใส่เข้าไปในสิ่งที่เราเห็น

    เรามองว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาเขาขาดอะไร ถ้าการทำงานเขาอาจจะขาดความมั่นใจ ต้องเสริมตรงนี้

    ให้รองผบช.น.คุมงานตามถนัด

    นโยบายที่มอบให้ รอง ผบช.น .แต่ละท่านๆก็มีความชำนาญ อย่างท่านรอง รุ่งโรจน์ ท่านชำนาญด้านความมั่นคง ท่านรอง นิติธร ท่านก็คุม บก.สปพ.

    หรือรองโต้ง พิทักษ์ คุมบริหาร บร.2คุมงบประมาณ แล้วเคยอยู่ ศปก. ใต้ ก็จะเข้มแข็งหน่อย ก็ยกมาให้ท่าน มีเรื่องงานจราจร ก็ได้พี่จิรสันต์ ก็เหมาะสมแล้ว คือเราก็ต้องช่วยกัน

    ไม่รวบอำนาจไว้ที่ตัว

    ผมใช้รูปแบบคณะกรรมการ ไม่ได้ตัดสินใจคนเดียว บอกรุ่นพี่เขาไปแล้วในที่ประชุมแล้วว่า ในยุคผมนี่จะต้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการแต่งตั้ง ช่วยเหลือกัน เราไม่ได้ทำคนเดียว ยิ่งเราเป็นน้องด้วย จะไปรวบไม่ได้ โดยพฤตินัยและนิตินัย ด้วย 

    ในฐานะน้อง พี่ๆมาคุยได้ตลอด

    แต่สิ่งที่ผมต้องทำก็คือ ในฐานะน้องผมจะบอกรุ่นพี่ตลอดว่าข้อดีของพวกพี่อย่างหนึ่งคือ พี่มาคุยกับผม  มาแสดงความคิดเห็นกับผมได้ตลอด

    ถ้ามีผู้บังคับบัญชาที่สูงมาก พี่อาจจะไม่อยากยุ่ง เขาสั่งอะไรมาก็ทำ แต่สำหรับผม ผมเป็นน้อง มาแสดงความคิดเห็นเลย  

    มาแสดงไอเดียในหน้างาน

    แต่การที่ผมตัดสินใจ รับจากพี่คนนี้มาๆ ก็ต้องมาประมวล แต่สิ่งที่สั่งการออกไป ถือว่าในฐานะของ น.1แล้ว

    พี่ๆ เขาก็เข้าใจกันหมดเลย ตอนนี้ทุกคนก็มาแสดงความคิดเห็น มาออกไอเดียในหน้างานของตัวเอง ผมว่าจะไปได้ดี ในภายภาคหน้า  

    โต้ข้อครหาน้องเป็นนายพี่

    ส่วนที่เขาครหาว่า เราเป็นรุ่นน้องแล้วมาเป็น ผบช.น.คือจริงๆ ผมทำงานกับรุ่นพี่มาตลอดนะ คือถ้าครหา ก็คงครหาตั้งแต่ดอนเมืองแล้ว เพราะตอนผมเป็น ผกก.ดอนเมือง มีพี่บางคน เป็น รอง ผกก. พอขอย้ายไปที่อื่น ยังฝากพี่ชายมาอยู่กับผมต่ออีก

    พี่จะมองว่าอย่างไร วันที่เราเป็นน้อง เราอยู่กับพี่ เราไม่ได้รู้สึกอะไรหรอก เพราะเรามีการบังคับบัญชา พี่เขาก็มีวินัย  

    พี่ๆชอบเพราะได้แสดงความเห็น              

    แต่ถ้าพี่เขาย้ายออกไปแล้ว พอถึงช่วง ทุกคนกลับมาอวยพรปีใหม่ อวยพรวันเกิดเราจะมองตรงนี้ว่ายังไง เพราะเราไม่มีสายการบังคับบัญชากับเขาแล้ว

    มันเป็นวันที่ผมภูมิใจที่สุด ทุกคนกลับมาอวยพร ว่าอยู่กับน้องได้แสดงความคิดเห็น ชัดเจน

    แล้วน้องเอาความคิดเห็นของพี่แต่ละคนที่เสนอไปปรับ เพราะจะเอาความคิดเห็นของใครมาใช้ทั้ง 100% มันเป็นไปไม่ได้

    นำผสมผสานความคิดตัวเอง

    เมื่อเรามีฐานะเป็นน้อง รับฟังความคิดเห็นของพี่ ที่มีประสบการณ์มา แต่เราต้องมีไอเดียของเรา มีความคิดของเรา แล้วไปปรับปรุงใช้ให้มันพัฒนา

    ถ้าน้องทำงานน้อยกว่า เหนื่อยน้อยกว่าก็ไม่ได้ แต่ถ้าทำงานมากกว่า เหนื่อยมากกว่า ผมว่าพี่ๆเขาก็แฮปปี้นะ 

    ผู้ใหญ่ไว้ใจ ทำงานเต็มที่

    จากโรงพักที่อยู่ที่ท้ายๆ ผมมาได้ที่ 2 ด้วยซ้ำ โรงพักดอนเมือง อาชญากรรม จับได้หมด ไม่มีคดีค้าง แถมของเก่าที่ค้างไว้ ยังไปจับให้อีก พี่ก็ต้องมองตรงนี้ ก็อยู่ได้อย่างอบอุ่น แล้วผู้บังคับบัญชาไว้วางใจแต่งตั้งเรา ก็ทำเต็มที่

    อยู่ดอนเมือง ผมนอนกับลูกน้อง คลุกคลีกับลูกน้อง ไม่กลับบ้าน  

    ต้องไปถามผู้ใต้บังคับบัญชาของผมที่เคยสัมผัสกันมา ว่าเป็นอย่างไร ข้อครหาพวกนี้ ตอบเองไม่ได้ ต้องถามผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าน้องคนนี้เป็นยังไง  

    เห็นต่างได้ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง              

    ส่วนความรู้สึกที่ได้มาเป็น น.1 ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลตอนนี้ ในความคิดผม  เห็นว่าความคิดเห็นทุกคนต่างกันได้ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง การชุมนุมตอนนี้กฎหมายยังให้ชุมนุมไม่ได้ เพราะมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ มี พ.ร.บ.การชุมนุมอยู่

    ตำรวจยึดกฎหมาย ถ้าเขามีสิทธิ กฎหมายก็บอกว่า ถ้ามาชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ ตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับเขา   

    ชุมนุมไม่สงบหน้าที่ตำรวจ

    พอการชุมนุมไม่สงบ ก็เป็นหน้าที่ตำรวจอีก ที่จะต้องทำให้การชุมนุมนั้นสงบ ไม่ลุกลาม โดยจะขอหมายศาล หรืออะไรก็ว่าไป ส่วนอาวุธที่ใช้อยู่ในรายการ 48รายการ ตามท้ายประกาศ มีข้อกำหนดชัดเจน ต้องเข้าปราบปราม ระงับยับยั้งให้ได้  

    ป่วนดินแดง ภาพรวมดีขึ้น               

    ตอนนี้ภาพรวม พวกขาโจ๋ ป่วนดินแดง ต้องถือว่าโอเค.คือทุกคนก็ยอมรับว่ามันดีขึ้น ผมถามชาวดินแดงแล้ว ที่ผ่านมา เขาอาจจะเห็นตำรวจอยู่ฝ่ายตรงข้ามเคยไปจับเขา ไปทำอะไรเขา

    แต่พอเริ่มสงบขึ้น ผมก็เข้า ไปถาม ผมว่าร้อยละร้อย คือผมไม่อยากจะว่าอย่างนั้น แต่ผมถามทุกคนเขาบอกว่า พอใจในสภาพแบบนี้ เพียงแต่ว่าตำรวจจะอยู่กับเขาได้นานแค่ไหน 

    มีชาวบ้านเป็นหูเป็นตา

    ผมก็บอกว่าเราก็ต้องทำควบคู่กันไป ขณะนี้ตำรวจอยู่กับพี่ ที่ผ่านมาพี่ไม่กล้า ก็เหมือนผู้ใต้บังคับบัญชาผมนี่แหละที่เกิดความกลัว ไม่มั่นใจ แต่ตอนนี้พอตำรวจเข้าไปอยู่ด้วย เขาเริ่มมั่นใจ

