จากบทความทางเฟซบุ๊กของ TODAY Bizview ที่เสนอเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา น่าสนใจมากสำหรับสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก
ที่ส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจทุกระดับ ไม่ว่าจะเอสเอ็มอี ชาวบ้านร้านตลาด ตลอดไปจนถึงบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
หนทางแก้ไขเพื่อดิ้นเอาตัวรอดของกิจการธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน ก็ไม่แตกต่างกันคือ “ตัดลดต้นทุน” ดังที่ได้คัดจากบทความของ TODAY Bizview มาถ่ายทอดให้ทราบกันในหัวข้อ
บริษัทเทคโนโลยีเลิกจ้างพนักงานพุ่ง ทำไมผู้บริหารไม่ลดเงินเดือนตัวเอง เพื่อเลี่ยงวิธีเลิกจ้างเรื่องนี้มึคำอธิบาย 4 เหตุผล
262,595 คน คือตัวเลขของพนักงานบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัท 1,189 บริษัท ในปี 2566
33,751 คือ ตัวเลขของพนักงานบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก 122 แห่งที่ถูกเลิกจ้างตั้งแต่เปิดปีใหม่มาจนถึงวันที่ 5 ก.พ.2567
ปรากฏการณ์เลย์ออฟครั้งใหญ่ในวงการธุรกิจเทคโนโลยีทั่วโลก สวนทางกับการรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯหลายแห่งโดยเฉพาะกลุ่มบิ๊กเทค ที่ราคาหุุ้นพุ่งสวนทางบรรยากาศการเลิกจ้างพนักงาน
มักจะมีคำถามเสมอว่า แล้วทำไมระดับผู้บริหารทีา่ได้รับอัตราค่าจ้างสูงมากถึงไม่ยอมลดค่าจ้างตัวเองลงเพื่อหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างพนักงานระดับล่าง พวกเขาไม่สามารถลดการจ่ายเงินมหาศาลและรักษางานในตำแหน่งบางตำแหน่งไว้บ้างหรือ
คริส วิลเลียมส์ อดีตรองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทไมโครซอฟท์ ทำงานเป็นที่ปรึกษาและที่ปรึกษาผู้บริหารด้านพัฒนาทักษะผู้นำและสร้างทีม เขียนบทความตอบข้อสงสัยนี้ในเว็บไซต์บิสสิเนส อินไซเดอร์ ไว้ 4 ข้อด้วยกันคือ
1.มันเป็นแค่เรื่องคณิตศาสตร์
เหตุุผลทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ คือการลดเงินเดือนที่สูงของผู้บริหารจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ พูดง่ายๆ ลดไปแล้วก็ไม่ทำให้เห็นความแตกต่างมากพอ ยกตัวอย่าง Google หรือMicrosoft ซึ่งเป็นสองบริษัทที่มีคณิตศาสตร์คล้ายกันมาก ทั้งสองบริษัทมีพนักงานประมาณ 200,000 คน ทั้งสองแห่งได้เลิกจ้างพนักงาน 10,000 คน ในปี 2566 และ ซีอีโอทั้ง 2 คนได้รับค่าจ้างเท่าๆ กัน คือเงินประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
นั่นหมายถึง การลดพนักงาน 10,000 คน จะลดค่าใช้่จ่ายลงได้ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนการลดเงินเดือนของซีอีโอจะช่วยประหยัดได้เพียง 0.2% เท่่านั้น
2.มันเป็นเรื่องของหุ้น
ถึง “ซุนดาร์ พิชัย” ซีอีโอGoogle จะทำเงินให้องค์กรได้มากกว่า200 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 และ “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอMicrosoft จะทำรายได้ เกือบ 50 ล้านดอลลาร์ในปี 2565
แต่พวกเขาก็ไม่ได้ค่าตอบแทนจากเงินจำนวนนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาได้มาคือ หุ้น Stock Grant หรือหุ้นจูงใจพนักงานลอตใหญ่ เป็นวิธีที่บริษัทใหญ่ทำกัน ด้วยการให้แพ็กเกจหุ้นกับผู้บริหารต่อเมื่อบรรลุเงื่อนไขตามที่กำหนด ถ้าซีอีโอทำรายได้เพิ่มให้บริษัทสูงขึ้นต่อเนื่องได้ ก็จะได้แพ็กเกจหุ้นนั้นไป แต่หากราคาหุ้นของบริษัทตกผลประโยชน์ที่จะได้รับก็ดิ่งลงเช่นกััน
วิธีนี้บริษัทไม่ได้สูญเสียอะไร เปรียบเหมือนบอร์ดบริหารใส่กุญแจมือซีอีโอไว้กับรถไฟเหาะ มีราคาหุ้นเป็นเดิมพัน หากซีอีโอไม่แก้ไขปัญหาต้นทุน ค่าตอบแทนของพวกเขาจะได้รับผลกระทบ ขณะที่ถ้าสามารถเพิ่มมูลค่าของบริษัทและราคาหุ้นได้ ทุกคนก็จะชนะหรืออย่างน้อยผู้ถือหุ้นทุกคนก็ชนะ ตั้งแต่ผู้บริหาร คณะกรรมการ พนักงานบริษัทจำนวนมาก ตลอดจนนักลงทุน
3.มันคือการแข่งขัน
โลกของธุรกิจระดับโลก มีเพียงไม่กี่คนที่จะมีความสามารถเป็นผู้เล่นในสเกลใหญ่ได้ ผู้บริหารที่มีประสบการณ์เป็นผู้นำบริษัทมูลค่าเกือบล้านล้านดอลลาร์ พร้อมด้วยพนักงานหลายแสน คน และมีการดำเนินการในระดับโลก ก็ไม่ต่างกับโลกกีฬาที่มีนักกีฬาระดับดาวเด่่น เมื่อมีการแข่งขันด้านความสามารถอย่างดุเดือด เป็นเรื่องปกติที่ผู้เล่นระดับนั้นจะรู้ศักยภาพและคุณค่าของตัวเอง
ความแตกต่างคือแพ็กเกจหุ้น และราคาหุ้น เป็นสิ่งที่บอร์ดของบริษัทปรารถนา พวกเขาต้องการที่จะจ้างดาวดวงหนึ่งที่บรรทุกหุ้นให้พวกเขา โดยบอกว่า “ทำให้หุ้นพุ่งทะยานแล้วคุณจะได้รับรางวัลอย่างงาม”
4.มันคือภาพลักษณ์
เมื่อสุดท้ายบริษัทต้องเลย์ออฟพนักงาน เราก็อาจได้เห็นซีอีโอออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจ เช่นการประกาศของ ซุนดาร์ พิชัยของ Google เมื่อปีที่แล้วว่าจะลดเงินเดือนของเขาลง หรือ ทิม คุก ซีอีโอ Apple ที่ออกมาบอกต่อสาธารณะว่าขอให้บอร์ดลดหุ้นStock Grant ของเขาลงครึ่งหนุึ่งเหลือ 40 ล้านดอลลาร์ ส่วนฐานเงินเดือน 3 ล้านดอลลาร์ และโบนัส 6 ล้านดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลง ที่ว่ามาเป็นกับซีอีโอไม่กี่คน เพราะส่วนใหญ่ไม่มีซีอีโอคนไหนทำ
โดยมากซีอีโอพวกนี้จะบอกกับพนักงานทั้งหมดว่า มันยากแค่ไหน เสียใจกับการที่พนักงานต้องจากไป และหวังว่าจะมีทางเลือกอื่นคือ หางานใหม่ได้นั่นเอง แล้วก็พูดถึงการร่วมมือร่วมใจทำให้บริษัทแข็งแกร่งได้อย่างไรในข้างหน้า
ทั้งหมดนั้นคือความเห็นของ คริส วิลเลียมส์ อดีตรองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ Microsoft ในท่ามกลางสถานการณ์ที่บริษัทด้านเทคโนโลยีปรับโครงสร้างธุรกิจกันขนานใหญ่ ต่อไปปี 2567 คาดว่าจะยังคงมีการเลย์ออฟพนักงานต่อไป โดยจะเน้นในส่วนที่ไม่ใช่กลยุทธ์เป็นหลัก และจะหันไปใช้การจ้างงานในฝั่ง AI แทน
แสดงให้เห็นว่า บริษัทธุรกิจที่นำยุคสมัย ยิ่งใหญ่เพียงใด ก็มีวัน“เจ๊ง”ได้ ถ้าไม่ “เลย์ออฟ”พนักงาน
แล้วบริษัทเล็กๆ จ้อยๆ ในประเทศเราจะเหลืออะไรล่ะ
ดอนรัญจวน 6/2/2567