เกริ่นยาวหน่อยละกันนะคะสำหรับเค้าคนนี้ เพราะกว่าจะฉกตัวมาสัมภาษณ์ได้ คิดว่าจะต้องรอกันจน ขึ้นปีใหม่ 2018 ทั้งๆที่ไม่ใช่ดาราคิวทอง สมองเพชร อะไรที่ไหน แต่ถ้าเรื่องความยิ่งใหญ่ ในด้านชื่อเสียงความเก๋าสนามข่าวตำรวจ-อาชญากรรม ก็คงต้องยกให้เค้าติดอันดับต้นๆไป แบบปฏิเสธไม่ได้
ในวันนี้ ทางทีมงามต้องขอขอบพระคุณ “พี่แป๊ะ นายสมศักดิ์ ศรีกำเหนิด บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมือง อดีตประธานชมรมช่างภาพ – ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม คนสุดท้าย ก่อนจะเปลี่ยนแปลงมาเป็นสมาคมฯ
“พี่แป๊ะ” สมศักดิ์ หากย้อนไปประมาณ เกือบๆ 20 ปี ก่อน ถือเป็นตัวจี๊ด ,ตัวแรง , ตัวแกร่ง , ตัวตีหัว ฯลฯ เดินหน้าหาข่าว ฟาดฟันกับสำนักพิมพ์อื่นๆ ก่อนจะขยับตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้น-สูงขึ้น ได้รับความไว้วางใจให้จับปากกาเขียนคอลัมน์ดัง หน้าตำรวจอาชญากรรม จวบจนเป็นบรรณาธิการใหญ่มาจนทุกวันนี้
และหากย้อนไปซักประมาณ 12 – 16 ปีก่อน “พี่แป๊ะ” ถือเป็นครู เป็นปรมาจารย์ ถ่ายทอดวิชาข่าว- วิชาชีวิต ให้กับนักข่าว #ยุคมือถือ ไม่มีใครไม่รู้จัก #แป๊ะบ้านเมือง คือถ้าคุณปฏิเสธเสียงแข็ง บอกปัดไม่เคยได้ยินชื่อเสียง ไม่รู้จักจริง-จริ๊งงงแสดงว่าคุณน่าจะ “ไม่มีความซึมซับในความเป็นสื่ออาชญากรรมอย่างแท้จริง” เพราะหากคุณรักงานข่าว ควรต้องรักที่จะใส่ใจ บุคคลในตำนาน ของการทำข่าวนั้นๆด้วย..
และสำหรับวันนี้ ทางผู้เขียนจะพาไปย้อนวันวาน เล่าอดีต สื่อรุ่นใหม่ – รุ่นกลาง – รุ่นเก่า ถ้าใครยังไม่รู้จักเค้า วันนี้มาทำความรู้จักไปพร้อมๆกัน ที่นี่ที่แรก #ที่เดียวค่ะ
–ช่วยเล่าประวัติความเป็นมาของพี่แป๊ะ คร่าวๆให้เด็กๆรุ่นหลังได้ทำความรู้จักกันหน่อยค่ะ
ชื่อทางการที่พ่อแม่ตั้งให้ นายสมศักดิ์ ศรีกำเหนิด แต่ส่วนใหญ่เพื่อนๆ จะเรียกว่า “แป๊ะ” เป็นเด็กบ้านนอกแต่ครอบครัวต้องย้ายเข้ากรุงเพราะพ่อรับราชการที่ โรงเรียนช่างหนัง ถนนราชดำเนินกลาง แถวสนามหลวง ชีวิตผูกพันกับหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่เด็กเพราะวิ่งขายหนังสือพิมพ์อยู่สี่แยกไฟแดงทางขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เรียนจบในสายศิลปะ ไม่ได้เกี่ยวกับวารสารอะไรหรอกสมัยนั้นยังไม่มีคณะนิเทศสาตร์ด้วยซ้ำ ที่เข้าวงการสื่อได้ก็เพราะ (สุรัฐ จินากุล) พ่อเพื่อนที่ทำงานข่าวสายอาชญากรรมอยู่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำกองปราบปราม บ้านใกล้กันคงเห็นหน่วยก้าน (ฮ่าๆๆ) ชักชวนก็เลยไปลองดูเดินตามก้นฝึกวิชาอยู่กับแกเกือบปี พอดีที่หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ขาดคน พี่เป้า (วีระยุทร วรานนท์) หัวหน้าข่าวอาชญากรรมตอนนั้นชวนให้มาเป็นนักข่าวตระเวน ชีวิต “นักข่าว” เต็มตัวเริ่มต้นตั้งแต่วันนั้นประมาณ ปี 2530