    ต่อไปเขาก็ต้องเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจ ถึงตอนนั้นสังคมก็จะกลับเข้ารูปเดิม แล้วจะค่อยๆ ถอนตำรวจออกมา

    ตอนนี้ยังต้องตรึงกำลังไว้ก่อน          

    ส่วนคำถามที่ว่าจะตรึงกำลังอีกนานหรือไม่ ผมจะใช้กำลังอย่างนี้ตลอด ปล่อยไม่ได้อยู่แล้ว แต่จะใช้วิธีการไหน ชุมชนเองต้องเป็นหูเป็นตาให้ผม ชุมชนเองต้องรู้ถึงความไม่สงบ ความไม่ปลอดภัย คนในชุมชนเอง ถ้ากล้ามาแจ้ง กล้ามาบอก

    อย่างน้อยๆ ตอนนี้เขากล้าแล้ว พบวัตถุระเบิด อยู่ตรงไหน ก็เจอตลอด ตอนนี้เริ่มมาบอกแล้ว  เพราะประชาชน คือตำรวจคนแรก     

    มีแผนรองรับหากเกิดเหตุอีก           

    แต่ถ้าตำรวจ ออกไปแล้ว อาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นอีก ก็ต้องมีแผนรองรับ แต่คงจะอยู่ตลอดไม่ได้ เราต้องคืนตำรวจให้กรุงเทพฯ กับประชากรที่อื่น พื้นที่กรุงเทพฯ ตั้ง 1,166 ตารางกิโลเมตร ถ้าผมจำไม่ผิด ประชากรที่มีสัมมโนประชากร 5 ล้านกว่า ประชากรแฝงอีก  นักท่องเที่ยวอีก รวมแล้วเกือบ 10ล้าน หรือ 10 กว่าล้าน

    ขอร้องให้ทำตามกฎหมาย           

    เมื่อถามว่าหนักใจไหม เกี่ยวการชุมนุมแล้วมีการไปพาดพิงสถาบัน พล.ต.ท.สำราญเปิดใจว่า อยากขอร้องอยากให้ทำตามกฎหมาย ดูกฎหมาย ตัวเราเอง เราก็ไม่อยากให้ใครมาทำ

    เรามีสิทธิ หน้าที่ แต่อย่าดูที่สิทธิอย่างเดียว ต้องดูหน้าที่ด้วย สิทธิเรามีแค่ไหน ทำตามสิทธิ แต่การใช้สิทธิ  ต้องไม่กระทบกับสิทธิของคนอื่นเขา ยึดกฎหมายไว้

    อย่าไปมองม็อบเป็นคนหมู่มาก

    ถ้า พ.ร.บ.การชุมนุม ก็ชุมนุมได้ คุณก็ชุมนุมตามกฎหมาย เราอย่ามองว่าคนที่ชุมนุมเป็นคนหมู่มาก อาจจะไม่ใช่ ก็ได้ คนที่เขาไม่ได้มาแสดงออกก็ต้องมีมากกว่า

    อย่างน้อยฝ่ายรัฐบาล เขาต้องมากกว่าไหม เพราะเขาชนะเลือกตั้งเข้ามา แล้วทำไมมีคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับ ผมมองอย่างนี้นะ 

    ห่วงน้องๆเยาวชนมาตามเพื่อน         

    ผมไปคุยกับน้องๆ 70 คน ได้คุยเกือบครบ ส่วนใหญ่ที่น่าเป็นห่วงคือตามเพื่อนมา เพื่อนรับมา มาช่วยเพื่อน แต่ถามว่า ไม่ชอบฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ น้อยคน เจอรอบล่าสุด 76 คน ผมไปคุยนะ ผมเจอมาว่า แค่คนเดียว ที่บอกว่า ทำไม คฝ.ต้องยิงไอ้นู่น ไอ้นี่ ใส่ผม

    ใช้อาวุธใช้ระเบิดผิดยิ่งกว่าชุมนุม

    เราก็ทำความเข้าใจกันว่าเราไม่ได้โกรธกันนะ เรามาว่ากันใหม่  คุยกันใหม่ว่าตอนนี้ยังชุมนุมไม่ได้ การมาทำอย่างนี้ เป็นการทำผิดกฎหมายการใช้อาวุธ ใช้ระเบิดยิ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ยิ่งกว่าอีก  

    เป็นห่วงว่าต่อไปเขาถูกจับกุม อนาคตจะเสียหาย ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ว่ากันไปตามระบบ ผมเป็นห่วงเยาวชน มากกว่า 

    ยึดพระบรมราโชบายในหลวงร.9             

    เมื่อเข้ามารับตำแหน่งในสถานการณ์อย่างนี้ ผมยึดเอาพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ท่านตรัส เมื่อปี 2552-2553เป็น 2 ปี ที่ท่านตรัสซ้ำกัน

    สรุปความได้ว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ใครที่มีหน้าที่อะไร ต้องศึกษาหน้าที่ของตนเองให้ถ่องแท้ เรามีสิทธิหน้าที่จะต้องทำอย่างไร ก็ต้องทำไปตามนั้น ไม่ต้องกลัว

    เกลี่ยกำลังสนองรัฐรับนทท.          

    เมื่อถามถึงเรื่องสถานการณ์โควิด การจัดเตรียมกำลังในการรับการเปิดเมือง  ตามที่นายกฯบอก ตรงนี้ได้เตรียมการอย่างไร

    ผบช.น.บอกว่า  ต้องเตรียมกำลังพลของเราส่วนหนึ่ง เหมือนที่บอก ถ้าเรื่องของการชุมนุม เรื่องของการก่อความไม่สงบน้อยลง ตำรวจก็มีกำลังมาดูแลนักท่องเที่ยว ดูแลอะไรต่างๆ

    แต่ถ้ายังมีม็อบ แล้วจะยังดูแลนักท่องเที่ยวได้ไหม  ก็ต้องเฉลี่ยกัน ต้องบาลานซ์ ต้องสนองนโยบายรัฐบาลให้ได้ 

    ถ้าธุรกิจท่องเที่ยวขับเคลื่อน ตำรวจก็ต้องรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวด้วย

    เน้นจับยา-ปืน เพราะเป็นสารตั้งต้น           

    ในเรื่องการปราบปรามอาชญากรรม ผมโตจากงานป้องกันปราบปราม ตอนแรกคิดว่า อาชญากรรมมันเกิดจาก 1.อาชญากร มีเหยื่อ แล้วมีโอกาส แต่ทีนี้คำว่าตัวอาชญากรส่วนใหญ่สมัยก่อนจะเจอว่า เขาเสพยา เขาติดยา  

    ก็เลยมาคิด ถ้าเราตัดตรงนี้ สารตั้งต้น ให้อาชญากรรมมันน้อยลง คนเสพยาน้อยลง จะทำให้คดีเกิดขึ้นน้อยลง หรือความรุนแรงของคดีก็เกิดจากอาวุธปืน ก็จะมีโปรไฟล์ เรื่องจับยา จับปืน มากหน่อย 

    เชิงรุกในการป้องกันเหตุ         

    ผมมองว่า ทั้งสองงานนี้ มันเป็นการป้องกันก่อนจะเกิดเหตุ เป็นงานเชิงรุก  ถ้าเราจับยาเสพติดได้เยอะ อย่างน้อย เราอาจจะเห็นคนที่เสพยามาจี้ตัวประกันน้อยลง อาจจะเห็นว่า คนต้องการยาแล้วไม่มีเงิน ไปลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ น้อยลง ผมต้องการตรงนี้ แต่ว่าไม่ได้ต้องการแค่จับเอาปริมาณอย่างเดียวนะ 

    ตั้งเป้าให้คนอยากเสพน้อยลง

    จริงๆปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่า อยากให้นครบาล ทำชุมชน ทำหมู่บ้าน ตามนโยบายท่าน ผบ.ตร.คือดีมานด์ไซส์ คือลดขนาดของดีมานด์ ให้น้อยลง ให้คนต้องการเสพยาเสพติดน้อยลง   คือถ้ามีเรื่องปริมาณยาก็ต้องจับอยู่แล้ว

    แต่เป้าหมาย อยากจะดึงผู้เสพ เข้าสู่การบำบัดให้เยอะขึ้น มันก็ลดอาชญากรรมได้

    เอาเข้าบำบัดให้หมด

    ที่เห็นว่าจับปริมาณเยอะๆ เนื่องจากว่าทำมานาน มีข้อมูลด้านนี้เยอะ ก็ทำต่อเนื่อง  แต่ว่าปีนี้ นโยบาย ผบ.ก็คือ ผมต้องทำ และเห็นด้วยว่าเราจะลดปริมาณการใช้ยาของคน เพราะคนขาย คนผลิต คนส่ง อยู่ต่างประเทศ ควบคุมลำบาก ในความคิดผม  อยากให้บำบัดทั้งหมดเลย ผู้เสพ ไม่ต้องจับ เอาเข้าบำบัดให้หมด  ก็ตั้งเป้าไว้  

    สวัสดิการลูกน้องเรื่องสำคัญ

    ส่วนการดูแลสวัสดิการของตำรวจผู้น้อย โดยเฉพาะ คฝ.ที่ต้องลงไปทำงาน คือถ้านโยบายตลกๆ ที่ชอบคุยกับลูกน้อง ก็คือว่า ถ้าคนสำราญ งานก็สำเร็จ เผอิญว่าเราก็ชื่อสำราญด้วย แต่ไม่ใช่ว่าคนชื่อสำราญ ไม่ใช่ ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาเขาได้รับสวัสดิการของเขา ตามที่เขาสมควรจะได้รับ อันนี้ผมถือมาก หรือที่พี่น้องประชาชนมีเจตนาจะช่วยเหลือมา อันนี้ต้องเต็มที่ สิ่งที่ตอบแทนเขาได้ 

    สอนแล้วให้แล้วดื้อ ต้องลงโทษ           

    เราอย่ามองว่า กองบัญชาการขับเคลื่อนได้ด้วยตัวผู้บัญชาการ ไม่ใช่ กองบัญชาการขับเคลื่อนได้ด้วยตำรวจทั้งกองบัญชาการ พูดง่ายๆ คือขับเคลื่อนด้วยผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นมดงาน   มอบนโยบายไปแล้วว่า ไม่ว่าจะงานสืบสวน งานสอบสวน งานป้องกันปราบปราม สอนเขาก่อน ต้องสอนเขา ให้สวัสดิการเขา ถ้าสอนแล้ว ให้สวัสดิการแล้ว ยังไม่ทำก็ต้องกล้าลงโทษ 

    ผู้บังคับบัญชาที่ดี ต้องกล้าลงโทษ ส่วนใหญ่จะไม่กล้าทำข้อ 3 กัน เพราะกลัว แต่ถ้าเรามองตาเขาแล้ว เราเข้าใจเขาเราก็ต้องกล้า ผมมองอย่างนี้นะในความคิดเห็นส่วนตัว

    แอปฯแทนใจ ใดนใจมาก

    ส่วนสวัสดิการในแอป แทนใจ ก็เป็นแอปหลักอยู่แล้ว ที่เปิดมา แทนใจก็คือ ได้ทุกทาง อย่างน้อย เขาไม่ต้องไประบายกับคนอื่น  ระบายกับผู้บังคับบัญชาได้เลย หรือสิทธิของเขา ตรวจสอบได้เลย แทนใจตอบโจทย์ผมเลย แล้วไม่ใช่แทนใจ อย่างเดียว โดนใจผมด้วย แอปแทนใจ ก็ดีกว่าไปโผล่เว็บไซต์โน้น เว็บไซต์นี้   

    มีอะไร ก็คุยกันก่อน ให้เขากล้าที่จะคุยกับเรา ผมอยู่ดอนเมือง สมัยนั้น มันยังเป็นแมนนวลอยู่ ผมทำโครงการกระจกเงา สะท้อนตัวเอง เอาตู้ไปติดตามจุดต่างๆ ให้เขาเขียนส่งมาว่า ต้องการให้ผู้บังคับบัญชาเป็นอย่างไร 

    ห่วงขวัญกำลังใจมดงาน

    แต่ ณ ตอนนี้ ห่วงเรื่องขวัญและกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องดึงกลับมาให้ได้ก่อนอย่างแรก  ขวัญกำลังใจที่เขาจะต้องมี หรือผู้บังคับบัญชาจะต้องอยู่กับเขา ผมมองตรงนี้ ไม่ใช่ว่าขวัญกำลังใจตำรวจนครบาลตอนนี้ไม่ดี แต่สิ่งที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้น อาจจะทำโดยเพราะงบประมาณ ซึ่งเราก็ถูกตัดไปหลายส่วน  สตช.เองก็ถูกตัด 

    เรียกศรัทธาลูกน้องกลับคืน         

    ตอนนี้หนักใจว่าจะให้ขวัญกำลังใจตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่มันสวนทางกับเรื่องงบประมาณ อันนี้ก็คือหนักใจ ถ้างบประมาณเราน้อยลง แต่เราจะสร้างขวัญกำลังใจให้ดีขึ้น ก็ต้องหนักใจเป็นธรรมชาติ มันตรงข้ามกัน

    แต่เขาบอกว่า บ้านเมืองขาดอาหาร แต่ต้องไม่ขาดศรัทธา เพราะฉะนั้น ตำรวจต้องมีศรัทธาก่อน ต้องเรียกศรัทธาของเจ้าหน้าที่เราคืนมาก่อนให้ได้ 

    ถวายความปลอดภัยหน้าที่หลัก

    เมื่อถามว่าในการได้ตำแหน่งที่ดีมาตลอด มีอะไรที่เกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่  พล.ต.ท.สำราญบอกว่า ว่าไม่เกี่ยวหรอก งานของตำรวจทุกคนคือต้องถวายฯ ไม่มีกองบัญชาการไหน ไม่มีสำนักงานตำรวจยุคไหนเลย ที่ไม่มีหน้าที่นี้

    หน้าที่หลักเลยคือการถวายความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนต้องถวายงานทั้งหมด ทุกคนต้องทำเหมือนกัน มีสิทธิเท่ากัน ผมเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งเท่านั้น ที่ได้ถวายฯ ทุกคนมีสิทธิถวายงานทั้งหมด

    สถาบันอยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว

    ส่วนที่จะมีบางคนไปเขียนว่า ตั๋วช้าง อันนี้คงตอบไม่ได้ เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ผมยังไงก็ได้ ให้ทำหน้าที่ไหนก็ได้ ผมทำเต็มที่ ที่เหลือ สถาบันอยู่ในใจเราอยู่แล้ว ทุกคนนะ ผมว่า ทุกคนรับพระราชทานกระบี่จากพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9รัชกาลที่ 10 อยู่ในใจอยู่แล้ว

    พี่น้องประชาชนคือลูกหลานพระองค์

    เมื่อสถาบันอยู่ในใจเรา   พี่น้องประชาชนก็คือลูกหลานท่าน สิ่งที่พระองค์ท่านห่วง จะเป็นใครก็ลูกหลานท่าน แล้วเราใส่ใจลูกหลานท่าน  

    เป็นที่มาของสโลแกนของตำรวจ บช.น.ยุคนี้ คือ ตำรวจนครบาลใส่ใจความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่แค่ตัวผม ทาง รอง ผบช.น.ท่านก็บอกว่า  เอาอย่างนี้ เป็นมอตโตของนครบาลเลย

    ทำหน้าที่ให้ดี ไม่รู้พรุ่งนี้ตื่นหรือเปล่า           

    เมื่อถามถึงเรื่องของอายุราชการเหลืออีกเป็นสิบปี  จะต้องรักษาตัวหรือปฏิบัติตัวอย่างไร พล.ต.ท.สำราญตอบถ่อมตัวว่า ผมก็เป็นอย่างนี้แหละ   ถ้ามันเกร็งไปจะทำให้ไม่กล้า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดไปตามสภาพ

    ผมไม่ได้คิดว่า จะต้องรักษาเนื้อรักษาตัวอะไรขนาดนั้น ผมคิดว่า วันนี้ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด วันข้างหน้า พรุ่งนี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะได้ตื่นขึ้นมารึเปล่า 

    ทั้งหมดนี้คือความในใจพล.ต.ท.สำราญ นวลมา แม่ทัพตำรวจเมืองหลวงคนที่51 ครับ

    กากีกลาย23/10/64

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments