Saturday, April 27, 2024
More
    Homeกุหลาบโล่เงิน“สารวัตรฝ้าย”กับหน้าที่ประสานงานตำรวจไทย-เกาหลีใต้

    “สารวัตรฝ้าย”กับหน้าที่ประสานงานตำรวจไทย-เกาหลีใต้

    สวัสดีวันอาทิตย์ที่สดใส

    สาระสัมภาษณ์วันนี้บอกได้เลยว่า อัดแน่นไปด้วยผู้หญิงมากความสามารถที่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่และคนอื่นๆได้

    สารวัตรฝ้าย-พ.ต.ท.หญิง มัณฑนา ยาวิละ สารวัตรฝ่ายวิชาการ สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA)

    ดีกรีปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ่วงด้วยปริญญาโทด้านกฎหมายจากประเทศอังกฤษถึง 2 ใบ


    เห็นแค่ดีกรีจบการศึกษาก็รู้เลยว่าเป็นตำรวจหญิงที่ไม่ธรรมดาแน่นอน

    สารวัตรฝ้ายเริ่มวงการข้าราชการตำรวจด้วยความมุ่งมั่นที่อยากรับราชการมาตั้งแต่สมัยเรียนด้วยเลือดสีกากีเต็มตัวจากผู้พ่อ พล.ต.ต.เสน่ห์ ยาวิละ นรต.รุ่น 33
    อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

    ย้อนไปหลังจบการศึกษา สารวัตรฝ้ายเข้าทำงานที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ด้วยตำแหน่งนักวิชาการ

    จะเรียกว่าความบังเอิญหรือพรหมลิขิต ขณะนั่งหาข้อมูลสถิติคดีอาชญากรรมในเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    เห็นประกาศรับสมัครข้าราชการตำรวจ  กำหนดคุณสมบัติแบบอัดแน่นทั้งสาขาวิชาที่เรียน ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ความรู้ทางกฎหมาย เพื่อให้มาบรรจุที่กองการต่างประเทศ ภายใต้โครงการช้างเผือก

    ไม่รีรอสารวัตรฝ้ายตัดสินใจและได้รับเข้าบรรจุในตำแหน่งนี้เพียงคนเดียว !

    พอได้บรรจุในตำแหน่งงานตำรวจสากล สารวัตรฝ้ายใช้ความรู้ไปกับงานในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

    ต้องบอกก่อนว่าทุกวันนี้สงครามหรือเหตุก่อการร้ายต่าง ๆ ไม่ได้มีเพียงการก่อการร้ายรุนแรงเหมือนในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีทั้งกลโกงออนไลน์ที่ทำให้ตำรวจบ้านเราต้องพัฒนาศักยภาพให้เท่าทันอีกด้วย

    ช่วงนั้นที่ทำงานมีการปรับโครงสร้างจัดตั้ง “ฝ่ายสนธิสัญญาและกฎหมาย” ขึ้นมา จะเรียกว่าพรหมลิขิตครั้งที่สองคงไม่แปลก เพราะตรงกับคุณสมบัติที่สารวัตรฝ้ายมีพอดี


    จึงได้มาทำงานโดยดูพวก MOU หรือที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า เป็นการบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ เพื่อให้ความร่วมมือในกิจการตำรวจนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและเท่าเทียมกัน

    เรียกได้ว่า สารวัตรฝ้ายคือบุคลากรสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานร่างเจรจาหรือร่าง MOU ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

    อย่าง “สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน” สารวัตรฝ้ายก็เป็นหนึ่งในมดงานสำคัญที่ได้ให้ความเห็นผ่านความรู้ท่ีตัวเองมีให้เกิดประโยชน์และกรอบการทำงานของตำรวจไทย สารวัตรฝ้ายบอกกับเราว่า

    โลกทุกวันนี้เป็นโลกที่ไร้พรมแดน รูปแบบอาชญากรรมก็เปลี่ยนไปเสมอ การที่เราได้ใช้ความรู้ได้อย่างไร้จำกัดเพื่ออธิบายต่อหน่วยงานอื่น ๆ ในมิติการทำงานของตำรวจบนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นจึงนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากอย่างเลี่ยงไม่ได้

    ต้องไฮไลต์ตัวโต ๆ เลยว่า ไม่เพียงแต่พาร์ทการทำงานที่สารวัตรฝ้ายเล่าจนเราเห็นถึงความมากความสามารถ

     สารวัตรฝ้ายยังเป็น “ตำรวจหญิงคนแรก” ที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างตำรวจไทยและตำรวจเกาหลีใต้ ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน


    เรียกได้ว่า เจ๋งมาก ๆ เพราะนี่คือการวางรากฐานเครือข่ายพัฒนาตำรวจไทยที่มีศักยภาพได้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานของต่างประเทศ

    สารวัตรฝ้ายบอกว่า

    การมาครั้งนี้เรียกได้ว่า เปิดโลกทัศน์อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะการได้มานั่งทำงานที่สำนักงานใหญ่ของตำรวจเกาหลีใต้ เห็นวัฒนธรรมการทำงาน ระบบหลังบ้านซึ่งแตกต่างไปจากบ้านเราพอสมควร

    แน่นอนว่าตำรวจหญิงคนนี้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ทั้งความมุ่งมั่นในการเรียนรู้งานอาชญากรรมข้ามชาติ รวมไปถึงการสังเกตลักษณะการเกิดอาชญากรรมต่าง ๆ ต้องบอกว่าไม่ง่ายเลยกับการไปทำงานโดยตั้งเป้าว่า

    เราจะคุ้มครองคนไทยที่อาศัยในเกาหลีใต้ได้อย่างไร หากเราลดความรุนแรงของผลที่จะเกิดในคดีก็จะยิ่งช่วยให้ภาพลักษณ์คนไทยที่ไปทำงานในต่างแดนดีขึ้นได้



    นี่ถ้าสารวัตรฝ้ายไม่อธิบายให้เราเห็นภาพเราคงไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการทำงานของตำรวจไทยในต่างแดน

    สารวัตรฝ้ายยังทิ้งท้ายถึงการเปลี่ยนแปลงคดีอาชญากรรมบนโลกที่มันเปลี่ยนแปลงทุกวัน และไปไวเสมอ ด้วยหน้าที่และภารกิจของตำรวจโจทย์สำคัญคือ

    “จะทำยังไงให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ตกเหยื่ออาชญากรรมต่าง ๆ อย่างกลโกงออนไลน์ ควบคู่ไปกับการทำงานของตำรวจอย่างเข้มข้น”

    “ประชาชนยังคงต้องการตำรวจ เสมือนที่ตำรวจยังคงต้องการประชาชน”

    นั่นคือประโยคที่สารวัตรฝ้ายบอกกับเรา

    แม้ว่าทุกวันนี้ที่เราเห็นการคอรัปชั่นในสังคม จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าบ้านเมืองเรายังมีกระบวนการยุติธรรมที่ปลอดภัยอยู่หรือไม่

    ต้องยอมรับว่าบางอย่างยังมีช่องโหว่ที่ตำรวจพยายามทำภายใต้หน้าที่ของตนเอง แม้จะมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรหรือศักยภาพเองก็ตาม สิ่งเรานี้จะเปลี่ยนแปลงได้ถ้าอาศัยการเข้าใจกัน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ระหว่างตำรวจและประชาชน


    เรียกได้ว่า การสัมภาษณ์วันนี้ไม่เพียงแต่เปิดประสบการณ์ของสารวัตรฝ้าย

    แต่ยังเปิดประสบการณ์ของผู้อ่านให้เห็นถึงมิติการทำงานของตำรวจบนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่ได้มีเพียงการจับผู้ร้าย การบังคับใช้กฎหมาย

    แต่เรายังเห็นถึงความสำคัญว่า ทำไมเราต้องมีตำรวจมากความสามารถอย่าง “สารวัตรฝ้าย” ที่จะมาเติมเต็มให้การทำงานของตำรวจไทยเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์

    “ศุพิต พ.” บันทึก4/6/66

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments