ชื่อของ เอ็ม.ไนท์ ชายามาลาน ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์มากฝีมือเชื้อสายอินเดีย ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดคอหนัง
แฟนๆ ต่างรู้แนวภาพยนตร์ของเขาว่าเป็น “ระทึกขวัญเหนือธรรมชาติ” ที่มักจะ “หักมุม” ทำอึ้งในตอนท้ายเรื่อง
งานล่าสุด The Watchers หรือ “เดอะ วอทเชอร์ส” ก็ยังอยู่ในรูปรอยผลงานที่ผ่าน ๆ มาของ เอ็ม.ไนท์ แต่หนนี้เจ้าตัววางมือการกำกับ โดยเปิดทางให้กับ อิชานา ไนท์ ชายามาลาน ลูกสาวของเขาได้แสดงฝีมือกำกับ
เรื่องราวของ “เดอะ วอทเชอร์ส” ดัดแปลงมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกันของ เอ เอ็ม ไชน์ นักเขียนงานวรรณกรรมแนวจินตนิยม ที่ใช้การผสานความสยองขวัญเข้ากับองค์ประกอบต่าง ๆ ของศิลปะจินตนิยม หรือที่เรียกว่า กอธิค ฟิคชัน (Gothic fiction)
และด้วยบ้านเกิดของของ เอ เอ็ม ไชน์ คือเมืองกัลเวย์ ประเทศไอร์แลนด์ พื้นเพการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่นั่นได้ทำให้เขามุ่งมั่นเขียนวรรณกรรมและเรื่องสยองขวัญทุกประเภท
ดังนั้นใน “เดอะ วอทเชอร์ส” จึงใช้ฉากหลังคือเมืองกัลเวย์และผืนป่าแห่งหนึ่งที่ห่างไกลออกมาจากตัวเมือง โดยตัวละครหลักคือ มิน่า ศิลปินสาวอายุ 28 ปี แสดงโดย ดาโกต้า แฟนนิ่ง ที่เพิ่งมีผลงาน The Equalizer 3 ที่ผ่านตากันไปเมื่อปีที่แล้ว ต้องเผชิญกับเรื่องราวความลี้ลับบางอย่างในป่าลึกลับทางตะวันตกของไอร์แลนด์
เปิดเรื่องด้วยการปูพื้นบุคลิกของ มิน่า ก่อนที่จะนำผู้ชมให้ติดตามการเดินทางของศิลปินสาวคนนี้ที่โชคชะตาพาเธอไปติดอยู่ในผืนป่าอันกว้างใหญ่ และก็พบว่าป่าแห่งนี้มีความไม่ชอบมาพากลบางอย่าง
https://www.youtube.com/watch?v=w8ZUpeylGec
ขณะที่เคว้งคว้างอยู่กลางป่าในช่วงให้พลบค่ำ จู่ ๆ มินา ก็ได้พบกับ แมดเดลีน (โอลเวน ฟูเอเร่) หญิงสูงวัยที่มาช่วยพาเธอไปพักพิงในกระท่อมลึกลับกลางป่า ซึ่งยังมีหญิงสาวและชายหนุ่มอีก 2 คนอาศัยอยู่ด้วย คือ เคียรา (จอร์จินา แคมป์เบลล์) และ แดเนียล (โอลิเวอร์ ฟินเนแกน)
แมดเดลีน ได้บอกกฎแห่งการอยู่ที่พักแห่งนี้ ซึ่งมีกระจกบานใหญ่อยู่ตรงผนังด้านหนึ่งว่า ในยามค่ำคืน ทุกคนในบ้านนี้จะถูกอสุรกายที่เรียกว่า “เดอะ วอทเชอร์ส” มาคอยเฝ้ามอง
ดังนั้น ใครก็ตามที่อยู่นอกที่พักที่สภาพเหมือนกรงที่ถูกปิดขังด้านในอย่างแน่นหนา ก็จะถูกพวก “เดอะ วอทเชอร์ส”ตามล่าและปลิดชีวิต ส่วนพวกที่อยู่ในก็จะต้องทำอะไรบางอย่างให้ “เดอะ วอทเชอร์ส” พอใจ เช่น เคียรา ที่จะแสดงการเต้นรำคลอเสียงเพลง
แน่นอนว่าภาพยนตร์ไม่ได้แช่ผู้ชมให้อยู่กับสถานการณ์อันสิ้นหวัง เฝ้าคอยว่าตัวละครทั้งหมดจะหลุดพ้นจากป่าปริศนาที่เต็มไปด้วย “เดอะ วอทเชอร์ส” เมื่อไหร่และอย่างไร?
จากการปูพื้นภูมิหลังและคาแร็คเตอร์ตัวละคร มิน่า ก็ทำให้ผู้ชมวางใจได้ว่าอีกสักพักหญิงสาวจะต้องหาหนทางหนีไปให้ได้ และพร้อม ๆ กันนั้นเรื่องราวก็ค่อย ๆ เฉลยว่า “เดอะ วอทเชอร์ส” ก็คือตำนานเทพประเภทหนึ่ง ที่ถูกกักขังอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลานาน จนสูญเสียความสามารถในการใช้เวทมนตร์และยังไร้ปีกที่เคยบินทะยานไปบนท้องฟ้า
จุดขายของ “เดอะ วอทเชอร์ส” อย่างไม่ต้องสงสัยก็คือการนำเรื่องราวของ “เทวตำนาน” มาใช้ ผนวกกับความโดดเด่นของสไตล์ทำภาพยนตร์ของ เอ็ม.ไนท์ นั่นคือการ “หักมุม” แล้วหักมุมเล่าที่ชวนอึ้ง
ถึงเรื่องนี้เจ้าตัวจะรับบทบาทโปรดิวเซอร์ โดยปล่อยให้ลูกสาวได้โชว์ของบ้างซึ่งลูกไม้ใต้ต้นอย่าง อิชานา ก็สืบทอดฝีมือของบิดามาเต็มเปี่ยม
แม้บทภาพยนตร์ “เดอะ วอทเชอร์ส” จะมีบางจุดที่ชวนค้างคา เช่น ไม่ได้อธิบายว่าสงครามระหว่างเทพและมนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างไร มนุษย์ขังพวกเทพแห่งป่าเหล่านี้ไว้ได้อย่างไร
แต่หนังเดินหน้าความสนุกได้ด้วยการใช้ความเงียบสงัดที่ทำให้ประหวั่นพรั่นพรึง เติมความหวาดระแวง มากกว่าจะอุดมฉากหลอกแบบ “ตุ้งแช่” ดึงเสียงตกอกตกใจของผู้ชม ไม่เสียยี่ห้อคนทำภาพยนตร์ตระกูล ชายามาลาน!
Blue Bird8/6/67