Friday, April 19, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอนทำไมชอบด่าตำรวจ บช.น.แจงยิบ “บิ๊กไบค์” หลายข้อหา

    ทำไมชอบด่าตำรวจ บช.น.แจงยิบ “บิ๊กไบค์” หลายข้อหา

     

    คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
    โดย…ธนก บังผล

    เป็นที่ฮือฮาไม่น้อยกับคลิปสะพัดโซเชียล หลังมีผู้นำเหตุการณ์หนุ่มบิ๊กไบค์เมากร่างใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ กลางสี่แยกศาลาแดง ลุมพินี มาเผยแพร่ กรณีผู้ชายขี่บิ๊กไบค์อยู่ในอาการคล้ายมึนเมา ยกนิ้วกลางตะโกนด่าเจ้าหน้าตำรวจ พร้อมกับเบิ้ลเครื่องใส่ดังสนั่น โดยมีหญิงสาวที่้ซ้อนท้ายมาด้วยพยายามห้ามปรามแต่ก็ไม่เป็นผล กระทั่งหนุ่มบิ๊กไบค์ลงจากรถเดินเข้ามาในป้อมตำรวจ ลั่นชัดว่าไม่กลัว มีเงินจ่าย พร้อมกับโทรหาคนรู้จักให้ช่วย โดยได้พูดลักษณะหยาบคาย ว่าโดนตำรวจจับ และยอมรับว่าตนเองไม่ใส่หมวกและกินเหล้ามา


    ก่อนที่ต่อมาจะมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เผยว่า สุดท้ายแล้วชายคนนี้ได้ถูกตำรวจจับ ซึ่งเมื่อวัดค่าแอลกอฮอล์สูงถึง 213 มิลลิกรัม

    ประเด็นคือเดี๋ยวนี้ทำไมคนถึงชอบด่าตำรวจกันนัก เมาเมื่อไหร่ก็หาเรื่องมาด่าตำรวจ ล่าสุด กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ให้ความรู้กับประชาชน กรณีหนุ่มบิ๊กไบค์เมากร่างด่าตำรวจ ผมขออนุญาตคัดลอกเอามาลงแบบไม่ตัดต่อ ดังนี้ครับ

    จากกรณีปรากฏคลิปภาพที่มีชายขับขี่รถจักรยานยนต์ และผู้หญิงนั่งซ้อนท้าย โดยทั้งสองคนไม่ได้สวมหมวกนิรภัย ซึ่งชายคนดังกล่าวจอดรถจักรยานยนต์ด้านหน้าป้อมตำรวจ แล้วได้แสดงกิริยาทั้งการชูนิ้วกลาง และพูดจาด่าทอ เหยียดหยาม เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อำนวยการจราจรบริเวณแยกศาลาแดง แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตรวจวัดปริมาณ แอลกอฮอล์ภายในร่างกายซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด จึงแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีตามกฎหมาย


    กองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอชี้แจงว่าการกระทำของชายคนดังกล่าวเป็นความผิดหลายฐานความผิดแตกต่างกัน ดังนี้

    1. ความผิดฐาน “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” โดยมีการกระทำในลักษณะการชูนิ้วกลาง พูดจาด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพูดว่าจะเอาเท่าไหร่ เป็นการกระทำซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับความเสียหาย ถูกเหยียดหยาม และเกิดความรู้สึกอับอาย หรือจะเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่จับกุม

    แม้การชูนิ้วกลางแต่ไม่ได้พูดอะไร ก็เป็นการแสดงกิริยาที่สื่อความหมายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการด่าทอ อีกทั้งขณะเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อำนวยการจราจร ดังนั้นการกระทำของชายดังกล่าวย่อมเป็นความผิด “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    2. ความผิดฐาน “ขับขี่รถในขณะเมาสุรา” ซึ่งผลจากการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ภายในร่างกายพบว่ามีปริมาณอยู่จำนวน 213 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ซึ่งเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ตามที่กฎหมายกำหนด มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงศาลสั่งพักใบอนุญาตมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ เพิกถอนใบอนุญาต

    – กรณีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์, ผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์, ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้ และผู้ขับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาต หรืออยู่ระหว่างการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ มีปริมาณแอลกอฮอล์ เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ให้ถือว่าเป็นผู้เมาสุรา

    3. ความผิดฐาน “ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์” ตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง , 148 วรรคหนึ่ง อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 500 บาท

    4. ความผิดฐาน “ไม่จัดให้ผู้ซ้อนสวมหมวกนิรภัยขณะซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์” ตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 122 วรรคสอง , 148 วรรคสอง อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

    5. ความผิดฐาน “เปลี่ยนแปลงโดยวิธีใด ๆ หรือปิดบังทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้ประจำรถ” กรณีติดแผ่นป้ายทะเบียนมองเห็นได้ไม่ชัด ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 11, 60 อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

    6. ความผิดฐาน “ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำให้เกิดเหตุอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร” กรณีการเบิ้ลเครื่องยนต์ส่งเสียงดังรบกวนพี่น้องประชาชนบริเวณโดยรอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
    ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 66 วางหลักว่า ความมึนเมาเพราะเสพย์สุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์ และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้

    โดยการอ้างเหตุมึนเมามีแนวคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 617/2526 จำเลยสมัครใจดื่มสุราเอง และขณะกระทำความผิด ก็มีความรู้ผิดชอบเป็นอย่างดี จะอ้างว่าได้กระทำผิดไปด้วยความไร้สติ ไม่รู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ อันเนื่องมาจากดื่มสุรา เป็นข้ออ้างให้ลดหย่อนผ่อนโทษตาม มาตรา 66 หาได้ไม่
    จึงประชาสัมพันธ์มาให้พี่น้องประชาชนทราบโดยทั่วกัน


    ก็อย่างที่ตั้งคำถามไว้แต่แรกครับ ว่าทำไมเมาแล้วชอบด่าตำรวจกันจัง แต่เมื่อเป็นตำรวจแล้วก็ต้องถือว่าเป็นคนของประชาชน

    โปรดท่อง อุดมคติตำรวจ ให้ขึ้นใจครับ เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ดำรงตนในยุติธรรมกระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต

    …อดทนต่อความเจ็บใจ อดทนต่อความเจ็บใจ อดต่อความเจ็บใจ ท่องให้ขึ้นใจครับ

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments