คณะพนักงานสอบสวน 4 ฝ่าย คดีอุ้ม”ลุงเปี๊ยก“ บังคับข่มขู่ให้รับฆ่า “ป้ากบ” ประชุมได้ข้อสรุปมีความเห็นสั่งฟ้องดำเนินคดี 8 ตร.อรัญฯตั้งแต่ผกก.-ส.ต.อ.ตาม ม.157-พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เตรียมส่งอัยการคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 2 สิ้นเดือนนี้ เผยความเป็นอยู่ลุงเปี๊ยก อยู่ระหว่างการดูแลของสถาบันธัญญารักษ์ ไม่ได้มีภาวะเป็นผู้ติดเหล้าแล้ว น้ำหนักตัวอ้วนท้วนขึ้น ซ้ำยังจดจำทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 11 ก.ค.67 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดย นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม ร่วมกับคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน นำโดยนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบ สวน สำนักงานอัยการสูงสุด และตัวแทนอีก 2 หน่วยงานคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครอง
ร่วมประชุมพิจารณาสรุปความเห็นทางคดีพิเศษที่ 9/2567หรือคดีอุ้มนายปัญญา หรือลุงเปี๊ยก คงแสนคำ ที่ถูกข่มขู่บังคับให้รับสารภาพคดีการตายของนางบัวผัน ตันสุ หรือ ป้ากบ อายุ 47 ปี เหตุเกิดต้นปี67 พฤติการณ์เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายพ.ศ.2565 (พ.ร.บ.อุ้มหายฯ)
นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ จะสรุปสำนวนนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องพนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ก่อนที่ชั้นอัยการจะตรวจสอบสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2
ส่วนผลประชุมวันนี้ มีมติความเห็นทางคดีสั่งฟ้องตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ทั้ง 8 ราย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะไม่แจ้งการจับกุมลุงเปี๊ยกต่อนายอำเภออรัญประเทศ อ้างว่าเป็นการเชิญตัวทั้งๆที่ในหลักการของการควบคุมตัว จับกุม กักขัง หรือทำให้บุคคลปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้น จะอ้างว่าเป็นการเชิญตัวไม่ได้ ดังนั้นเมื่อไม่มีการแจ้งจึงผิดกฎหมาย
นายวัชรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ประกอบด้วย มาตรา 6 การกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมโหดร้าย และมาตรา 7 การอุ้มหาย หรือการกระทำที่มีการปกปิดชะตากรรม เพราะตามข้อเท็จจริงจะต้องนำตัวลุงเปี๊ยกส่งพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย
แต่กรณีนี้เอาไปกักขังไว้ห้องสืบสวน สภ.อรัญประ เทศ โดยใช้เวลาทั้งคืนจึงผิดฐานปกปิดชะตากรรม ทั้งนี้แม้ความเห็นชั้นสอบสวนจะมีความเห็นสั่งฟ้องทั้ง 8 ผู้ต้องหา แต่หากหน่วยงานอื่นใดเห็นแย้งสามารถทำความเห็นมาได้หรือชี้แจงในประเด็นที่ไม่เห็นด้วยได้
รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวอีกว่า สำหรับพยานหลักฐานที่ผู้ต้องหานำมายื่นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น ได้ให้ความเป็นธรรมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆและสอบพยานในเหตุการณ์ มีการสอบปากคำลุงเปี๊ยกย้อนหลัง เพราะจะต้องสอบตามที่ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม มีการอ้างพยานหลายปากเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนที่สุด
อย่างไรก็ตามในชั้นการสอบสวนแม้จะมีความเห็นสั่งฟ้องทั้ง 8 ผู้ต้องหา แต่หากสำนวนไปถึงชั้นอัยการแล้วมีความเห็นให้สอบสวนเพิ่มเติมหรืออาจสั่งให้ดำเนินคดีผู้ต้องหารายอื่นๆเพิ่มเติมหรือมีความเห็นไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาตามชั้นสอบสวนก็เป็นไปได้ ถือเป็นดุลยพินิจอัยการ
นายวัชรินทร์กล่าวอีกว่า สำหรับการต่อสู้ของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนหรือการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ยอมรับว่าผู้ต้องหาส่วนใหญ่ให้การปฏิเสธ แต่เป็นการปฏิเสธในรายละเอียดที่แตกต่างกันไปบางรายให้การปฏิเสธคล้ายกัน แต่บางรายให้การปฏิเสธสวนทางกัน ยืนยันว่าหลักการทำงานการสอบสวนจะไม่นำคำให้การสารภาพใดๆของผู้ต้องหามาเป็นเกณฑ์ แต่ใช้พยานหลักฐานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์มาเป็นข้อประจักษ์ในการดำเนินคดี
พยานหลักฐานที่คณะพนักงานสอบสวนได้ไปรวบรวมแสวงหานั้นจะเป็นทั้งพยานเอกสาร พยานวัตถุ และการสอบปากคำพยานบุคคล โดยเฉพาะกรณีพยานวัตถุจะเป็นกล้องวงจรปิดบริเวณโดยรอบสถานที่เกิดเหตุ และไม่กังวลในการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐเพราะทำตามพยานหลักฐานไม่กลั่นแกล้งใคร แต่ไม่ได้หมายความว่าในชั้นศาล ผู้ต้องหาที่ถูกสั่งฟ้องในชั้นสอบสวนทั้ง 8 ราย จะต้องถูกศาลมีคำพิพากษา เนื่องจากศาลต้องไปดูพยานหลักฐานทั้งหมดเช่นกัน
สำหรับลุงเปี๊ยก อยู่ระหว่างการดูแลของสถาบันธัญญารักษ์ จ.ปทุมธานี โดยรวมมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสุขภาพจิตใจดี ไม่ได้มีภาวะเป็นผู้ติดแอลกอฮอล์ แม้ในอดีตเคยมีพฤติกรรมดื่มเหล้าก็ตาม แต่ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องสุขภาพและมีน้ำหนักอ้วนท้วมสมบูรณ์ดี จดจำได้ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและให้การเป็นประโยชน์ต่อคณะพนักงานสอบสวน
ด้านนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและสอบปากคำพยานบุคคลกว่า 40 ปาก เก็บรวบรวมพยานวัตถุกล้องวงจรปิด และสอบปากคำบุคคลภายในเหตุการณ์ เป็นเหตุผลให้คณะพนักงานสอบสวนมีมติลงความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 ราย
ประกอบด้วย พ.ต.อ.พิเชษฐ์ ศรีจันทร์ตรา ผกก.สภ.อรัญประเทศ พ.ต.ท.พิชิต วัฒโน รองผกก.สส.สภ.อรัญประเทศ พ.ต.ท.นิติธร พิมพ์คำ สว.สส.สภ.อรัญประเทศ ร.ต.อ.พงศภัค พลแสน รอง สว.สส.สภ.อรัญประเทศ ร.ต.อ.พชร บุญอินราทากูร รอง สว.สส.สภ. อรัญประเทศ ด.ต.ภิเศก พวงมาลีประดับ หรือดาบเศก ผบ.หมู่ สส.สภ.อรัญประเทศ จ.ส.ต.ทวีศักดิ์ พูนสะสมทรัพย์ ผบ.หมู่ สส.สภ.อรัญประเทศ ส.ต.อ.ชัยศิริ สุรโฆษิต ผบ.หมู่ สส.สภ.อรัญประเทศ
ส่วนอัตราโทษตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีดังนี้ ผู้กระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษย ธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , ผู้กระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท