ภาพยนตร์แนว “ซอมบี้” ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการภาพยนตร์ เรียกว่าสร้างกันมาจนเฝือ ใครจะสร้างหนังแนวนี้อาจต้องคิดกันหัวแตก หากไม่อยากให้ซ้ำซากกับผลงานที่เคยทำกันมา
สำหรับวงการภาพยนตร์ไทย ก็ไม่ได้มาให้ชมบ่อยแน่นอนกับแนวซอมบี้ แต่ก็ใช่ว่าจะแล้งไร้คนอยากจะลองทำ!
ล่าสุด ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับที่เคยฝากฝีมือไว้กับ “ขุนพันธ์” ภาพยนตร์ที่ทำออกมาหลายภาคจนถูกยกเป็น “ซุปเปอร์ฮีโร่แบบไทย ๆ” ได้ส่งผลงานชิ้นใหม่เรื่อง “ช.พ. ๑ สมรภูมิคืนชีพ”มาให้พิสูจน์ถึงความเป็นหนัง “ซอมบี้แบบไทยๆ”
“ช.พ. ๑ สมรภูมิคืนชีพ” เป็นภาพยนตร์พีเรียดที่มีฉากหลังเป็นประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการต่อสู้ที่ไทยประสบในช่วงเวลานั้นเรียกว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” โดยญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมนี ได้ส่งทหารของตนขึ้นบกตามแนวชายฝั่งของจังหวัดทางภาคใต้ของไทย และบีบให้รัฐบาลไทยและชาวสยามประเทศจำยอมหลายในหลาย ๆ เรื่อง
ทว่านอกจากกำลังพลและอาวุธต่าง ๆ แล้ว ทัพทหารชาวแดนอาทิตย์อุทัยยังมีอาวุธสุดสะพรึงคือ “ฟูเมทสึ” มาจากการทดลองภายใต้แนวคิดที่ว่า เมื่อสงครามทำให้เสียไพร่พลมากมาย จะทำอย่างไรที่จะนำไพร่พลเหล่านี้กลับมาใช้งานใหม่ในแบบที่ศัตรูมิอาจต้านทาน นั่นก็คือ “ซอมบี้”
เมื่อบ้านเมืองถูกรุกราน เจ้าถิ่นก็ต้องลุกขึ้นต่อสู้ ลำพังแค่ทหารไทยที่เป็นรั้วของชาติก็ไม่พอที่จะต่อสู้ กองทัพจึงมีการเกณฑ์เอากองกำลังสนับสนุนไปร่วมต่อกรกับข้าศึก ซึ่งก็คือ “ยุวชนทหาร”
ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก็คือ เยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาในช่วงระหว่างพ.ศ. 2477–2490 โดยรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีนโยบายพื้นฟูการฝึกวิชาทหารให้แก่ประชาชน ดำเนินการโดยกรมยุวชนทหาร กระทรวงกลาโหม ในปีพ.ศ.2481 ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมเตรียมการทหารในปี พ.ศ. 2484
https://www.youtube.com/watch?v=V7Hhnb0QQU4
ตามเนื้อเรื่องใน “ช.พ. ๑ สมรภูมิคืนชีพ” เด็กหนุ่มพวกนี้คือเด็กวัยรุ่นในพื้นที่จังหวัดชุมพร แม้พวกเขาจะได้รับการฝึกความอดทนในแบบทหารก็ตาม แต่ความเป็นเด็กที่รักความสนุก มีความห่ามเกรียนตามวัย ไร้ประสบการณ์รบพุ่ง ก็เดาไม่ยากว่าพวกเขาต้องกลายเป็นเหยื่อของซอมบี้ญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ไม่ได้โชว์แต่ความเป็นซอมบี้อย่างสมจริงของ “ยุวชนทหาร” แต่ยังมีเรื่องราวที่ซ้อนทับลึกกว่านั้น โดยให้ซอมบี้วัยรุ่นเหล่านี้มียังหลงเหลือความรู้สึกนึกคิดของความเป็นมนุษย์
นั่นก็เพราะสูตรการเป็นซอมบี้ของญี่ปุ่น ก็คือหากเหยื่อถูกกัดแล้วไม่ตาย ก็จะเป็นหลายร่างเป็นซอมบี้ต่อทันที แต่หากเหยื่อที่ถูกซอมบี้กัดกินเป็นอาหาร ก็ไม่อาจกลายมาเป็นซอมบี้ได้
ทว่าเมื่อสัญชาตญาณการเอาตัวรอดให้ปากท้องของตนอิ่ม ร่างมนุษย์ร่อยหรอมาอาจประทังความหิว ก็ต้องมีซอมบี้สักตนที่กลายเป็น “อาหาร” ให้กับซอมบี้ตนอื่น
ขณะเดียวกัน หนังก็ให้ภาพของครอบครัว “เมฆ” รับบทโดย นนกุล–ชานน สันตินธรกุล และ “หมอก” รับบทโดย อวัช รัตนะปิณฑะ พี่น้อง 2 หนุ่มที่เหลือเพียงมารดา เพราะเสียบิดาไปกับสงคราม พี่ชาย-น้องชายคู่นี้ แตกต่างในอุดมการณ์การใช้ชีวิต
ทว่าเมื่อสงครามมาถึงเรือนชาน พวกเขาก็ต้องพาชีวิตไปตามโชคชะตา
แม้ “หมอก” ที่เป็นยุวชนทหารจะไม่อยากเข้าร่วมรบ ต่างจากพี่ชาย ที่พร้อมจะพลีชีพเพื่อชาติ เพราะถือคติว่าการปกป้องชาติก็คือปกป้องครอบครัวของตน แต่ทั้งคู่ไม่อาจล่วงรู้ว่าชีวิตของพวกเขาจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
“ช.พ. ๑ สมรภูมิคืนชีพ” แม้จะมีธรรมชาติงาม ป่าไม้เขียวขจี แต่ไม่ได้ทำให้รู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจ ฉากดิบเดือดเชือดชีวิตไปแบบสุดทาง สะท้อนให้เห็นถึงความโหดร้ายของผู้คนที่ไม่หลงเหลือจิตใจและความเป็นมนุษย์ เป็นภาพยนตร์ที่หักมุมความรู้สึกของคนดูในหลาย ๆ ฉาก ซึ่งคิดว่าจะประนีประนอมกับความรู้สึก แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ประจักษ์ต่อความจริงที่ว่า
สงครามเพราะไม่เคยมีความเมตตาปรานีต่อใคร และคนบริสุทธิ์มากมายก็ยังเป็นเหยื่อของคนที่กระหายอำนาจอย่างมิอาจเปลี่ยนแปลง!
Blue Bird3/8/67