ผู้สื่อข่าวค่ายสีบานเย็นเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงตำรวจเมืองกรุง จากม้าเร็วเดลินิวส์ สู่นักข่าวสายตระเวน 88 สน.ทั่วนครบาล ถึงวันนี้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานจนสุขงอม ได้รับมอบหมายเป็นผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจ ปักหลักประจำกองปราบปรามเต็มตัว พร้อมกันนี้ทางหัวหน้างานมีความไว้วางใจให้ทำสกู๊ปข่าวคอลัมน์ดังประจำหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ความสามรถของ นายประพงษ์ แหลมแจง หรือ”ต่อ” ไม่ได้มีแค่การเรียบเรียงจรดปากกาลงบนแผ่นกระดาษ หากแต่ว่าลีลารายงานสกู๊ปข่าวทีวีที่มีมาให้เห็นกันแล้วช่วงหนึ่ง ยังสร้างความประหลาดใจให้บรรดาคนรู้จักเค้าไม่น้อย เรียกว่าครบเครื่องทุกมุมข่าว นสพ.,เว็บไซต์, ทีวี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จึงการันตีได้ว่า “ประพงษ์ แหลมแจง หรือ ต่อเดลินิวส์” ถือเป็นตัวจริงในสนามข่าวสายตำรวจมืออันดับแรกๆคนนึงเลยก็ว่าได้
ตัวผู้เขียนเองรู้จัก “ต่อ” หรือ “น้องต่อ” มาตั้งแต่เค้าเริ่มเข้าวงการใหม่ๆ ได้เห็นพัฒนาการตั้งแต่วันแรกที่น้องยังไม่มีแหล่งข่าว กระทั่งการพยายามเข้าหาสร้างความไว้วางใจกับแหล่งข่าว สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเอง รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจให้ตัวผู้เขียนด้วย เพราะได้เห็นน้องที่เคยสนิทกันเติมโตอย่างมีคุณภาพ สืบสานความสามารถจากบรรดาสีบานเย็นรุ่นๆเก่าๆ ด้วยบุคลิก นอบน้อม ตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้ ความวุ่นวายหรือสังคมรอบตัวยังไม่สามารถกลืนกินความเป็นต่อลงไปได้ เพราะ “ต่อ” ยังคงเป็น “ต่อคนเดิม” เป็นน้องที่น่าชื่นชมมาจวบจนวันนี้
–เล่าประวัติความเป็นมาของตัวเองให้ทราบหน่อยค่ะ มาเป็นนักข่าวที่นี่ได้ยังไงคะ?
ผม นายประพงษ์ แหลมแจง หรือต่อ จบการศึกษา ปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจอาชญากรรม นสพ.เดลินิวส์ ถ้าถามว่าก่อนจะเข้ามาเป็นนักข่าวที่นี่ทำอะไรยังไงมาก่อน
ขอย้อนกลับไปเมื่อประมาณ ปี 50 ตอนนั้นเรียนมหาลัย แล้วต้องฝึกงาน ไปฝึกงานที่ สำนักประสานงานการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตอนที่ฝึกงานได้มีโอกาสทำในเรื่องของสภาพัฒนาการเมือง ในสมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ซึ่งต้องเดินสายไปทั่วประเทศในการให้ความรู้กับประชาชน นอกจากงานสภาพัฒนาการเมืองแล้ว ก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของอนุวิปรัฐบาล ซึ่งอนุวิปรัฐบาลทำหน้าที่กรองข้อมูลขั้นต้น ก่อนร่างกฎหมายต่างๆที่จะผ่านเข้าสู่วิปรัฐบาล หรือ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งหน้าที่เราก็เหมือนเด็กฝึกงานทั่วไป สรุปการประชุม ประสานงานต่างๆ ทำให้เราเรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง ขั้นตอนต่างๆกว่าจะเป็นกฎหมาย บังคับใช้ ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง
ตอนนั้นก็สนุกกับงานด้านการเมืองมาก เวลาประชุมสภาแต่ละครั้ง พี่ๆก็จะพาเราไปด้วย อยู่ตั้งแต่สภาเปิดยันสภาปิด ไม่เคยท้อเพราะถือว่าที่ทำไปได้ความรู้ทั้งนั้น อีกอย่างส่วนตัวสนใจงานการเมือง การปกครองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอฝึกงานเสร็จผู้ใหญ่ก็ให้โอกาสทำงานจริงๆ จากนั้นช่วงเรียนจบก็มาทำงานที่สำนักผู้แทนการค้าไทย ทำได้ไม่นานก็ตัดสินใจออกมา
ชีวิตผกผันแหวกแนวไปทำงานแผนกสินเชื่อธนาคารแห่งหนึ่ง ทำเกี่ยวกับเรื่องบัตรเครดิตและสินเชื่อบ้าน แต่ด้วยการที่เราไม่ถนัดเรืองการขายก็เลยตัดสินใจไปหาทางที่ชอบดีกว่า ออกมาอ่านหนังสือเพื่อที่จะสอบข้าราชการ พนักงานราชการ ซึ่งตอนนั้นเพื่อนที่เรียนด้วยกันสมัยมัธยม โทรศัพท์ชวนให้มาที่เดลินิวส์เป็นเพื่อน ซึ่งวันนั้นตอนเช้าผมต้องไปสอบข้อเขียนที่ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ช่วงบ่ายก็ว่างก็เลยไปเป็นเพื่อนได้ เมื่อไปถึงเดลินิวส์ ก็เลยคิดสมัครที่เดลินิวส์
-เริ่มทำข่าวอาชญากรรมที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ ความแตกต่างวันนั้นจนวันนี้
เริ่มทำงานปี 2552 หลังจากสมัครเดลินิวส์ ไม่นานฝ่ายบุคคลก็โทรศัพท์มาบอกว่าเราสอบผ่าน ตอนนั้นตัดสินใจหนักมาก เพราะว่าอีกวันผลสอบของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ประกาศออกมาว่าเราสอบติด ก็มานั่งคิดว่าจะเลือกเส้นทางไหนดี จะเป็นนักข่าวหรืองานราชการ จนตัดสินใจด้วยเหตุง่ายๆ ว่าเดลินิวส์ติดต่อมาก่อน ถือว่าเดลินิวส์ให้โอกาสเรา จากนั้นก็ได้มาทำแผนกข่าวอาชญากรรม ซึ่งตอนนั้นแผนกอาชญากรรมกำลังหาม้าเร็ว แต่สุดท้ายมาลงข่าวตระเวน ช่วงแรกๆบอกเลยว่าไม่รู้เลยว่าข่าวอาชญากรรมคืออะไร ไม่รู้ว่าต้องฟังว.ด้วย ก็อาศัยเวลาขึ้นรถตระเวนข่าวจะหยิบหนังสือพิมพ์มาอ่านทุกวัน เวลาว่างก็เอารหัส ว.มาท่องให้จำ
เรียกว่าตอนแรกๆฝึกหนักมาก ต้นทุนเราไม่มี แต่ในเมื่อมาแล้ว ต้องเรียนรู้มากกว่าคนอื่นหลายเท่าตัว เพราะไม่ได้จบสายสื่อมวลชน ใครใช้อะไรให้ทำอะไรทำหมด ไม่เคยปฏิเสธ เพราะเราถือหลักทำงานว่า “ทำมากได้มาก” โชคดีที่หัวหน้าข่าว และพี่ตระเวนฉบับเดียวกัน ต่างฉบับ คอยชี้แนะ ซึ่งเราก็พยายามศึกษาดูงานจากพี่ๆ นักข่าวว่าทำงานกันอย่างไร แล้วเอาการทำงานของงพี่ๆแต่ละคนมาปรับ
