วันที่ 22 ธ.ค.62 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีในห้วงที่ผ่านมามักมีเหตุเกี่ยวกับอาวุธปืน อาทิ นำอาวุธปืนไปยิงผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือทำปืนลั่นใส่ตัวเองเสียชีวิตจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นต้น ว่า
ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อาวุธปืนลั่นเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต โดยขอยกเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ปกครอง หรือผู้ที่มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยถูกกฎหมาย
ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อป้องกันความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน หรือในทางกีฬายิงปืน เป็นต้น
ในการเก็บอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนชนิดต่างๆ ไว้ในบ้าน อาคาร ควรจัดเก็บในที่ปลอดภัย ไว้ในตู้เซฟ หรือจุดที่เด็กไม่สามารถนำมาหยิบเล่นได้
มีการปลดแมกกาซีน หรือนำเครื่องกระสุน(ลูกปืน) ออกจากแมกกาซีนหรือลูกโม่ให้เรียบร้อย
การนำอาวุธปืนมาทำความสะอาด หรือแม้กระทั่งมายิงในสนามยิงปืน ขอให้ยึดถือตามหลักกฎแห่งความปลอดภัยการใช้อาวุธปืน 10 ประการอยู่เสมอ คือ
1. เมื่อจับปืนทุกครั้งให้พึงระลึกเสมอว่าปืนทุกกระบอกมีกระสุนบรรจุอยู่
2. ตรวจปืนทุกครั้งที่จับว่ามีกระสุนบรรจุอยู่หรือไม่ มีวัสดุใดติดค้างอยู่ในลำกล้องหรือไม่
3. อย่าเล็งปืนไปที่บุคคล สิ่งมีชีวิต หรือสิ่งของมีค่า ถ้าผู้ยิงไม่ต้องการยิง
4. อย่าเล็งปืนไปทางวัสดุอื่นใดที่อาจทำให้หัวกระสุนปืนสะท้อนกลับหรือแฉลบได้ เช่นวัสดุที่มีผิวแบนแข็ง ผิวน้ำ
5. อย่าพูดคุยกับผู้อื่นในขณะยิงปืน
6. อย่าทิ้งปืนที่บรรจุกระสุนปืนไว้ในที่ซึ่งมีบุคคลอื่น โดยเฉพาะเด็กอาจหยิบฉวยเอาไปเล่นได้ง่าย
7. อย่าหันปากกระบอกปืนไปทางด้านข้างหรือด้านหลัง ขณะจับปืนอยู่ในแนวยิง
8. เมื่ออยู่ในห้องฝึกหรือสนามยิงปืนต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้ควบคุมการฝึกอย่างเคร่งครัด
9. ถ้าไม่เก็บปืนไว้ในซองปืน ต้องจับในลักษณะเปิดลูกโม่ หรือให้โครงเลื่อนปืนอยู่ในลักษณะค้างโครงเลื่อนปืนไว้
10. การส่งปืนให้ผู้อื่น ต้องส่งปืนในลักษณะเปิดลูกโม่ หรือให้โครงเลื่อนปืนอยู่ในลักษณะค้างโครงเลื่อนปืนไว้
รอง โฆษก ตร.กล่าวอีกว่า
ขอฝากให้ผู้ปกครอง สร้างการรับรู้ให้แก่บุตรหลาน เด็ก ว่าอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน นั้นเป็นสิ่งที่มีไว้ในการป้องกันความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน
ไม่ใช่ของเล่น หรือสิ่งที่นำมาทำร้าย ก่อความรุนแรง หรือทำให้เกิดอันตรายกับผู้อื่น ซึ่งถือว่าครอบครัวนั้นเป็นสถาบันแรกของสังคมในการช่วยกันอบรมสั่งสอน บุตร หลาน
อีกทั้งในการขอมีและใช้อาวุธปืน หรือแม้กระทั่งในการพกพา ก็ขอให้ดำเนินการและขออนุญาตให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ยึดถือตามหลักกฎแห่งความปลอดภัยในการมีและการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเจ้าของปืน บุคคลรอบข้าง และผู้อื่น
โดยหลักแล้วกฎหมาย พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ พ.ศ.2490 นั้นอนุญาตให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ทหาร ตำรวจ อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
หรือผู้ได้รับมอบหมายให้มีหรือใช้อาวุธปืน อยู่ระหว่างการช่วยเหลือราชการและมีเหตุจำเป็นต้องมีและใช้อาวุธปืน
ในส่วนของประชาชนที่มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีและใช้อาวุธปืนเพื่อป้องกันชีวิต ทรัพย์สินนั้น
สามารถยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาต ตาม 5 ขั้นตอนของการขอมีและใช้อาวุธปืน ในเบื้องต้น ดังนี้
1.ยื่นคำร้องขอ (ใบ ป.1)
2.นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน(ใบ ป.3) ภายใน 6 เดือนตั้งแต่ได้รับใบอนุญาต
3.ผู้ขอใบอนุญาตไปจัดหาซื้ออาวุธปืน และเครื่องกระสุนมาแล้ว ต้องนำอาวุธปืนนั้นไปให้นายทะเบียนตรวจสอบ
4.นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (ใบ ป.4)
5.การพกอาวุธปืนติดตัว (ใบ ป.12)ต้องขออนุญาตต่อ ผบ.ตร.
เหตุผลการอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน ในเบื้องต้นคือ
1.ใช้ป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน
2.เพื่อการกีฬา
3.เพื่อการล่าสัตว์
4.เก็บเป็นที่ระลึก
5.พกชั่วคราว (นักการทูตและผู้ติดตาม)
ส่วนสถานที่ขออนุญาต นั้น กรณี กรุงเทพฯ ยื่นขอใบ ป.1-ป.4 ที่สำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง
ยื่นขอใบ ป.12 กองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กรณีต่างจังหวัด ยื่นขอใบป.1-ป.12 ที่ว่าการอำเภอตามทะเบียนราษฏร เป็นต้น
นอกจากนี้ มีข้อห้ามที่ระบุว่า บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้
ประกอบด้วย ต้องโทษจำคุกตาม ม.13 (พรบ.อาวุธปืน) ไม่บรรลุนิติภาวะ พิการ หรือ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือ จิตฟั่นเฟือน ไม่มีอาชีพและรายได้ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประพฤติผิดร้ายแรง
หากไม่ปฎิบัติตามกฎหมายในการห้ามพกอาวุธปืนติดตัว อาจเข้าข่ายความผิดในฐาน พกอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ห้ามพกพาอาวุธปืนอย่างเปิดเผยหรือนำไปใช้ในที่ชุมนุมที่มีงานรื่นเริงต่างๆ ฝ่าฝืนจำคุก 6 เดือน – 5 ปี และ ปรับ 1000 – 10000 บาท