Saturday, April 27, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอน"ข่าวปลอม" อาการป่วยบนโซเชียล

    "ข่าวปลอม" อาการป่วยบนโซเชียล

    อาชญา​ (ลง)​ กลอน
    ธนก​ บังผล
    เคยสงสัยเรื่องอะไรสักอย่างที่เราบังเอิญเข้าไปอ่านเจอในโซเชียลมีเดียว่ามันเป็นความจริงหรือเปล่า​ บ้างไหมครับ? 

    ถ้าเคยสงสัย​ แต่ละท่านมีวิธีหาคำตอบกันอย่างไรบ้าง? 
           
    เรากำลังอยู่ในยุคที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารแข่งกันพัฒนาอย่างก้าวกระโดด​ ในแต่ละวันเราแบ่งเวลาให้กับสื่อโซเชียลมากน้อยต่างกันไป​ 
           
    มีคำกล่าวว่า​ สมาร์ทโฟนทำให้ทุกคนเป็นนักข่าวได้​
    เพราะนอกจากจะถ่ายรูปแล้วยังสามารถโพสต์ลงทวิตเตอร์​ เฟซบุ๊ก​ อินสตาแกรม  ฯลฯ​ บอกกล่าวกับคนในโซเชียลได้ตลอดเวลา

    เพราะเหตุนี้ละครับที่ทำให้เกิด​ “ข่าวปลอม” ขึ้นมาบนโลกออนไลน์
           
    สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าทำให้กระแสข่าวปลอมถูกปั่นขึ้นมา
    สร้างความสับสน​ให้กับคนที่เสพข่าวโซเชียล​ มีการแชร์​, รีทวีต​ อย่างมากมายจนกลายเป็นเรื่องปากต่อปาก​ 
           
    ผมพยายามจินตนาการถึงเจตนาของคนที่สร้างข่าวปลอมเรื่องเท็จขึ้นมาแล้วเอาไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์​ ว่าเขาทำไปเพื่ออะไร?  

    มันสนุกตรงไหนกับการทำให้สังคมสับสน​ ปั่นป่วน​ แตกแยก​ เขาจะได้อะไรจากการทำอย่างนี้​? 

    ผมคิดว่าความขัดแย้งทางการเมือง​ ความแตกแยกแบ่งฝ่ายของไทยน่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสมให้ข่าวปลอมถูกนำมาเป็นอาวุธในการตอบโต้

    แฟนพันธุ์แท้ของแต่ละฝ่าย ซึ่งพร้อมจะเชื่อข้อมูลที่สนับสนุนความคิดตัวเองอยู่แล้ว​ ทำหน้าที่ในการแชร์ข่าวปลอมนั้นออกไปยังกลุ่มหรือเพจต่างๆอีกทีหนึ่ง

    ข่าวปลอมหรือ​ fake news​ ถูกพูดถึงมาหลายปีแล้ว​ แต่การระบาดหนักๆเพิ่งจะเริ่มได้ประมาณ​ 2-3​ ปีที่ผ่านมานี้เอง

    ผมคิดว่ามีขบวนการสร้างข่าวปลอมขึ้นมาเผยแพร่​ เพราะรูปแบบที่พัฒนามาถึงการทำแผนผัง​ รูปภาพ​ อินโฟกราฟฟิค​ ต่างๆนั้นมันต้องใช้เวลาพอสมควร​ 

    ลงทุนลงแรงเพื่อจะทำข่าวปลอมขึ้นมาหลอกชาวบ้านขนาดนี้​
    ถ้าไม่ใช่เพราะใจรักก็ต้องสันดานชั่วโดยกำเนิดเท่านั้นละครับ

    นอกจากผลประโยชน์ด้านการเมืองแล้ว​ บางกรณีคนที่ทำข่าวปลอมขึ้นมาอาจมีอาการทางจิตหน่อยๆ​ หรือมีปมด้อยด้านความน่าเชื่อถือในชีวิตจริง

    คนปกติเค้าไม่สนุกกับการเป็นเด็กเลี้ยงแกะหลอก​คนอื่นหรอกครับ​ 

    ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อ​ 2​ ปีที่แล้วว่า​

    การแพร่ระบาดของข่าวปลอมเป็นปัญหาระดับโลก​เกิดขึ้นกับทุกประเทศ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น
    ควรบรรจุให้เป็นวาระของสังคมโลก ในการช่วยกันแก้ปัญหา ที่ต้องรู้เท่าทันการใช้สื่อ
    ไม่ใช่หวังแต่รอผู้ให้บริการ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ดูแลฝ่ายเดียว​

    ดร.มานะ​ มองว่า​ วัตถุประสงค์การสร้างข่าวปลอมมี 2 อย่างหลักๆ คือ


    1.หวังผลเพื่อสนับสนุนส่งเสริมประโยชน์ของตนเองและทำลายฝ่ายตรงข้าม อาทิ หวังผลทางการเมือง ธุรกิจ หรือแม้แต่เรื่องส่วนตัว

    2.สนองความสนุกส่วนตัวเพื่อให้คนอื่นหลงเชื่อ โดยไม่ได้หวังผลชัดเจน กลุ่มนี้เรียกว่า “เกรียนออนไลน์”   

    ความเห็นทางวิชาการนั้นน่าคิดครับ​ เนื่องจากการแก้ปัญหาของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ (ดีอี)​ที่ผ่านๆมามันยังน้อยไป​ คือ​

    ไม่สามารถขุดรากถอนโคนขบวนการสร้างข่าวปลอมได้ชัดเจน

    แม้ว่า​ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี​ หรือ​ ปอท.จะได้ดำเนินคดีกับผู้สร้างข่าวปลอมไปแล้ว​กว่า​ 60 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 15 รายก็ตาม​ 

    การสร้างข้อมูลเท็จให้ประชาชนสับสนเข้าใจผิดนั้น​ ในสมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีโซเชียลเราเรียกมันว่าข่าวลือ

    ความน่ากลัวของข่าวปลอมในอนาคตที่คาดกันไว้นะครับ​ ผลกระทบของมันอาจก่อให้เกิดสงครามได้เลย

    เพราะคนจำนวนไม่น้อยมักตื่นตระหนกกับข่าวร้าย​ ทำให้เชื่อและแชร์มันออกไปสู่สังคมออนไลน์​ 

    โลกใบนี้ยังจะมีโรคภัยอุบัติใหม่ระบาดอีกมากมายครับ​ เราอาจจะติดไวรัสไม่รู้ตัวเมื่อไหร่ก็ได่

    แต่สำหรับคนที่สร้างข่าวปลอมขึ้นมานั้น​ ผมถือว่าเป็นอาการป่วยบนโซเชียลที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้​ ขอแค่มีสติ​ 

    ลองคิดดูนะครับ​ ต่อให้มีข่าวปลอมเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ถ้าเราไม่แชร์​ มันก็ไม่ได้เกิดบนโซเชียลแน่นอน​ 

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments