ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 6 ก.พ. พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมการดำเนินการตามโครงการ ตำรวจนครบาลพ่นน้ำจับฝุ่น อุ่นใจประชาชน บนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 11 แห่ง
โดยมี พล.ต.ต.ชัยพร พานิชอัตรา รองผบช.น. ผู้ริเริ่มโครงการ รองผบก.น.1-9 กต.ตร.บก.น. 1-9 ผอ.สำนักงานเขตต่างๆ ผกก.สน.พื้นที่รับผิดชอบสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าหน้าที่แขวงการทาง กรมเจ้าท่า การประปานครหลวง กรมทางหลวงชนบท ภาคประชาชน มูลนิธิกู้ภัยและอาสาสมัคร
พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ได้รับความร่วมมือกับภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางช่วยลดฝุ่นละออง PM2.5 ในเขตของพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เบาบางลง บริเวณพื้นที่สะพานข้ามแม่น้ำทั้ง 11 สะพาน
โดยใช้ละอองน้ำทำให้สามารถลดฝุ่นละอองได้ ขณะนี้เริ่มใช้แล้วบางสะพานได้รับแจ้งว่าหากใช้ละอองน้ำเป็นฝอยสามารถลดปริมาณฝุ่นได้ประมาณร้อยละ 20
ปัญหาฝุ่นละอองส่งกระทบต่อสุขภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานโดยตรงตลอดจนพี่น้องประชาชนด้วย
พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้ความห่วงใยสถานการณ์ฝุ่น บช.น.ได้ใช้รถน้ำของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงออกไปปฏิงานตามพื้นที่ทั้ง 88 สน.ในกทม.
การฉีดพ่นละอองน้ำทั้ง 11 สะพานจะไม่มีผลกระทบกับยานพาหนะและการจราจรแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นละอองฝอยที่มีขนาดเล็กกว่าสปริงเกอร์ฉีดน้ำจะลอยไปในอากาศ
ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดการดำเนินการแต่อย่างใด แต่อาจจะทดลองทำไปเรื่อยๆ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนช่วยกันบริจาค ยกตัวอย่าง สายยางที่ใช้มีโรงงานที่ประดิษฐ์นำมาให้โดยมีทุกหน่วยงานร่วมมือช่วยกัน
ด้านพล.ต.ต.ชัยพร เปิดเผยว่า วันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมาได้ทดสอบหัวฉีดพ่นละอองน้ำแล้วเป็นฝอยละเอียดลอยไปกับลมได้ดี สามารถจับฝุ่นละอองได้ค่อนข้างมาก ปั๊มน้ำที่ดูดน้ำก็ใช้ระยะทางดูดน้ำลดลงจาก 100 เมตร เหลือ 50 เมตร
ในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการการทดสอบติดตั้งปั๊มหัวจ่ายใช้ระยะทางประมาณ 60 เมตร ติดตั้งได้ 10 จุด แบ่งหัวจ่ายน้ำออกเป็น 3 ช่อง เพื่อพ่นละอองน้ำไปในอากาศถือว่ามีประสิทธิภาพในการทำได้อย่างดี
ทั้งนี้จะติดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 11 สะพาน ได้แก่ สะพานพระราม 6 สะพานกรุงธน สะพานพระราม 3 สะพานพระราม 8 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน
สะพานพระราม 3 สะพานกรุงเทพ สะพานพระราม 9 และสะพานภูมิพล 1 โดยมีเครือข่ายภาคีมาร่วม อาทิ การประปาโดยจะเปิดฉีดน้ำวันละ 3-4 ครั้งตามความเหมาะสมของพื้นที่