เมื่อได้ยินคำว่า“Civil War”หรือแปลอย่างตรงตัวว่า“สงคราม กลางเมือง” ส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญครั้งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ที่กว่าจะกลายมาเป็น “ดินแดนแห่งเสรีภาพ”ตามที่แปะป้ายเรียกกันมานาน
มีบันทึกว่าพวกชาวถิ่นมะกัน ก็ต้องผ่านการต่อสู้ ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ทั้งเลือดเนื้อและน้ำตาจากสงครามระหว่างรัฐฝ่ายเหนือและรัฐฝ่ายใต้ช่วงพ.ศ.2404 – 2408 จนนำมาสู่การเลิกทาสในสหรัฐฯ จวบจนถึงทุกวันนี้
เหตุการณ์ “Civil War” จึงกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่มักถูกจับนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ หรือไม่ก็ถูกนำมาเป็นฉากหลัง หรือสถานการณ์แต่งเดิมให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง
ล่าสุด A24 ค่ายอินดี้ที่กำลังโด่งดัง หลังทำ Everything Everywhere All at Once หรือ “ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” กลายเป็นภาพยนตร์ที่กวาดโทรฟี่แทบทุกเวทีรางวัลภาพยนตร์เมื่อปี 2566
พอมาปีนี้ก็เล่น “ของหนัก” รับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน พ.ย.2567 ส่งภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง Civil War หรือชื่อไทยว่า “วิบัติสมรภูมิเมืองเดือด” กำกับโดย อเล็กซ์ การ์แลนด์ เข้าฉายช่วงสงกรานต์นี้
Civil War มาด้วยทุนสร้างถึง 50 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 1,775 ล้านบาท จัดว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของค่าย A24 เพราะขนาด “ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส” ยังใช้ทุนสร้างเพียง 25 ล้านดอลลาร์ฯ
เห็นเม็ดเงินทุ่มทุนขนาดนี้ก็ชวนให้คาดหวังว่าค่าย A24 จะจัดอะไรที่เด็ดดวงมาให้ดูบ้าง เมื่อพล็อตเรื่องจินตนการว่า “สหรัฐอเมริกาล่มสลายทางการปกครอง”
ซึ่งพล็อททำนองนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรอีกแล้ว เพราะภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องก็เคยทำเกี่ยวกับโลกแนว “ดิสโทเปีย”(Dystopia) ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย โกลาหล ไร้กฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ผู้คนอดอยากแร้นแค้น แสดงสัญชาตญาณความดิบเถื่อนออกมาจนกระทั่งกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเพื่อให้ตนเองอยู่รอดก็มี
แต่ Civil War ของผู้กำกับ การ์แลนด์ บอกเล่าถึงสงครามกลางเมืองเต็มไปด้วยรายละเอียดยุ่บยั่บ ว่าทำไมมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ดันตกอยู่ในสถานการณ์ของความเป็นดิสโทเปียไปทุกหย่อมหญ้า
หากผู้ชมคาดว่าจะเห็นเนื้องานที่เต็มไปด้วยยุทธวิธีทางการทหาร มีเจ้ากระทรวงกลาโหมแวดล้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพมานั่งบัญชาการเต็มเพนตากอน ต่อสายรายงานประธานาธิบดีฯรัว ๆ หรือจะมีหนึ่งในชุดอารักขาผู้นำสหรัฐฯ ออกมาเป็นฮีโร่ …
บอกได้เลยว่าจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ใน Civil War
แท้จริงแล้ว Civil War เล่นกับเรื่องของสายอาชีพ “นักข่าวและช่างภาพสงคราม” ที่ติดตามหาข่าวและต้องการภาพที่จัดว่า “เด็ดดวงสุด ๆ”จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกลางที่อำนาจอยู่ในมือของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับกลุ่มพันธมิตรของรัฐที่ตั้งตนเป็นกบฏ ที่เรียกว่า “เวสเทิร์น ฟรอนต์” หรือแนวรบด้านตะวันตก
ภาพยนตร์เดินเรื่องผ่าน ลี สมิธ นักข่าวสงครามผู้เจนสนาม รับบทโดย เคิร์สเตน ดันสต์ กับนักข่าวหนุ่มคู่หูคือ โจเอล สวมบทโดย วากเนอร์ มูรา
ตัดสินใจที่จะฝ่าวงล้อมสงครามที่ระอุไปทั่วประเทศ จากนิวยอร์กมุ่งหน้าสู่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เพื่อสัมภาษณ์ประธานาธิบดี ก่อนที่กองกำลังฝ่ายแนวรบด้านตะวันตกจะบุกถึงทำเนียบขาวและสังหารผู้นำประเทศ
https://www.youtube.com/watch?v=Q28KqkBT4RI
ทำให้ แซมมี (สตีเฟน แม็คคินลีย์ เฮนเดอร์สัน) นักข่าวอาวุโสขอร่วมทางมาด้วย ทว่าการเดินทางครั้งนี้ กลุ่มคนข่าวผู้เชี่ยวกรำงานข่าวสงครามจำต้องพา เจสซี (เคลี สแปนี) ช่างภาพสาวไฟแรงและเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานในการเป็นช่างภาพสงครามร่วมทางไปด้วย
แน่นอนว่าการมีตัวละครที่ออกแบบให้“ไม่มีความเป็นมืออาชีพ”ขาดประสบการณ์ มักจะประมาทเลินเล่อ ขาดความรอบคอบ ก็มักจะสร้างหายนะให้กับตัวเองและคนอื่น ซึ่งบทของ เจสซี เข้าข่ายทั้งหมด
บวกกับบรรยากาศเมืองหรือแม้แต่บ้านนอกชนบทที่ร้างผู้คน ถนนหนทางอุดมซากรถ ความเงียบเชียบในหลายพื้นที่ที่แม้จะสวยงามชวนหลงใหล
แต่กลับทำให้ผู้ชมหายใจไม่ทั่วท้อง หวาดระแวงไม่ไว้ใจกับอะไรที่คาดเดาไม่ได้
Civil War จึงให้ความรู้สึกเหมือนภาพยนตร์แนว “ซอมบี้” ที่ไม่รู้ว่าความตายจะวิ่งเข้าหาตัวละครเมื่อไหร่ หรือตัวละครใดจะสร้างปัญหาจากความโง่เขลา รู้เท่าไม่ถึงการณ์
แต่นั่นไม่สำคัญถึงการที่หนังให้มุมมองถึงจิตวิญญาณความเป็น “นักข่าว” ที่ทุ่มเทและมองถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
ไม่ว่าจะต้องละทิ้งความเศร้าโศก อาดูร กับชีวิตผู้คนที่ล้มหายตายจาก เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ช็อตสำคัญของประวัติศาสตร์” ก็นับว่าภาพยนตร์ Civil War ทำให้“นักข่าวสงคราม” ดูจะเป็นคนที่เหี้ยมหาญและไร้หัวใจยิ่งนัก
Blue Bird13/4/67