เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 ธ.ค.67 ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รรท.ผบช.สอท., พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไทยประเสริฐ รรท.ผบก.สอท.3
พร้อมด้วย นายจัสติน แอลเวส ผู้จัดการด้านการตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, นายเบน ควินน์ เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านการอพยพที่ผิดกฎหมาย สถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประเทศไทยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนิวซีแลนด์ และนายสนธยา กาลาศรี ผู้อำนวยการกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางานร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีจับกุมผู้กระทำผิดหลอกทำวีซ่า
พล.ต.ท.ไตรรงค์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานทูตนิวซีแลนด์ตรวจพบความผิดปกติของแรงงานไทยที่เดินทางเข้าไปทำงาน ที่ประเทศนิวซีแลนด์ และจากเอกสารการขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศนิวซีแลนด์ พบว่า มีการยื่นเอกสารเพื่อขอทำวีซ่าปลอม จึงประสานมายังตำรวจไซเบอร์เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.3 จึงได้สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และศาลได้อนุมัติหมายจับ 2 ราย
กระทั่งวันที่ 6 ธ.ค. เวลา 07.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.3 ได้นำกำลังบุกค้นบ้านย่านประเสริฐมนูกิจ แหล่งกบดานหลบหนีของคนร้าย ผู้ต้องหาเคยกระทำความผิดในการหลอกลวงแรงงานมาแล้วหลายครั้ง มีความเชี่ยวชาญ และปิดตัวเองจากโลกออนไลน์ แม้กระทั่งบัตรประชาชนยังไม่เคยทำมาร่วมสิบปี
จนกระทั่งจับผู้ต้องหาได้ 2 ราย คือ น.ส.จันทิมา (สงวนนามสกุล) และนายอนุวัตน์ (สงวนนามสกุล) ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันปลอมเอกสาร , ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่า ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง”
จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า คนร้ายเรียนรู้จากประสบการณ์การไปทำงานที่เกาหลี พบช่องทางว่ามีคนไทยสนใจไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คนร้ายจึงเข้าไปศึกษาในกลุ่มหางานต่างประเทศและเริ่มหลอกลวง
เริ่มจากผู้ที่ต้องการหางานที่ประเทศเกาหลี ต่อมาเห็นว่าตลาดที่เกาหลีขาดความน่าสนใจ จึงพุ่งเป้ามาที่ประเทศนิวซีแลนด์ที่มีค่าจ้างแรงงานสูงกว่าโดยการศึกษาหาข้อมูลจากทางโซเชียลจนสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับงาน ขั้นตอนต่างๆ ในการยื่นขอวีซ่าไปทำงาน
คนร้ายได้ซื้อเพจเฟซบุ๊กที่มีคนติดตามจำนวนมากมาจากบุคคลอื่น และโพสต์ชักชวนไปทำงานที่นิวซีแลนด์ และตั้งราคาให้น้อยกว่าเพจอื่นเพื่อดึงดูดความสนใจ เมื่อเหยื่อสนใจ คนร้ายจะทักเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นและส่งต่อผู้เสียหายโดยอ้างว่าให้คุยกับเอเจนซี่ที่นำคนงานเข้าประเทศนิวซีแลนด์โดยตรง ที่ใช้ไลน์ชื่อ “วุฒิ”
เมื่อผู้เสียหายสนใจ คนร้ายจึงได้ให้ผู้เสียหายส่งข้อมูลส่วนตัวไป เพื่อใช้ประกอบการสมัครงาน และแจ้งว่าจะส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้กับนายจ้าง โดยแจ้งรายละเอียดในการทำงานว่า ในการดำเนินการประสานงานกับนายจ้างและทำวีซ่าทำงาน มีค่าใช้จ่ายให้บริษัทเอเจนซี่ 70,000 บาท
แบ่งเป็นค่าดำเนินการเรื่องวีซ่าทำงานจำนวน 50,000 บาท ค่าครองชีพ (ค่าเสื้อผ้า , ค่าของใช้ส่วนตัว) จำนวน 20,000 บาท สัญญาทำงานกับนายจ้างปีต่อปี ส่วนรายละเอียดค่าตอบแทนต้องไปตกลงกับนายจ้างที่ประเทศนิวซีแลนด์
หลังจากนั้นจะพูดคุย ทักทายกับเหยื่อเรื่อย ๆ และเปิดวีดีโอคอลให้เหยื่อเห็นหน้าเพื่อให้เหยื่อเชื่อโดยสนิทใจ และคนร้ายจะแจ้งว่า สัญญาจ้างได้ถูกส่งมาจากประเทศนิวซีแลนด์แล้ว และคนร้ายจะทำการถ่ายรูปสัญญาจ้างที่ตนเองทำขึ้นเองส่งไลน์ให้กับเหยื่อดู และจะแจ้งว่าห้ามส่งต่อข้อมูล หากข้อมูลมีการรั่วไหลจะดำเนินคดี
เมื่อเหยื่อหลงเชื่อคนร้ายได้ให้โอนเงินให้แบ่งเป็นรอบๆ เมื่อได้เงินและเหยื่อเริ่มสงสัยคนร้ายจะทำการปิดกั้นการติดต่อ
สำหรับคดีนี้มีผู้เสียหายเพียง 2 ราย แต่จากการเข้าตรวจค้นและทำการสืบสวน พบหลักฐานที่คาดว่าจะมีผู้เสียหายอีกกว่า 10 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำประสานไปยังผู้เสียหายที่เหลือ และผู้เสียหายอีกหลายรายที่ยังไม่ได้แจ้งความหรือแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้วก็สามารถประสานมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้
มีรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากการแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองราย ไปฝากขังที่ศาลอาญารัชดา ระหว่างที่ถูกคุมตัวนั้นน.ส.จันทิมา หนึ่งในผู้ต้องหา ได้ร่ำไห้พร้อมเอาหน้าซบเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ตอบคำถามสื่อในทุกประเด็น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน.