ผบ.ตร.สั่งบูรณาการทุกภาคส่วน เร่งช่วยคนไทย 266 ราย จากเหตุความขัดแย้งในรัฐฉาน กลับไทยคืนนี้ พร้อมนำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหยื่อตามกฎหมายค้ามนุษย์ เน้นย้ำความปลอดภัย ดูแลช่วยเหลือตามหลักมนุษยชน
วันที่ 19 พ.ย.66 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ชี้แจงความคืบหน้าเพิ่มเติมการช่วยเหลือคนไทยจากสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ว่า
“ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือคนไทย ซึ่งทาง ตร.ได้ส่ง พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัฒฑ์ สัจจพันธุ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ร่วมกับ กรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ นำโดย นายรุจ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปนครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขอความร่วมมือทางการจีนในการรับคนไทยผ่านแดน ขึ้นเครื่องบินเหมาลำกลับประเทศไทย
ผลการเจรจาเป็นไปด้วยดี ทางการจีนอนุญาตให้คนไทยที่ตกค้างในเมืองเล้าก์ก่าย เดินทางข้ามชายแดนไปยังสนามบินเมืองคุนหมิงได้ เพื่อจะขึ้นเครื่องบินที่ทางการไทย เตรียมไปรับกลับจำนวน 2 ลำ มาลงที่สนามบินดอนเมือง ทั้ง 2 ลำจะลงที่สนามบินดอนเมืองเวลา 22.25 น. และ 00.40 น. กลางดึกคืนนี้ จะมีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยร่วมเดินทางมาด้วย มีผู้โดยสาร 273 คน เป็นคนไทย 266 คน ฟิลิปปินส์ 6 คน และสิงคโปร์ 1 คน
ส่วนคนไทยอีก 41 ราย ที่ประสานขอให้ช่วยเหลือก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงานเดินทางไปรับตัว ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผ่านเข้ามาทางด่านแม่สายเชียงรายตั้งแต่เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.66) เวลา 12.00 น. ขณะนี้อยู่ที่ศูนย์คดกรอง
ทั้งนี้ เมื่อ 266 คนไทย เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย จะถูกนำไปยังศูนย์บูรณาการคัดกรอง เขตหนองจอก กทม. โดยจะมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และ กทม. ทำการคัดแยกเหยื่อตามกระบวนการการค้ามนุษย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) และ บช.น . เข้าร่วม
หากตรวจพบว่าเป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ จะทำการช่วยเหลือ คัดแยกเหยื่อ และดำเนินการสืบสวนขยายผลดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ มีการตรวจสอบโดยละเอียดตามกระบวนการตามกฎหมายทั้งหมายจับ ความผิดอื่นๆ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอยืนยันว่า มีความพร้อมในการประสานงาน บูรณาการหน่วยเกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือคนไทยจากสถานการณ์ความรุนแรงของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคาดว่าคืนนี้จะทำการช่วยเหลือแล้วเสร็จ จากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหยื่อตามขั้นตอนการค้ามนุษย์ เพื่อจะได้ดำเนินการเยียวยา หรือปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยไปเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย การดูแลช่วยเหลือตามหลักมนุษยชน”