Wednesday, April 24, 2024
More
    Homeบทความทั่วไปตำรวจฆ่าตัวตาย ปัญหาใหญ่ สตช.

    ตำรวจฆ่าตัวตาย ปัญหาใหญ่ สตช.

     
    หากพิจารณาจากสถิติจะพบสิ่งที่น่าวิตกกังวลในวงการตำรวจไทย เนื่องจากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

    เมื่อเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยจะพบทันทีว่าอาชีพตำรวจมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปมากถึง 2.32 เท่า

    นั่นทำให้เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ผบ.ตร.ถึงขนาดต้องตวัดปากกาเซ็นคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาดูแลใส่ใจลูกน้องเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งช่วยหาวิธีลดหนีสิ้นเพื่อป้องกันบรรดาสีกากีปลิดชีพตัวเอง

    สอดคล้องกับนักจิตวิทยาที่ชี้ว่าตำรวจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงเพราะอยู่กับงานที่มีความเครียดสูง และทำงานเคียงข้างอยู่กับทูตมรณะอย่างอาวุธปืน
     
    พ.ต.อ.วินัย ธงชัย นักจิตวิทยา กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ ในฐานะอุปนายกสมาคมนักจิตวิทยาคลินิคไทย ยืนยันว่า

    สถานการณ์ตำรวจฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและต้องรีบแก้ไขเนื่องจากว่า ผลการสำรวจข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 จากทั้งหมด 183 ประเทศ

    พบว่าประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ในอันดับที่ 32 ของโลก คิดเฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน

    นส่วนของตำรวจจากข้อมูลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ถึง 2562 มีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย  396 นายโดยเฉลี่ย 18.2 นายต่อ 1 แสนนายต่อปี  

    มื่อเปรียบเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทยจะพบว่าตำรวจมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไปมากถึง 2.32 เท่า

    ทั้งหมดเป็นเพศชาย ส่วนใหญ่มียศ จ่าสิบตำรวจ ถึง นายดาบตำรวจ และปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญกรรม
     
    ทั้งนี้จากเอกสารรายงานการประชุมในการแก้ไขปัญหาตำรวจฆ่าตัวตายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งประชุมครั้งใหญ่ไปเมื่อเดือนตุลาคม

    พบว่าหน่วยงานที่มีตำรวจฆ่าตัวตายมากที่สุดคือตำรวจภูธรภาค 5 ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของเมืองไทย

    พฤติกรรมการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ทำโดยยิงตัวตาย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาครอบครัว รองลงมาเป็นปัญหาสุขภาพ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี

    ทั้งนี้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่าสาเหตุสำคัญคือ สาเหตุด้านจิตใจ ส่วนใหญ่มีภาวะซึมเศร้า เคยคิดหรือเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
    มีบุคลิกเก็บตัว วิตกกังวลง่าย หุนหันพลันแล่นมีความรับผิดชอบสูงและไม่ยืดหยุ่น มักดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ 

    เมื่อมีเหตุการณ์กระตุ้น เช่น ปัญหาจากการทำงาน ปัญหาสัมพันธภาพหรือความเจ็บป่วยเรื้อรังต่างๆ เป็นต้น เป็นต้น จะทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

     
    พ.ต.อ.วินัย  1 ในคณะทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวิบาตกรรม ที่ตั้งโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เล่าให้ฟังว่า

    คณะทำงานกำลังเร่งทำงานเรื่องนี้อยู่ เพื่อจะได้หาวิธีการจัดการกับปัญหาที่แท้จริงว่าอะไรคือสาเหตุที่ตำรวจฆ่าตัวตาย

    ที่ผ่านมามีงานวิจัยอยู่ 2 ชิ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำขึ้น
    ชิ้นแรกเป็นงานของกองวิจัย โดยการเอาสำนวนคดีที่ตำรวจฆ่าตัวตายทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2555 มีประมาณ 170 กว่าเคส เอาสำนวนทั้งหมดมาสกัดดูว่าอะไรคือสาเหตุ ซึ่งพบว่า
    ปัญหาครอบครัวเป็นอันดับที่ 1
    รองลงมาก็เป็นเรื่องของปัญหาส่วนตัว ปัญหาหนี้สิน ปัญหาสุขภาพ และปัญหาหน้าที่การงานตามลำดับ
    เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว สตช. ก็ให้โรงพยาบาลตำรวจไปศึกษาในเชิงลึก โดยใช้หน่วยงานของตนเองนั้นเป็นผู้ศึกษา
    มีการสัมภาษณ์ ญาติ พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาของตำรวจที่ฆ่าตัวตายรวม 10 เคสด้วยกัน ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของเขา
    ผลออกมาพบว่ามี 2 ปัจจัยใหญ่ๆ
    ปัจจัยที่ 1 คือ ปัจจัยส่วนบุคคล ส่วนใหญ่มีลักษณะภาวะซึมเศร้า เนื่องจากในทุกรายที่จะฆ่าตัวตายพบว่าสองสัปดาห์ก่อนฆ่าตัวตาย ทุกเคสจะมีภาวะซึมเศร้า
    ไม่ได้หมายความว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพียงแต่มีภาวะ ซึมเศร้า
    อีกส่วนหนึ่งคือลักษณะบุคลิกภาพส่วนตัวเขาเอง เพราะส่วนใหญ่ตำรวจจะเป็นพวกที่ค่อนข้างจะเพอร์เฟกชั่นนิสต์ค่อนข้างจริงจัง กับการทำงาน จึงเกิดภาวะเครียด
    ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือพวกค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยพูดแต่ทำงานมากจึงเกิดภาวะขัดแย้งแล้วไม่ได้ไปจัดการ พูดคุย หรือแก้ปัญหา ทำให้มีแนวโน้มและมีโอกาสจะฆ่าตัวตายได้ เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่เป็นโรคเรื้อรังด้วย
     
    พ.ต.อ.วินัย กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยหนึ่ง คือปัจจัยสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ปัญหาคือเรื่องเงิน และปัญหาครอบครัว
    อย่างไรก็ตามงานวิจัยโดยส่วนใหญ่ จะบอกว่าการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดจากปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันมาจากหลายๆ ปัจจัยรวมกันเพียงแค่ว่า ปัจจัยไหนในช่วงนั้นที่โดดเด่นขึ้นมา 
     เพราะชีวิตตำรวจมีหน้าที่การงานที่ต้องทำค่อนข้างตลอด 24 ชั่วโมง แล้วก็มีสายบังคับบัญชางานที่ค่อนข้างจะเข้มงวดไม่ค่อยยืดหยุ่น
    นอกจากจะเจอเรื่องของประชาชน เจอปัญหาเรื่องของสายบังคับบัญชา แล้วส่วนตัวเองก็มีปัญหาเรื่องของครอบครัว เพราะอาชีพตำรวจเอง ก็ไม่ค่อยจะมีเวลาให้กับครอบครัวมากนัก เพราะฉะนั้นครอบครัวจะแตกแยกเยอะ
     
    เมื่อครอบครัวแตกแยกตำรวจส่วนมากก็จะอยู่คนเดียว เมื่อเกิดเครียดจึงไม่มี Social Support
    ถ้าครอบครัวยังอยู่ อย่างน้อยยังมีคนช่วยพูดคุยด้วย เมื่อตัวเองไม่มี ก็อาจจะไปดื่มสุราโดยมีอาวุธปืนอยู่ใกล้มือ
     
    “ปัจจัยเหล่านี้ บวกกับมีโรคประจำตัวด้วยแถมไม่มีอะไรมาช่วยพยุงเขาเลย สังคม หรือครอบครัว หรือญาติพี่น้องไม่มี มันก็อยู่คนเดียว กินสุรา โอกาสจะฆ่าตัวตายมันก็สูงมากขึ้น
    เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าปัจจัยมันรวมกันหลายๆ อย่าง เพียงแต่ว่าตอนนั้นมันโดนอะไรที่มันชี้ชัด แต่ส่วนหนึ่งก็มักจะบอกว่ามันจะมาจากเรื่องเครียด  แต่จริงๆ เรื่องเครียด มันเป็นตัวปลายเหตุมากกว่า
    แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้ คือถ้ามีเพื่อนร่วมงาน หรือคนที่ทำงานใกล้ชิด สามารถสังเกตเรื่องวอนนิ่งไซน์ สัญญาณการฆ่าตัวตาย รวมทั้งภาวะซึมเศร้าใน 2 อาทิตย์ แล้วถ้าเข้าช่วยเหลือเขาตอนนี้มันจะช่วยได้”
    พ.ต.อ.วินัย กล่าวและบอกว่า
    ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนฆ่าตัวตายจะมีภาวะนี้ ถ้ามีใครสังเกตเห็น แล้วรีบเข้าไปช่วยเหลือเขา เช่น เครียด นอนไม่หลับ ก็รีบส่งโรงพยาบาล
    พราะถ้าได้พักผ่อน ได้นอนเพียงพอก็จะช่วยได้มาก เพราะพอคนเรามันไคร์มดาวน์ลง มันจะค่อยๆ คิด หาทางแก้ปัญหาชีวิตได้มากขึ้น
     
    พ.ต.อ.วินัย กล่าวต่อว่า
    ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และครอบครัว สำคัญมากมีส่วนช่วยได้มาก
    เพราะภาวะทางจิตใจคนที่คิดจะฆ่าตัวตายมันจะโดดเดี่ยว ภาวะซึมเศร้า ภาวะไร้หวัง หรือโฮปเลท มีภาวะรู้สึกว่าหาทางออกในชีวิตไม่ได้ 4 ตัวนี้ เป็นภาวะทางจิตใจที่สำคัญ
    แล้วถ้าบวกกับความอิมเพาซีฟ หรือหุนหันพลันแล่น เพราะมีเรื่องสุราเข้ามา รวมทั้งอาวุธอยู่ใกล้มือ ใส่ 6 ตัวนี้เข้ามาเมื่อไหร่ คือ “การง่ายที่สุดที่จะฆ่าตัวตาย”
     
    การฆ่าตัวตายจะมี 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ เป็นแบบอารมณ์ชั่ววูบทันทีทันใด กับอีกอย่างคือวางแผนไว้แล้วว่าจะฆ่าตัวตาย
    แต่สังเกตดูตำรวจส่วนใหญ่จะเป็นภาวะอารมณ์ชั่ววูบ โดยไม่ค่อยมีการวางแผน
    อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยจะพบด้วยว่าตำรวจที่ฆ่าตัวตายจะมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 50
    แต่พอ 50 กว่าๆ แล้ว ที่ฆ่าตัวตายส่วนมากจะมีโรคประจำตัวเข้ามาเป็นตัวแปรตัวหนึ่ง
     
    เขากล่าวต่อว่า
    ในระยะหลังตำรวจสายงานสอบสวนมีการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นรองจากสายงานปราบปราม

    ที่สายสอบสวนเป็นข่าวดังในปีนี้เนื่องจากปัจจัยเรื่องขององค์กรและโครงสร้าง เพราะว่าพนักงานสอบสวนเอง ปัญหาในงานมากอยู่แล้ว
    เพราะสำนวนคดีมีจำนวนมากที่ต้องรับผิดชอบ คนที่จะมาทำงานด้านสอบสวนมีน้อยลง เพราะไม่ค่อยได้รับการพิจารณาในการเติบโตในงานของเขา
    ขณะที่ต้องทำงานแข่งกับ เวลา เลยยิ่งบีบเขามากขึ้น อยู่กับว่าเขาจะจัดการกับตรงนี้อย่างไร
     
    พ.ต.อ.วินัย กล่าวด้วยว่า
    การแก้ปัญหาหรือลดอัตราการฆ่าตัวตาย ต้องทำหลายๆ อย่าง พร้อมๆกัน และมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบโดยตรง
    ขณะนี้ สตช. พยายามทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะตอนนี้มันเหมือนงานที่ทุกคนต้องทำและผู้บังคับบัญชาทุกคนต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานต้องดูเมื่อมีสัญญาณเตือน
    ถ้าสังเกตเห็นก็จะช่วยได้โดยตรงเลย ดังนั้นผู้บังคับบัญชาทุกคนต้องมีความสามารถในการสังเกตหรือมีองค์ความรู้เรื่องนี้
    เพราะการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย มันไม่เหมือนการป้องกันไฟไหม้ ที่ทำเป็นครั้งคราว แต่ต้องให้เขาตื่นตัวตลอดเวลา
    ดังนั้นการอบรม การฝึก การให้ความรู้ ต้องทำให้คนได้ตระหนัก ในการรับรู้สัญญาณการฆ่าตัวตาย มีความสามารถในการรู้เรื่องภาวะซึมเศร้า ต้องมีเทคนิคในการพูดคุย หรือซักถาม
     
    นักจิตวิทยา โรงพยาบาลตำรวจกล่าวต่อว่า
    สตช.กำลังพิจาณาให้งบประมาณโรงพยาบาลตำรวจเพื่อการอบรมตำรวจทั้งปีทั่ว ประเทศ
    เพราะอย่างน้อยทุกโรงพักจะต้องมีคณะกรรมการเรื่องนี้ ในการที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตตำรวจ และคณะกรรมการเหล่านี้จะต้องมีความสามารถในการที่มีองค์ความรู้ ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจจะอบรมให้
    ลำดับต่อมาคณะกรรมการต้องมีเครื่องมือในการไปประเมินได้ สุดท้ายต้องมีความสามารถในการที่จะพูดคุยแก้ปัญหาได้
    จากนั้นเมื่อเราได้เครือข่ายมา เมื่อถึงเวลาตรวจสุขภาพประจำปีคณะกรรมการก็จะได้ส่งข้อมูลให้กับโรงพยาบาล ได้
    นอกจากนี้ตอนนี้โรงพยาบาลตำรวจมีโครงการโมบาย 24 ชั่วโมง ในการที่จะพูดคุยกับตำรวจที่มีปัญหาโทรเข้ามาปรึกษา
    แต่ตำรวจโทรมาน้อยมาก กลับกันกลายเป็นประชาชนที่โทรเข้ามามากกว่า อาจจะเป็นเพราะความเป็นผู้ชาย เรื่องศักดิ์ศรี และเรื่องผลประโยชน์
    เพราะว่าถ้ามันมีปัญหาทางสุขภาพจิตขึ้นมา มันจะมีผลเสียต่ออาชีพหน้าที่การงานเขาก็เป็นได้
    เครดิต วัสยศ งามขำ บางกอกโพสต์
     
     
     
     
    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments