จะเรียกว่าเป็นผู้ “คู่บุญ” กันก็คงไม่เกินเลยไปนัก
สำหรับ “ไรอัน คูกเลอร์” ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน และ “ไมเคิล บี.จอร์แดน” นักแสดงผิวสีชาวอเมริกัน ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Creed (2558) ภาพยนตร์เกี่ยวกับวงการมวยที่สร้างกันเป็นไตรภาค
“ไรอัน คูกเลอร์” รับหน้าที่กำกับเฉพาะภาคแรก
ต่อมาในปี 2561 “ไรอัน คูกเลอร์” และ “ไมเคิล บี.จอร์แดน” กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ของค่ายมาร์เวล เรื่อง Black Panther
โดย “ไมเคิล บี.จอร์แดน” รับบท “คิลมองเกอร์” ศัตรูตัวฉกาจของ “ทีชัลลา” กษัตริย์แห่งวาคานด้า ซึ่งเคมีการทำงานระหว่าง “ไรอัน คูกเลอร์” และ “ไมเคิล บี.จอร์แดน” เป็นที่โจษจันว่าเข้าขากันดีมาก
ผลงานที่ออกมาก็ประสบความสำเร็จ
ไม่แปลกที่ทั้งคู่จะโคจรมาทำงานร่วมกันอีกครั้งใน Sinners งานพีเรียดย้อนยุคแนวสยองขวัญ ว่าด้วยเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาวแอฟริกันอเมริกัน
ในยุคที่การแบ่งแยกสีผิวและชนชั้นยังเข้มข้น แถมยังเกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติอย่าง “แวมไพร์”
Sinners มีฉากหลังเป็นเมืองคลาร์กส์เดล รัฐมิสซิสซิปปี้ ราวปีค.ศ.1932 เดินเรื่องด้วยตัวละครหลักคือ “ไมเคิล บี.จอร์แดน” แสดงเป็นพี่น้องฝาแฝดชื่อ “สโม้ค” และ “สแต็ค”
https://www.youtube.com/watch?v=2mc68nSm_W0
ทั้งคู่เดินทางกลับมายังบ้านเกิดเพื่อหาเงินด้วยการลงทุนทำบาร์ในแบบที่เรียกว่า Juke joint เป็นสถานบันเทิงขนาดเล็กที่ให้เฉพาะ “คนดำ” มาสังสรรค์ร่ำสุรา เต้นรำ ฟังดนตรี “บลูส์” และเล่นพนันขันต่อ
ในครึ่งแรกหนังพาผู้ชมไปรู้จักตัวละครและพบเห็นความสัมพันธ์ของแต่ละคน แต่ละคู่ ผ่านการเตรียมงานของ “สโม้ค” และ “สแต็ค” ทั้งจัดซื้อข้าวของ จัดจ้างแรงงาน เพื่อจะเปิดบาร์ชื่อ Club Juke
มี “แซมมี่” (ไมล์ส คาตัน) ลูกพี่ลูกน้องวัย 19 ปีของพวกเขา เป็นผู้ช่วยในการเตรียมงานอย่างแข็งขัน
“แซมมี่” คือ “ตัวละครสำคัญ” ที่ให้คำตอบแก่ผู้ชมว่าทำไมถึงมี “แวมไพร์” เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ นั่นก็เพราะเด็กหนุ่มคนนี้มีพรสวรรค์ทางดนตรีอย่างเอกอุ
เสียงเพลงที่ออกมาจากกีตาร์ตัวโปรดของเขา เป็นเสียงสวรรค์ช่วยบรรเทาความเหนื่อยยากลำบากกายของหมู่คนดำชนชั้นแรงงาน ที่มีชีวิตแทบไม่ได้ลืมตาอ้าปาก
แต่ในทางกลับกัน บทเพลงของ “แซมมี่” กลับไม่ได้มอบความสุขและปลอบประโลมแค่มนุษย์
แต่ยังดึงดูดภูตผี วิญญาณ จากภพอดีต รวมถึงในอนาคต มาร่วมเฮฮาสุขสันต์ด้วยกันในห้วงเวลาแห่งเสียงเพลงบรรเลงขึ้น
![]()
แน่นอนว่าบทเพลงของ “แซมมี่” ได้ลอยไปถึงหูของแวมไพร์ที่กำลังหิวกระหาย นำโดย “เร็มมิค” (แจ็ค โอ’คอนเนลล์) พาพวกพ้องเดินตามหาต้นตอเสียงเพลงจนมาถึง Club Juke พวกเขาแจ้งความจำนงขอเข้าไปในบาร์
แต่ด้วยท่าทีไม่ชอบมาพากล และเป็น “คนขาว” ทำให้ “สโม้ค” ปฏิเสธ
ซึ่งการมาถึงของกลุ่มผีดูดเลือด ถือเป็นการเปิดฉากระเบิดความมันแบบข้ามไปอีกฟาก เมื่อเทียบกับเรื่องราวในครึ่งแรกของเรื่อง ที่ปูพื้นว่าใครเป็นใคร เชี่ยวชาญในเรื่องไหน
และตามท่าบังคับส่วนใหญ่ของหนังที่มีแวมไพร์ หนังจะไม่ทอดทิ้งให้ผู้ชมรู้สึกสิ้นหวัง หวั่นเกรงว่าตัวละครจะเอาตัวไม่รอด ดังนั้น เราจะเห็นตัวช่วยป้องกันหลากหลาย ทั้งเครื่องรางของขลัง ผู้รู้ที่จะเอาชนะผีร้ายได้
ซึ่งหนัง Sinners ก็ยังเมตตาปราณีให้มีตัวละคร “แอนนี่” (วันมี โมซากู) หมอผีฮูดู ผู้นำจิตวิญญาณ และผู้เยียวยาในสังคม มาเป็นตัวช่วยให้ทุกคนระวังตัวและบอกวิธีกำจัดแวมไพร์
Sinners เป็นงานที่กอบกำเอาทั้งข้อมูลความเชื่อด้านพิธีกรรมปัดเป่าผีร้าย กระเทียมต้องมา เหลาหอกไว้แทงหัวใจแวมไพร์ต้องมี น้ำมนต์สาดให้วิ่งหนีก็ทำ
ฉากตัณหาราคะก็มาให้สยิวกิ้วเป็นระยะ ทั้งหมดจัดเป็นท่าบังคับอมตะของหนังแนวแวมไพร์ที่นำมาใช้แบบไม่ขาดตกบกพร่อง
ถ้าให้นึกถึงงานทำนองนี้ก็ From Dusk till Dawn ของผู้กำกับ “โรเบิร์ต รอดริเกซ” ที่ออกฉายในปี 2539 เพียงแต่ Sinners เป็นบรรยากาศของวิถีชีวิตคนแอฟริกัน-อเมริกัน ทำงานในไร่ฝ้าย มีชีวิตไม่ต่างจากยุคที่ยังเป็นทาส
ขณะที่หนึ่งในมุมของความคิดแบบแวมไพร์ก็คือ กลุ่มผู้มีความเป็นอมตะเหล่านี้ แม้จะไม่ได้สัมผัสหรือมองเห็นแสงแดดชั่วนิรันดร
แต่ในโลกของพวกเขา ไม่มีการแบ่งแยกสีผิว แบ่งแยกชนชั้น จะจับกลุ่ม หรืออยู่กันอย่างอิสระก็ย่อมได้
ซึ่งความน่ากลัวของแวมไพร์ก็คือคมเขี้ยวที่พร้อมจะฝังและดูดเลือดมนุษย์ แต่หนังก็ไม่ลืมย้ำเตือนว่าคนเราจะรอดชีวิตได้ก็ต่อเมื่อไม่ยอมหลงกลปีศาจ ไม่เชื้อเชิญให้เข้าบ้าน และจงครองสติให้มั่นเมื่อภัยมา
หากถอดความบันเทิงในสไตล์ลึกลับสยองขวัญเหนือธรรมชาติ ก็ต้องบอกว่า Sinners เป็นงานที่พูดถึงปรัชญาการดำรงชีวิตที่แหลมคม
หนังใช้ดนตรีเป็นสะพานเชื่อมหลายอย่าง ทั้งสะท้อนกาลเวลา ทั้งให้เห็นในทางที่สร้างสรรค์ หรือในอีกทางนำไปสู่การทำลายอย่างย่อยยับ!
Blue Bird19/4/68