ทุกวันนี้ยึดหลักการทำงาน เราให้เกียรติแหล่งข่าวทุกคน แต่ผมจะโทรหาแหล่งข่าวเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น ถ้าจำกันไม่ได้ผมก็ไม่คุยด้วย ต่อให้แหล่งข่าวคนนั้น เป็น นายพล หรือนายพัน ก็ตาม เพราะถือว่าเราให้เกียรติทุกคน เวลากลับบ้านผมจะส่องกระจกแล้วถามกับตัวเองว่า “วันนี้เราทำงานคุ้มกับค่าจ้างที่นายจ้างให้เราหรือยัง” ถ้ายังไม่เป็นไรพรุ่งนี้เอาใหม่ ทบยอด ทำให้ดีกว่าเดิม
ผมโชคดีที่มีภรรยาที่เข้าใจในการทำงาน เข้าใจว่าผมทำในสิ่งที่รัก เพราะผมเป็นคนที่ทุ่มกับงานนะ บางครั้งเขาอาจจะมีน้อยใจบ้าง เพราะงานข่าวมันมีมาตลอดมีบ้างช่วงวันหยุดผมก็เช็คข่าว แต่ทุกครั้งที่ผมท้อก็มีภรรยาผมเนี่ยละที่อยู่กับผมตลอด
หากถามว่าจากวันนั้นถึงวันนี้มีความแตกต่างไหม แตกต่างนะ ด้วยวัยที่โตขึ้น ประสบการณ์ที่มากขึ้นผ่านงานข่าวมาก็หลากหลาย เราเห็นอะไรหลายๆด้าน ในแวดวงข่าวอาชญากรรมที่เปลี่ยนไป โชคดีที่เข้ามาทำงานในยุคที่กึ่งใหม่กึ่งเก่า ยุคที่เป็นช่วงรอยต่อ เห็นในมุมที่นักข่าวจะใช้ปากกาเขียนข่าวในสมุดจดข่าว และมาจนถึงยุคนี้ที่นักข่าวส่วนใหญ่เน้นพิมพ์ข่าวส่งรูปจากมือถือ
ข่าวอาชญากรรมแตกต่างจากข่าวอื่นยังไงในความคิดของต่อ ?
ส่วนตัวมองว่าข่าวอาชญากรรมเปรียบเสมือนข่าวครู ถ้าทำข่าวอาญากรรมเป็นทำข่าวอื่นๆก็ได้ หากใครได้มาสัมผัสก็จะตกหลุมรักในมนต์เสน่ห์ของข่าวอาชญากรรม ข้อดีของการทำข่าวอาชญากรรม ทำให้เรารู้ทันเล่ห์เลี่ยม กลโกงต่างๆ ข่าวอาชญากรรมเป็นข่าวที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบัน
ทุกข่าวมีความยากง่ายต่างกันไป แต่จากการทำงานมาข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนถือว่ายากที่สุด เราต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง หลายข่าวที่ทำ ไม่ว่าจะเป็น “ข่าวปรับปรุงภูมิทัศน์รอบสนามหลวง” “ข่าวขบวนการค้านอแรด-งาช้าง” หรือแม้กระทั่ง”ข่าวทัวร์ศูนย์เหรียญ” ทุกอย่างต้องใช้เวลาทั้งนั้น และต้องชัดเจนในการยืนยันสมมติฐานที่เราตั้งไว้ สิ่งหนึ่งผมยึดหลักการในการทำข่าวเสมอว่า การทำข่าวผู้อ่านต้องได้ประโยชน์ สิ่งสำคัญสังคมได้ประโยชน์อะไรจากการนำเสนอข่าวนั้นๆ
ต่อมีครูในวงการข่าวที่ยึดแบบมามั้ยคะ?
คนที่สอนให้ผมรู้จักการเขียนข่าวได้คือ พี่พจน์(ธีรพจน์, พรวิศณุกูล) แกเป็นคนที่ละเอียดในการทำงาน ส่วนคนที่ให้โอกาสเรียนรู้ผิดถูกในการทำงาน คือ พี่ตั้ว ศาสนะ ศิริลาภ ซึ่งตอนนี้พี่เขาเสียไปแล้ว จะว่าไปก็ใจหายนะ เหมือนขาดเพื่อนคู่คิด ขาดพี่ที่คอยแนะนำ อีกคน คือ พี่โบน นพปฎล รัตนพันธ์ (หน.ข่าวอาชญากรรม เดลินิวส์ ) นอกจากนี้ยังมีพี่แป๊ะ พี่โน๊ต หลายคนในแวดวงอาชญากรรม ทุกคนคือครูในวงการข่าวของผม ทุกคำสอนคำแนะนำที่นำมาปรับใช้ก็ได้มาจากพี่ๆในวงการทั้งนั้น เพราะผมไม่มีต้นทุน ต้นทุนผมต่ำ ก็อาศัยฟูมฟักลักจำมาปรับใช้
ตำรวจในดวงใจเราหละคะ มีใครบ้าง?
ตำรวจในดวงใจที่สัมผัสแล้วเคารพ ส่วนตัวเราเคารพตำรวจทุกคน แต่ถ้าให้เลือกในใจที่สัมผัส พูดคุยได้แนวคิดดีๆมาปรับใช้ในการทำงาน ก็จะมี คนแรก ” พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ ผบช.ศ ” รู้จักกันสมัยเป็นผู้การท่องเที่ยว ส่วนตัวมองว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และมีแนวคิดมุมมองใหม่เสมอ เป็นตำรวจที่พอไปสัมผัสรู้สึกว่าท่านทำงานจริงจัง ให้ความสำคัญกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชา มีอะไรพี่รอยก็จะให้คำปรึกษา และก็ให้คำแนะนำทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต
-คนที่สอง พล.ต.ต.อภิชัย ธิอามาตย์ อดีตผบก. กองอุทธรณ์ สำหรับ พล.ต.ต.อภิชัย หรือพี่โจ๊ก แกเป็นเหมือน “เสือยิ้มยาก” นานๆจะเห็นแกยิ้ม ซึ่งพอทำงานด้วยกันไป พี่โจ๊กเป็นคนสนุกสนาน ตั้งใจทำงาน ให้แง่คิดดีๆมากมายในเรื่องการใช้ชีวิต สำคัญ แกไม่เคยมองเราว่าเราเป็นนักข่าว แต่พี่โจ๊กมองเราเป็นน้อง ทุกวันนี้แม้เกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังติดต่อกันอยู่
-พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผบก.ป ส่วนตัวมองว่าเป็นนายตำรวจพูดน้อย แต่ต่อยหนัก เวลาทำงานจริงจัง ดุดัน มีลูกทีเด็ดทีขาด แต่จริงๆพี่ทินเป็นคนใจดี เป็นนายที่ได้ใจลูกน้อง ลูกน้องแทบทุกคนรักและเคารพ
-พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบก.สปพ. ส่วนตัวผมชอบนะ พี่โจ๊กเป็นคนตั้งใจทำงาน หลายต่อหลายครั้งดึกๆดื่นๆไม่หลับไม่นอน แถลงข่าวจับเด็กแว้น ขายปืนออนไลน์ กัญชาออแกนิค อย่างเรื่องเด็กแว้นที่เอาเด็กกับผู้ปกครองมาอบรม ผมเคยถามพี่โจ๊กว่าทำไมต้องอบรมด้วย รู้ไหมแกบอกว่ายังไง แกบอกว่า “ความคึกคะนองการยอมรับในกลุ่มเพื่อนการขาดการเอาใจใส่จากผู้ปกครอง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยส่งผลให้เด็กเดินทางผิด แต่ใช่ว่าเด็กเหล่านี้จะไม่กลับเป็นคนดีของสังคมได้ เชื่อว่าไม่มีใครอยากทำผิด ทุกคนอยากได้รับ’โอกาส’ ด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าสังคมจะเปิดกว้างหยิบยื่น”โอกาส”ให้หรือไม่ หากเราให้โอกาส เปิดกว้าง เราก็จะได้คนดีเพิ่มมาในสังคม อย่าลืมว่าพวกเขาเหล่านี้คืออนาคตของประเทศชาติ ไม่รู้นะความคิดคนอื่นเป็นไงไม่ทราบเหมือนกัน
– พ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รองผบก.ทท. พี่กอล์ฟ เป็นคนตั้งใจทำงาน โดยเฉพาะงานด้านท่องเที่ยว พี่กอล์ฟรู้ทุกเรื่อง และให้คำแนะนำที่ดี เป็นทั้งแหล่งข่าวทีดีและเป็นพี่ที่ดีอีกคน
– พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผกก.ปพ.บก.ป. สำหรับพี่ต่อ แนวคิดการนำหลักธรรมมาปรับใช้ในการทำงานและการดำรงชีวิต ส่วนนี้พี่ต่อก็ให้คำแนะนำตลอด สอนให้รู้จักทำความดี
– พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผกก.1 บก.ป. สำหรับพี่ก้องจัดว่าเป็นตำรวจรุ่นใหม่ไฟแรง ผลงานที่ผ่านมาในการคลายปมคดีต่างๆเป็นที่บทพิสูจน์ถึงฝีไม้ลายมือ ประทับใจตรงที่ เป็นคนที่เก็บรายละเอียดได้ดีมาก เชื่อไหมว่าเจอพี่ก้องครั้งแรกที่ภูเก็ต ตอนนั้นพี่ก้องเป็นผกก.5.บก.ทท. ผมไปทำข่าวตามพี่โจ๊ก-อภิชัย ตอนที่เป็นผู้การท่องเที่ยว ก็ได้คุยสัมภาษณ์ อยู่มาวันหนึ่งพี่ก้องมาเป็นผกก.1บก.ป. ผมโทรศัพท์ไปสัมภาษณ์พี่ก้อง คำแรกที่ออกมาจากปลายสาย “ว่าไงต่อ สบายดีนะ” คืออารมณ์แบบ พี่จำเราได้ว่าเจอกันที่ไหน ทั้งๆที่ทิ้งช่วงไปนานพอสมควร
พ.ต.ท.อนรรฆ ประสงค์สุข รองผกก.2บก.ป. “ไม่มีคำว่าไม่ได้สำหรับรองบิ๋ม” แกเป็นตำรวจที่ตั้งใจทำงาน ลงพื้นที่กับลูกน้องเองตลอด หลายคดีคลี่คลายส่วนหนึ่งก็มาจากรองบิ๋ม อย่างเช่นคดีจ่าเสก ดอนเมือง เข้ามามอบตัวก็เพราะว่าได้รองบิ๋มเนี่ยละที่ดำเนินการ เนื้อแท้เป็นคนใจบุญ จิตใจดี ชอบช่วยเหลือทุกคน
สำหรับตำรวจยังมีอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม อย่างเช่น พี่แจง พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง ผบก.ปคม.,พล.ต.ต.ฤชากร จรเจวุฒิ พี่ไมค์ พ.ต.ท.จิรกฤต จารุนภัทร์ รองผกก.สส. สน.ทองหล่อ และ รองเต้ พ.ต.ท.บวรภพ สุนทรเลขา รองผกก.จร.สน.พญาไท
สื่อสายอาชญากรรมในความคิดเรา อะไรควรเปปลี่ยน ?
ปัจจุบันสื่อมวลชนสายอาชญากรรม มีจำนวนมาก ด้วยการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะในยุคที่ใครๆก็เป็นนักข่าวได้ เราต้องทำให้สังคมเห็น นักข่าว ทำอะไรได้มากกว่า นอกจากการขายข่าวอย่างเดียว ซึ่งเราต้องขายความถูกต้อง ตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนเป็นธรรมและไม่เอนเอียง สิ่งสำคัญที่นักข่าวรุ่นใหม่ มีข้อดีคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งในยุคที่การแข่งขันสูงการส่งข่าวที่รวดเร็ว แข่งกัน อาจเกิดข้อมูลผิดพลาด ตรงนี้ต้องระวัง
แต่สิ่งที่จะขาดไปมากสำหรับนักข่าวยุคใหม่ที่ไม่ค่อยมี คือ ความอดทน ส่วนตัวผมว่านักข่าวสมัยนี้ไม่ค่อยอดทนเท่าไร สมัยก่อนเด็กใหม่ทุกคนต้องเจอ กับการรับน้อง “ประเภทตกข่าวตกประเด็น” ทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะวลีเด็ด คำว่า “พรุ่งนี้เจอกันที่แผง” ซึ่งเอาเข้าจริงๆมันคือเสน่ห์ของงานหนังสือพิมพ์ แต่เด็กสมัยนี้ตกข่าวนิดหน่อย โกรธเคืองกันต่างจากเมื่อก่อนตีกัน ตอนเช้าก็ยังมาคุยสนุกสนาน
-ฝากอะไรถึงพี่น้องตำรวจและเพื่อนๆนักข่าวอาชากรรมค่ะ
ฝากถึงตำรวจและนักข่าวสายตำรวจว่า การทำงานระหว่างตำรวจกับนักข่าว ก็เหมือนน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน การทำงานมีกระทบกระทั่งบ้าง ก็ขอให้เข้าใจ