วันที่ 11 ก.พ.66 ที่ บช.ก. พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป., และ พ.ต.ท.ภาณุมาศ แสงส่ง รอง ผกก.3 บก.ป. แถลงข่าว กำลังตำรวจชุดสืบสวน กก.3 บก.ป.
ร่วมกันจับกุมนายริชาร์ด มาร์ค วาเคลลิ่ง (Richard Mark Wakeling) หรือชื่อใหม่ที่ปรากฎบนหนังสือเดินทางเล่มใหม่ที่ใช้ในการหลบหนี คือ นายเอรอน ปีเตอร์ ลัมส์เดนท์ (Aaron Peter Lumsden) อายุ 54 ปี ลูกครึ่งอังกฤษ-ไอร์แลนด์ สัญชาติอังกฤษ
ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 57/2566 ลงวันที่ 31 ม.ค.2566 คดีหมายเลขดำที่ จผ1/2566 คดีหมายเลขแดงที่ จผ1/2566 ข้อหาเป็นผู้ร้ายข้ามแดน จับกุมได้บริเวณถนนสุขาภิบาล 5 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 กพ.ที่ผ่านมา
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สำนักอาชญากรรมแห่งชาติ สหราชอาณาจักรสืบสวนทราบว่ามีขบวนการขนยาเสพติดเตรียมการขนยาส่งยาเสพติด บรรจุในถังพลาสติก บรรทุกมาในรถขนส่งเฟอร์นิเจอร์จากประเทศอิตาลี เข้ามายังสหราชอาณาจักร
ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2559 เจ้าหน้าที่สำนักอาชญากรรมแห่งชาติ (NCA)ตรวจยึดรถบรรทุกคันดังกล่าวได้ขณะกำลังขนส่งรถบรรทุกยาเสพติดขึ้นรถไฟผ่านช่องแคบอังกฤษ
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า จากการสืบสวนทราบว่า นายริชาร์ด เป็นหัวหน้าขบวนการ ทำหน้าที่ติดต่อผู้ผลิตยาเสพติดในยุโรป และประสานงานกับผู้ร่วมขบวนการในสหราชอาณาจักรอีกสองคนเพื่อจัดเตรียมการขนส่ง
จากการตรวจสอบพบว่าขบวนการขนส่งยาเสพติดมีนายริชาร์ด เป็นหัวหน้ากลุ่มอาชญากรที่เจ้าหน้าที่อังกฤษต้องการตัวมากที่สุด ลักลอบขนส่งยาเสพติดข้ามชาติจำนวนหลายครั้ง
ต่อมาหลังจับกุมตัวได้ในเดือนมกราคม 2560 นายริชาร์ด ได้หลบหนีออกจากสหราชอาณาจักรในระหว่างได้รับการประกันตัว
กระทั่งในปี 2561 ศาลได้มีคำพิพากษาจำคุก นายริชาร์ด เป็นเวลา 11 ปี จากกรณีพยายามนำเข้าเมทแอมเฟตามีน มูลค่า 8 ล้านปอนด์ เข้ามาในสหราชอาณาจักร โดยกล่าวหาว่ากระทำผิดฐาน สมคบกันในทางฉ้อฉลโดยการลักลอบนำเข้ายาควบคุมประเภท ข. (แอมเฟตามีน) ตามพระราชบัญญัติการใช้ยาในทางไม่ชอบ (Misuse of Drug Act) ค.ศ.1971 พระราชบัญญัติการจัดการด้านศุลกากรและอากรสรรพสามิต ค.ศ.1979 และพระราชบัญญัติกฎหมายอาญา ค.ศ.1977
ผบช.ก.กล่าวต่อด้วยว่า ต่อมาสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 3 สำนักงานอัยการสูงสุด และ เจ้าหน้าที่สำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ (NCA) ประสานความร่วมมือมายังตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปราม ให้สืบสวนเกี่ยวกับสถานที่หลบซ่อน และขอให้จับกุมตัวนายริชาร์ด เพื่อส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปบังคับโทษตามคำพิพากษาในความผิดฐานสมคบกันในทางฉ้อฉลโดยการลักลอบนำเข้ายาควบคุมประเภท ข. (แอมเฟตามีน)
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้ดำเนินการสืบสวนจนทราบว่า นายริชาร์ด ได้หลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจริง พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เฝ้าติดตามและรายงานให้อัยการทราบ
ผบช.ก. กล่าวต่ออีกว่า จากการสืบสวนทราบว่า นายริชาร์ด มาหาเพื่อนที่ย่านเอกมัย ชุดสืบสวนจึงได้ออกสืบสวนติดตาม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ชุดสืบสวนพบตัวนายริชาร์ด บริเวณถนนสุขาภิบาล 5 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน ได้นำกำลังจับกุมได้ดังกล่าว สอบสวนเบื้องต้น ผู้ต้องหารับว่าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจริง ยินยอมให้ส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่สหราชอาณาจักรดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป