เวลาเกือบทศวรรษ ก็ถือว่านานพอดูสำหรับภาพยนตร์สักเรื่องที่จะมี“ภาคต่อ” ออกมาให้ชม
อย่างภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Inside Out 2 หรือ “มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” กำกับโดย เคลซีย์ มานน์ ภาคต่อของ Inside Out (มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง) ที่ออกฉายเมื่อปี 2558
ซึ่งผลงานชิ้นนี้จากค่ายดีสนีย์ และ พิกซาร์ กวาดรายได้ถล่มทลายทั่วโลก แถมยังคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมไปได้
การเดินทางมาถึงของ Inside Out 2 เปิดตัวอย่างสวยงามด้วยการทุบสถิติยอดขายตั๋วล่วงหน้าสูงสุดตลอดกาลของภาพยนตร์จากค่ายพิกซาร์ในประเทศไทย แซงหน้า Toy Story 4 ที่เคยทำสถิติสูงสุดไว้ในปี 2562
ส่วนหลังจากนี้ Inside Out 2 จะสร้างสถิติอะไรอีกหรือจะคว้ารางวัลจากเวทีใด ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่ถ้ามองถึงเนื้อหาในภาคล่าสุด ก็ต้องบอกว่า “คมคาย” ท้าทายความคิดของผู้ชมแน่นอน!
ความเดิมจากภาคแรกก็คือ ไรลีย์ แอนเดอร์สัน เด็กหญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งบรรดาตัวละคร “อารมณ์” ในหลายลักษณะที่อยู่ในหัวสมองของเด็กหญิง
ไม่ว่าจะเป็น “จอย” (Joy) ตัวแทนของอารมณ์สุขสันต์ลัลลา, “แซดเนส” (Sadness) ตัวแทนของอารมณ์เศร้าซึม, “เฟียร์” (Fear)ตัวแทนของความรู้สึกกลัว, “แองเกอร์” (Anger) ตัวแทนความรู้สึกฉุนเฉียวและ “ดิสกัสต์” (Disgust) ตัวแทนของอารมณ์ขยะแขยง ต่างทำงานเพื่อควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของ ไรลีย์
เปรียบแล้วก็เหมือนให้เห็นภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ นานา ด้วยฝีมือการกำกับควบคุมโดยเหล่าอารมณ์ที่มีหลากสีเหล่านี้นั่นเอง
ใน Inside Out 2 ยังคงไว้ซึ่งตัวละครกลุ่มเดิม เพิ่มเติมด้วยตัวละคร “อารมณ์ใหม่” ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
เนื่องจากการเติบโตของ ไรลีย์ ที่กลายมาเป็นวัยรุ่น ซึ่งต่างรู้กันดีว่าเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและมีความแปรปรวนทางอารมณ์ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของชีวิตมนุษย์เลยก็ว่าได้
https://www.youtube.com/watch?v=Gnsf6yuROyo
การเข้ามาของ “แก๊งอารมณ์” ใหม่ ๆ ได้แก่ “ว้าวุ่น” (Anxiety) ที่ความหวังดีที่อยากปกป้อง ไรลีย์ และผลักดันให้เธอมุ่งสู่ความสำเร็จและเป็นคนสมบูรณ์แบบ
, “อิจฉา” (Envy) ตัวแทนความรู้สึกอิจฉาและปรารถนาในสิ่งที่คนอื่นมี, “เคิ๊นเขินอ๊ายอาย” (Embarrassment) คือความรู้สึกเขินอายเงียบขรึม และ เฉยชิล (Ennui) คืออารมณ์เฉื่อยชา ไม่สนใจใคร ซึ่งแทนที่“อารมณ์” ทั้งหมด “ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่”จะทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น
ทว่า “เดอะ แก๊ง” ที่มี “ว้าวุ่น” เป็นหัวโจกกลับยึดอำนาจของศูนย์บัญชาการควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของ ไรลีย์ ไปทำเอง แถมยังเตะโด่ง“แก๊งอารมณ์เดิม” ไปกักขังไว้ในพื้นที่อันห่างไกล
เพื่อทวงหน้าที่การงานคืน ทั้ง จอย-แซดเนส-แองเกอร์-เฟียร์-แองกัสจึงพยายามหาทางคืนกลับมายังศูนย์บัญชาการทางอารมณ์ในสมองของ ไรลีย์ เพื่อแก้ปัญหาที่ “ว้าวุ่น” ก่อขึ้น เพราะความหวังดีของแก๊งที่เข้ามาใหม่ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเด็กสาว และเป็นช่วงเวลาที่เธอกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทางฮอร์โมน
ทั้งยังต้องเข้าสังคมใหม่ ๆ ที่ต้องอาศัยการปรับตัวอย่างยิ่งยวด ฉากที่อารมณ์ต่าง ๆ พยายามทำงานอย่างวุ่นวายของเจ้า “ว้าวุ่น แอนด์ เดอะ แก๊ง” กลายเป็นฉากที่ชวนลุ้นไม่น้อยทีเดียว
Inside Out 2 ไม่เพียงการสานต่อเรื่องราวของตัวละครจากภาคแรก แต่ยังให้เห็นถึงการเขียนบทที่พัฒนาไปอีกขั้น และเข้าใจในสภาวะของร่างกายและอารมณ์ที่มีอยู่ในแต่ละปัจเจกบุคคลแบบลุ่มลึก ไม่ใช่แค่ตัวละครอย่าง ไรลีย์ ที่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้ชีวิต การเติบโตทางจิตใจ ทางอารมณ์ แต่ยังให้ตัวละครที่เป็นตัวแทนของ “อารมณ์” ทั้งหลาย ได้ฉุกคิดถึงพฤติกรรมตนเอง รวมตั้งคำถามถึงลักษณะอารมณ์ที่เป็นของตน
สิ่งสำคัญของ Inside Out ทั้ง 2 ภาคก็คือ ใช้ความบันเทิงรูปแบบแอนิเมชัน ห่มคลุมเรื่องราวที่ว่าด้วยสรีวิทยาของมนุษย์อันสุดซับซ้อน และชำแหละลงไปถึงก้นบึ้งของอารมณ์และจิตในตัวตนของคนเรา ได้อย่างลงตัวกลมกล่อม ทั้งได้สร้างคาแร็คเตอร์อารมณ์ต่าง ๆ อย่างมีเอกลักษณ์กลายเป็นตัวละครที่หลายคนรักและโลกจดจำ
แม้คอหนังจะรอคอยมายาวนานก็จริง แต่ Inside Out 2 ก็พิสูจน์แล้วว่า“คุ้มค่าแก่การเฝ้ารอ”
Blue Bird15/6/67