พอได้เข้ามาทำงานที่หนังสือพิมพ์ดาวสยาม นั่งรถตระเวนข่าววันแรกงง!ไปหมด ได้รู้จักกับช่างภาพประจำตัว ฮ่าๆๆ สมัยก่อนนักข่าวทำข่าวอย่างเดียว มีช่างภาพแยกหน้าที่ออกไป ไม่เหมือนสมัยนี้ จับฉ่ายกันไปหมด ช่างภาพคนนี้ก็คือ พนอ หลิมไทยงาม หรือเจ้าของฉายา “น.5” ใครอยากรู้ความเป็นมาของฉายานี้เจอหน้าก็ถามกันเอาเองนะ ทำงานที่หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ประมาณ 1 ปี ทำงานมันมาก เพราะฉบับเล็กแต่สามารถแข่งกับฉบับใหญ่ๆ ได้ ประกอบกับเราเด็กใหม่ต้องแสดงฝีมือให้รุ่นพี่ๆ เห็น และก็สำเร็จได้งานเด็ดส่งข่าวเข้าประกวดที่ “ชมรมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรม” จัดขึ้นได้รางวัล “นักข่าวยอดเยี่ยม” ในปีนั้น
จากนั้นก็ได้ย้ายสังกัดมาอยู่ที่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 เริ่มที่ตำแหน่งนักข่าวสายอาชญากรรม ทำงานคู่กับ น.5 จนได้ฉายา “แฝดนรก” แล้วขยับเป็น หัวหน้าข่าวอาชญากรรม และหัวหน้าข่าวหน้า 1 จนกระทั่ง หนังสือพิมพ์บ้านเมืองปิดตัวลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่ก็ยังไม่ได้จบเส้นทางของการเป็นสื่อมวลชน เพราะทุกวันนี้ยังนั่งดูแลงานข่าวอาชญากรรมกับข่าวภูมิภาคให้กับ สำนักข่าวบ้านเมืองออนไลน์ อยู่ นับจากวันแรกมาจนวันนี้ก็เกือบ 30 ปี
-ทราบว่าเป็นสื่อมวลชนรุ่นแรกๆที่ดำเนินชีวิตอยู่ในพระรามฯ (บช.น. เก่า) ซึ่งเป็นศูนย์รวมนักข่าวอาชญากรรมทั่วกรุงเทพฯ อยู่มากี่ปีแล้ว มองความเปลี่ยนแปลงยุคนู้น – ยุคกลาง – ยุคนี้ แตกต่างกันยังไง
นักข่าวสายตระเวนในยุคนั้น ส่วนใหญ่จะเข้ามาที่พระราม เพราะเป็นที่ตั้งของชมรมฯ เพื่อผักผ่อนยามที่ไม่มีงานนั่งกินกาแฟ นั่งคุยกันรองานทำให้นักข่าวยุคนั้นสนิทสนมกันมากไม่แยกแยะว่าฉบับไหนเล็กหรือใหญ่เราพี่น้องกันหมด ยุคนี้ไม่ค่อยได้เข้าไปเลยไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องการทำงานนักข่าวสมัยก่อนจะแข่งขันกันตลอดในเรื่องประเด็นแข่งกันขุดคุ้ยให้ได้ประเด็นที่ดีกว่าแย่งกันถามแย่งกันสัมภาษณ์ เดี๋ยวนี้เท่าที่เห็นคนถามก็ถามอยู่คนเดียวที่รุมกันอีกเป็นสิบเป็นร้อยตัวปรกอบ อีกอย่างนักข่าวยุคเก่ามักหาข่าวเดี่ยวมาตีหัวกันตลอด ใครหาข่าวเดี่ยวได้ถือว่าเจ๋ง!
พอจบงานแล้วก็มานั่งคุยกันหัวเราะกันสนุกสนานเฮฮากัน ไม่โกรธเคืองเอาเป็นเอาตายกัน แต่สมัยนี้เท่าที่ฟังจากน้องๆ ในสนามมา ไม่แฟร์ ไม่โชว์ ไม่แข่ง แถม! มีเคืองหากใครได้ข่าวเดี่ยวมาแล้วไม่แจกพวก เท่าที่ดูเดี๋ยวนี้ข่าวเดี่ยวน้อยมากนะ บางฉบับมีโบนัสพิเศษให้ยังไม่มีเลย ฮ่าๆๆ
-ในฐานะที่เราคร่ำหวอดอยู่ตรงจุดนี้มานาน จนน้องๆ แทบทุกสำนัก เคารพรัก นับถือ และยกให้เราเป็นรุ่นใหญ่ทึ่เจ๋งจริง เรารู้สึกอย่างไรกับคำยกย่องตรงนี้
โดยส่วนตัวไม่เคยคิดเลยว่าตัวเอง เจ๋ง หรือ เก๋า อะไร เพียงแต่ทุกครั้งที่เจองานจะทำอย่างเต็มที่ไม่คิดว่านี่เรื่องเล็กนั่นเรื่องใหญ่ ทุกเรื่องสำคัญเท่ากัน แต่ถ้ามีคำยกย่องอยู่จริงก็ต้องบอกว่ารู้สึกขอบคุณ พี่ๆ น้องๆ มาก และขอยกเครดิตให้นักข่าวรุ่นพี่หลายๆ คน ที่คอยแนะนำ สอน สนับสนุน แม้รุ่นพี่บางคนไม่ได้สอนด้วยคำพูดแต่เราก็เอาแบบอย่างปฏิบัติของเขามา ถึงได้เดินในวงการมาถึงทุกวันนี้ และก็จะพยายามถ่ายทอดต่อไปเท่าที่ทำได้
-เป็นประธานชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพ อาชญากรรม คนสุดท้าย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “สมาคม”
ครับก็รับตำแหน่ง “ประธานชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม” คนสุดท้าย ยุคประธานคนก่อนหน้า “วรพจน์ สีดา” ก็ริเริ่มไว้แล้ว เรามาสานต่อก็ยังไม่สำเร็จ จนหมดวาระ คนต่อจากเราเขาทำได้จึงไปเป็นสมาคมฯมาถึงทุกวันนี้
-เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมาก ในขณะที่ตัวเราก็อายุมากขึ้นทุกวัน เราเข้าถึงความทันสมัยเหล่านี้ได้ดีมั้ยคะ?
ก็ไม่มีปัญหานะ เพราะยิ่งแก่ยิ่งชอบเรียนรู้ ชดเชยที่ตอนเด็กๆ ไม่ชอบเรียนหนังสือ ฮ่าๆๆ และก็คิดว่าการเรียนรู้หรือรับรู้ในสิ่งใหม่ไม่มีใครแก่เกินไปหรอก…
-พี่แป๊ะนำเอาความเก่าใหม่ในการทำข่าว อดีต-ปัจจุบันมาผสมผสานกันมั้ย?
ทุกวันนี้ก็ใช้อยู่นะ ..การทำงานแบบเก่ายังใช้การได้และดีด้วย เพราะนักข่าวรุ่นเก่าจะละเอียดถูกต้องรอบด้าน ส่วนรูปแบบใหม่เน้นที่รวดเร็วเป็นสำคัญ ฉะนั้นถ้าทั้งสองอย่างผสมผสานกันผลที่ได้ออกมาคือ ความสมบูรณ์ของข่าว
-เด็กๆรุ่นใหม่ๆเห็นเราเจอเรา เค้ารู้มั้ยคะว่าเราเนี๊ยอยู่ในแวดวงนี้มานานแล้ว เค้ารู้จักเรามั้ยคะ
ก็มีรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง แหม.. ดาราบางคนดังจะตายไปเรายังจำไม่ได้เลยถ้าไปเจอตามที่สาธารณะ แต่ก็รู้สึกดีใจและขอขอบคุณน้องๆ บางคนที่เจอเราแล้วเข้ามาทักทายทั้งที่บางครั้งยอมรับว่าเราเองยังจำเขาไม่ได้เลยก็คุยเนียนไป ฮ่าๆๆ
-และสำหรับน้องๆที่รู้จักเราดี พี่แป๊ะรู้สึกอย่างไรบ้างที่น้องๆเหล่านั้น เคารพรักเรา แม้จะห่างหายกันไปนานก็ไม่เคยลืมเรา ?//มองการเจริญเติบโตในวงการข่าวของเด็กเหล่านี้แล้วรู้สึกยังไง?
รู้สึกปลื้ม ขอบคุณ และดีใจ ขอบอกว่าทุกครั้งที่ได้ออกไปเจอพี่น้องในสนามเหมือนได้ออกไปสัมผัสบรรยากาศเก่าๆ ถึงแม้จะไม่ค่อยเหมือนเดิมเท่าไหร่ รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เมื่อก่อนเราให้เกียรติแหล่งข่าว ไม่ค่อยมีการเอาไมล์หรือโทรศัพท์จ่อข้ามหัวทิ่มแทบจะเข้าไปในปากรุมกันจนแทบจะไม่เห็นตัวแบบทุกวันนี้
-ผ่าน ผบ.ตร.-ผบช.น มาหลายยุคสมัยแล้ว สำหรับพี่ ใครคือคนทำงาน ใครคือภาพประทับใจ ในความรู้สึกเรา?
เท่าที่อยู่ในวงการมาเป็นคอลัมน์นิส ด้วย ตอบตรงๆ นะ ไม่มี ผบ.ตร.หรือ ผบช.น. คนไหนอยู่ในดวงใจเลย อ้อ!!!..มีแต่ไม่รู้ชื่ออะไร ยศอะไร เขายืนอุ้มประชาชนและมีเด็กเกาะขาอยู่ ที่หน้า สตช. เพราะเขาไม่เคยหวังลาภยศหรือผลประโยชน์ใดๆ เลย
-ตำรวจที่เราชื่นชมผลงานเค้ามาจวบจนทุกวันนี้
ตำรวจที่คลี่คลายคดีใหญ่ๆ สำคัญๆ ก็ชื่นชอบหมดแหละ คือเราจะชอบค้นหาตำรวจที่เป็นเฟืองทำงานแล้วก็คอยติดตามผลงาน ส่วนพวกที่ชอบ “แต่งหน้าปะแป้งแล้วแถลงข่าวนะ” ก็สนใจนะ แต่มองในอีกมุม
-ฝากอะไรถึงน้องๆสายตำรวจ-อาชญากรรมที่รู้จักเราหน่อยค่ะ
ก็ขอให้ทำงานการด้วยความระมัดระวัง เพราะโลกมันเปลี่ยนไปมาก การทำงานอาจจะง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อนเหมือนแต่ก่อน แต่ความผิดพลาดมันก็เกิดขึ้นง่ายตามมาด้วย ต้องไม่ลืมว่าข่าวอาชญากรรมทุกข่าว มันมีมิติทั้งในเชิงบวกและลบ ฉะนั้น เราต้องมี คุณธรรม จริยธรรม ในการนำเสนอ มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก