หนึ่งในสิ่งที่รับประกันได้ของภาพยนตร์จากค่าย “จีดีเอช” ก็คือคำว่า“มาตรฐานงาน”
ซึ่งก็มีอีกคำที่ได้ยินควบคู่ตลอดมาก็คือ ผลงานจากค่ายนี้คือ “Feel good” พอดูจบก็อิ่มเอมหอบความสุขความประทับใจกลับบ้าน จนกระทั่งในช่วงหลัง ๆ มานี้ ผู้ชมจะเห็นว่างานจากค่าย “จีดีเอช” จะแหวกแนวไปจากเดิมอยู่บ้าง
ซึ่ง “แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา” ภาพยนตร์ในตรา “จีดีเอช” งานกำกับของ “จิรัศยา วงษ์สุทิน” ก็ถือเป็นงานที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า แหวกขนบความ “Feel good” ออกมาอย่างกล้าหาญ
“แฟลตเกิร์ล” โชว์ให้เห็นการเล่าเรื่องแบบพลิกมุมกลับ หักความคิดจากการคาดคะเนของผู้ชม และซ่อนประเด็นที่ขึ้งเครียดหนักอึ้งทีเดียว
ขณะที่งานด้านภาพกลับไม่ได้มืดหม่นเพื่อให้สอดคล้องกับชะตากรรมของตัวละครที่โลดแล่นอยู่ใน “แฟลตตำรวจ” แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
เรื่องราวใน “แฟลตเกิร์ล” มุ่งเน้นไปที่ 3 ตัวละครหลักคือ “แอน” (ฟาติมา เดชะวลีกุล)
เด็กสาววัยสวยใส แต่ชีวิตสุดอาภัพ เหตุจากบิดาซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยเสียชีวิตไป ทำให้เธอและมารดารวมถึงน้อง ๆ อีกโขยง ต้องอยู่อย่างปากกัดตีนถีบ เอาชีวิตรอดไปวันต่อวัน
https://www.youtube.com/watch?v=Af8clp_t2D0
แม้ความอับจนจะเป็นเหมือนเพื่อนที่ไม่เคยห่างหาย “แอน” ก็ยังมีโชคดีอยู่บ้างตรงที่มี “น้องเจน” (กิรณา พิพิธยากร) เด็กสาวรุ่นน้องร่วมโรงเรียนและร่วมแฟลต เป็นเพื่อนรักสนิทสนม
“เจน” เป็นลูกสาวตำรวจที่ยศสูงกว่า ส่วนมารดาของเธอก็เป็นเจ้าแม่เงินกู้ของชาวแฟลตตำรวจแห่งนี้ โดยมารดาของ “แอน” ก็เป็นหนึ่งในลูกหนี้
ขณะที่ตัวละครที่ 3 คือ “อาตอง” (ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์) ตำรวจชั้นประทวนอีกคนก็มีชีวิตไม่ต่างจากใครอื่นในแฟลต การเงินชักหน้าไม่ถึงหลังทำให้ตำรวจหนุ่มต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ นั่นก็คือมารดาของ “เจน” เช่นกัน
ความที่ “แฟลตเกิร์ล” เป็นงานแนวดราม่าและมีประเด็นที่จะสื่อสารอย่างชัดเจน หนังจึงไม่ได้ทำให้ผู้ชมคิดว่า เมื่อมีเรื่องของ “ตำรวจ” เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะพบฉากแนวสืบสวนสอบสวน จับกุมผู้ร้ายให้ตื่นเต้นระทึกใจ
แต่ “แฟลตเกิร์ล” มุ่งถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของตัวละครหลักคือ “แอน”, “เจน” และ “อาตอง” เป็นสำคัญ
โดยตัวละครที่เป็นพ่อ แม่ เพื่อนบ้าน ก็เป็นเพียงเครื่องเคียงที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องราวและขับเน้นให้เห็นถึงภาพชีวิตและปัญหาที่รุมเร้าที่ตัวละครหลักทั้ง 3 คน
ผู้ชมจะสัมผัสได้ความสับสนในใจ ทั้งเรื่องของเพศวิถีเรื่องความสัมพันธ์ที่หมิ่นเหม่จะเป็นรักสามเส้า เรื่องของความเหลื่อมล้ำที่ไม่ใช่ความห่างของชั้นอาศัย
แต่เป็นความห่างของสถานภาพทางการเงิน ยศถาบรรดาศักดิ์ ความห่างชั้นของโอกาสที่คนเราได้รับไม่เท่ากัน ความยากจนข้นแค้นที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ดับความฝัน ความน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา
ขณะที่สภาพของแฟลตซึ่งเป็นฉากหลักของเรื่อง สะท้อนให้เห็นว่าแม้ที่นี่จะเป็น “พื้นที่” ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ผู้ที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน
ทว่าสภาพของแฟลตในเรื่องนี้ กลับน่าอเนจอนาถใจไม่ต่างจากชุมชนเสื่อมโทรม
เป็นภาพที่เสียดสีว่า “ตำรวจ” คือคนที่ทำให้ปวงประชาอุ่นใจ แต่ตำรวจชั้นผู้น้อยและ “หลังบ้าน” ของพวกเขาหลายครอบครัวกลับอยู่อย่างไร้คุณภาพชีวิต มีฉากเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนผ่านเลยไปก็ได้ แต่กลับชวนสะท้อนใจเหลือหลาย นั่นคือห้องหับที่ควรปิดล็อกแน่นหนา เป็นที่พักพิงที่ปลอดภัย ก็กลายเป็นว่าใคร ๆ ก็งัดเข้าออกได้ง่ายเหมือนปอกกล้วย
แน่นอนว่า เมื่อหนังวางเรื่องราวใน “พื้นที่ “ ของตำรวจ ก็ต้องแตะแง่มุมทางจริยธรรมในอาชีพนี้อยู่บ้าง ทว่าก็ไม่ได้นำเสนออย่างเข้มจัด แต่มาในแบบสะกิดสะเกาพอเป็นน้ำจิ้ม
โชว์ให้เห็นว่าหนังไม่ได้ละเลยปัญหาเหล่านี้ที่มีให้เห็นกันอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังย้ำให้เห็นว่า “คนดี” และ “คนเลว” มีปะปนกันทุกที่
วงการผู้พิทักษ์รักษากฎหมายไม่พ้นเช่น การใช้ความเป็นอภิสิทธิ์จากตำแหน่งหน้าที่ของตนเอง หรือแม้แต่คนในครอบครัวก็ถือเอาอภิสิทธิ์นี้ไปใช้โดยไม่ได้คิดพิจารณาว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่เหมาะควรจะทำ
ตัวละครอย่าง “อาตอง” จึงเปรียบเป็นตัวแทนแห่งอุดมคติ ที่คนในสังคมใฝ่หา
ชายหนุ่มแม้จะไม่ได้ร่ำรวยแต่ก็ไม่ถึงกับแร้นแค้น ด้วยวัยของผู้ใหญ่ที่ผ่านโลก เข้าใจชีวิต เขาไม่ใช้เครื่องแบบตำรวจเป็นเครื่องกอบโกยความสุขสบาย แต่กลับแบ่งปันเท่าที่จะทำได้ให้กับคนที่ทุกข์ร้อนกว่า และพร้อมที่จะเป็นน้ำที่ไหลทวนขึ้นสู่ที่สูง
โดยรวมแล้วแม้ “แฟลตเกิร์ล” จะให้ภาพของตัวละครที่ต้องพานพบกันสิ่งที่เรียกว่า “ก้าวพ้นวัย” แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่านอะไรต่าง ๆ นานาไปอย่างง่ายดาย พวกเขาล้วนเจอ “บททดสอบ” ของชีวิตที่แตกต่างกัน
หนังตอกย้ำให้เห็นว่าความท้อแท้และสิ้นหวังคือก้อนหินหนัก ๆ ที่ฉุดรั้งบางคนให้ศิโรราบต่อความพ่ายแพ้
นี่คืองานจัดเข้าหมวด “Dark” เรื่องหนึ่งของหนังไทย แต่เป็นงาน“น้ำดี” ที่ควรค่าต่อการชมเหลือเกิน!
Blue Bird 8/2/68