วันที่ 24 เม.ย.67 เวลา 10.00 น.ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลคลองใหญ่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
พล.ต.ต.อิทธิพร โพธิ์ทอง รอง ผบช.ภ.2/หัวหน้าศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 2 (ศปอส.ภ.2) , พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2 , พล.ต.ต.ผดุงศักดิ์ รักษาสุข ผบก.ภ.จว.จันทบุรี , พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ภ.จว.ตราด , ภ.จว.สระแก้ว , ตชด.11 และ 12 , กรมทหารพรานที่ 12 และ 13 , กองกำลังบูรพา , กองป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด , คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เขต 12 และ เขต 14
ร่วมประชุมหารือและกำหนดแนวทางการป้องกันการลักลอบติดตั้งวางสายอินเทอร์เน็ตตามแนวชายแดน
สืบเนื่องจาก ปัจจุบันมีการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ (แก๊งคอลเซนเตอร์) รวมถึงการพนันออนไลน์จากประเทศเพื่อนบ้าน ลักลอบใช้อินเทอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์จากประเทศไทย รวมถึงได้ใช้คนไทยบางส่วนเดินทางข้ามไปทำงานยังออฟฟิศบ่อนการพนัน โดยมีวิธีการติดตั้งวางสายอินเทอร์เน็ต ลากจากฝั่งไทยเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน , การตั้งสถานีเถื่อนและติดตั้งเสาส่งคลื่นสัญญาณโทรศัพท์เถื่อน เพื่อให้แก๊งคอลเซนเตอร์และพนันออนไลน์ใช้ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีเป้าหมายคือเหยื่อคนไทยทำให้สูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก
ได้มีการกำหนดแนวทาง , ศึกษารูปแบบการกระทำความผิด , แนวโน้มอาชญกรรมแก๊งคอลเซนเตอร์ในอนาคต และได้สร้างความร่วมมือแบบบูรณาการ ในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.จันทบุรี , จ.ตราด และ จ.สระแก้ว เพื่อป้องกันและปราบปรามเหตุดังกล่าว รวมถึงเพื่อให้มีการประสานงานทางข้อมูลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ยังได้กำชับเรื่องปัญหาเงินเถื่อนซึ่งแก๊งคอลเซนเตอร์และพนันออนไลน์แปรสภาพออกนอกประเทศ , ขบวนการยาเสพติดที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน , การเดินทางลักลอบข้ามแดน , สินค้าเถื่อนและอาวุธสงครามเถื่อน อีกด้วย
ต่อมา ในช่วงบ่าย ได้เดินทางลงพื้นที่ ด่านตรวจถาวรบ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมและสอบถามปัญหาจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน้าด่าน พร้อมตรวจสอบและกำหนดแนวทางในการป้องกันปราบปรามการลักลอบติดตั้งสายอินเตอร์เน็ตและเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ข้ามแดน
ทั้งนี้ยังได้เดินทางไปยังศูนย์จันทรารักษ์ ตชด.115 ซี่งเป็นศูนย์บำบัดผู้เสพยาเสพติด ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์บำบัดประสิทธิภาพสูง ด้วยการบำบัดฟื้นฟูตามกระบวนการทางการแพทย์แบบใหม่ รวมถึงมีการเสริมความรู้ด้านทักษะสังคม และมีเรียนรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข เพื่อนำไปปรับใช้ในงานด้านการบำบัดผู้เสพยาเสพติดในพื้นที่อื่นต่อไป