เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 3 ม.ค.67 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รรท.เลขาธิการ ป.ป.ส. พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส.พล.ต.สมพงษ์ ใจจา รอง ผอ.ศปป.2 กอ.รมน. น.พ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รรท.รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลงานการปราบปรามยาเสพติด ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 66 ถึง 31 ธ.ค. 66 ตามปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดระยะ 1 ปี Quick Win และการแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกมาตรการตามนโยบายของรัฐบาล
ผลการดำเนินงานด้านการสืบสวนปราบปรามของตำรวจปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในช่วง 3 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนต.ค.ถึงธ.ค.2566 มีการสกัดกั้นปริมาณยาเสพติดไปแล้ว กว่า 200 ล้านเม็ด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 80 ไอซ์ 3 ตัน มีการจับกุมผู้ค้ารายสำคัญไปแล้วกว่า 268 คดีเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ10 จับกุมผู้ค้ารายย่อย 23,000 คดี เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 30
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขง ความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ได้แก่ ประเทศ เมียนมา ไทย เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา มีทั้งหมด 275 คดี ผู้ต้องหาทั้งหมด 519 คน ของกลางยาเสพติด แบ่งเป็น ยาบ้า 202 ล้านเม็ด ไอซ์ 3,816 กิโลกรัม กัญชา 20 กิโลกรัม เฮโรอีน 295 กิโลกรัม คีตามีน 2,578 กิโลกรัม เอ็กซ์ตาซี 108,538 เม็ด กาแฟอีน 800 กิโลกรัม สารตั้งต้น สารเคมี 51,981 กิโลกรัม.
แผนปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในชายแดนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครอบคลุมในพื้นที่จ.เชียงใหม่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงดาว ไชยปราการ ฝาง แม่อาย เวียงแห จ.เชียงราย 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงของ เชียงแสน แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เวียงแก่น จ.นครพนม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าอุเทน ธาตุพนม บ้านแพง เมืองนครพนม
ซึ่งมีการสนธิกำลังจากส่วนที่เกี่ยวข้องในการลาดตระเวน รวมถึงร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย กว่า1,000 หมู่บ้าน ในการช่วยกันเฝ้าตรวจตามแนวชายแดน การตั้งด่านจุดตรวจต่างๆ การปิดล้อมตรวจค้นสืบสวนขยายผล
พล.ต.สมพงษ์ กล่าวว่า กอ.รมน.ได้จัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Taskforce 24 และชายแดนภาคเหนือ หรือ Taskforce 35 ที่มีการสกัดกั้นยาเสพติดเข้มข้น ขยายผลลาดตระเวน ตั้งด่านและจุดตรวจยาเสพติด สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 372 คน ยึดยาบ้ากว่า 13 ล้านเม็ด และเฮโรอีน 0.8 กิโลกรัม มีการติดกล้องซูมเฝ้าระวังแม่น้ำโขง เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบลำเลียงยาเสพติด
น.พ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในภาคการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้ว 19,638 ราย จากเป้าหมาย 91,317 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.51 พัฒนาพฤตินิสัยโดยกระบวนการยุติธรรมได้ 22,129 ราย จาก 66,300 ราย คิดเป็นร้อยละ 33.38
นอกจากนี้เป็นการบำบัดผ่านการมีส่วนร่วมของชุมนุมได้ 423 ราย ส่วนการรักษาผู้มีอาการจิตเวชจากยาเสพติด ตามนโยบาย Quick Win ระยะที่ 1 ในพื้นที่เสี่ยง 85 อำเภอใน 30 จังหวัด มีเป้าหมายทั้งสิ้น 4,414 คน เข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว 1,052 คน คิดเป็นร้อยละ 24 นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ 354 คน นำเข้าสู่การรักษาแล้ว 202 คน คิดเป็นร้อยละ 57
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งขยายหอดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจะแบ่งดูแลตามความร้ายแรงของอาการ ขึ้นผู้ป่วยสีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีเขียว มีโรงพยาบาลจิตเวช 20 แห่ง โรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาค 7 แห่ง และโรงพยาบาลระดับจังหวัด 127 แห่ง ดูแลผู้ป่วยสีแดง มีโรงพยาบาลระดับอำเภอ 153 แห่ง ดูแลผู้ป่วยสีส้ม และสาธารณสุขชุมชน 776 แห่ง ดูแลผู้ป่วยสีเหลือง
ด้านพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายไว้ว่า ต้องปลุกประชาชนร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด จุดแตกหักของการแก้ไขปัญหายาเสพติดอยู่ที่ชุมชน ถ้าเราสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เราจะสามารถชนะยาเสพติดได้ แต่ประเด็นสำคัญเราจะทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็ง ดังนั้นเบื้องต้นเราต้องให้ชุมชนศรัทธาและเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมาย ในชุมชนเขารู้ว่าใครค้าเสพติด
ดังนั้นผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อย ถ้าสามารถจับกุมผู้ค้ารายย่อยได้มากเท่าไหร่ ชุมชนก็จะศรัทธา ชุมชนเขาไม่ได้ปลื้มกับเราที่สามารถจับยาบ้าครั้งละ 10 ล้านเม็ด แล้วเอามาแถลงข่าว เพราะเขาไม่สามารถสัมผัสได้ แต่เมื่อไหร่ที่ผู้ค้ารายย่อยในชุมชนของเขาถูกจับกุมเขาจะศรัทธาผู้บังคับใช้กฎหมาย เมื่อไหร่ที่เขาศรัทธาและเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ เขาก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับยาเสพติด ต้องขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้ค้ารายย่อยได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า ตนได้เดินทางไปพูดคุยกับ รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบและหัวหน้ากรมใหญ่ตำรวจ สปป.ลาว เพื่อหารือความร่วมมือในการดำเนินคดีกับ 48 ผู้ต้องหารายสำคัญทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่หลบหนี โดยหนึ่งในนั้นคือนายอ่อง กิม วาห์ ผู้ต้องหายาเสพติดสัญชาติมาเลเซีย รายสำคัญอันดับ 1 ของ ป.ป.ส. ค่าหัว 1 ล้านบาท ซึ่งทาง สปป.ลาว ตกลงจะส่งตัวนายอ่องให้ทางการไทยดำเนินคดีเร็วๆ นี้
กรณีดังกล่าวจะสามารถลดการค้ายาเสพติดอย่างไอซ์ เฮโรอีน โคเคนได้ถึงร้อยละ 70 โดยเครือข่ายของนายอ่อง เป็นเครือข่ายใหญ่มาก เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมยาบ้าได้กว่า 4.4 ตัน และนายอ่องมีบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียถึง 8 บริษัท มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท