Thursday, April 25, 2024
More
    Homeข่าวเด่นรอบวันปคบ.ลุยเมืองชลฯทลายแหล่งผลิตไส้กรอกพิษ

    ปคบ.ลุยเมืองชลฯทลายแหล่งผลิตไส้กรอกพิษ

    สายวันที่ 3 ก.พ.65 ที่ ห้องประชุม บก.ป.

    พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ น.ส.อรสุรางค์ ธีระวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหาร

    ร่วมแถลงความคืบหน้าภายหลังจับกุมแหล่งผลิตไส้กรอกปนเปื้อน ที่ จ.ชลบุรี พร้อมของกลางมูลค่ากว่า 700,000 บาท

    พ.ต.อ.เนติ เปิดเผยว่า  บก.ปคบ. ได้รับการประสานจาก อย. ว่า พบเด็กในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, สระบุรี, เพชรบุรี, ตรัง และ กาญจนบุรี รวม 9 คน ถูกนำส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หลังกินไส้กรอกยี่ห้อหนึ่ง ก่อนเกิดภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย

    ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่, สระบุรี, เพชรบุรี และ ตรัง สืบสวนหาแหล่งจำหน่าย-แหล่งผลิต ก่อนจะพบว่าโรงงานตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรีเข้าตรวจสอบโรงงาน พบ น.ส.รักทวี อายุ 38 ปี รับเป็นเจ้าของ

    พ.ต.อ.เนติ กล่าวต่อว่า เจ้าของโรงงานยอมรับว่า เป็นผู้ผลิตไส้กรอกดังกล่าวจริง ทำมาแล้วประมาณ 5 ปี  ตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ไม่มีเลขสารบบอาหาร สถานที่ผลิตไม่ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพีที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งยังไม่มีการควบคุมการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม ขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมาย

    และยังพบด้วยว่า ผู้ผลิตมีการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์ยี่ห้อต่าง ๆ มากถึง 32 ยี่ห้อ รวมทั้งยังมีสัญลักษณ์ฮาลาลปลอมอีกด้วย  ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ เนื่องจากสงสัยว่าจะเข้าข่ายอาหารปลอม

    พ.ต.อ.เนติ กล่าวด้วยว่า สำหรับความผิดที่พบในขณะนี้ เป็นความผิดตามพรบ.อาหารข้อหา สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี และผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง

    นอกจากนี้ หากพบสารต้องห้ามในอาหาร จะเป็นความผิดฐาน ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ และหากเป็นอาหารปลอมด้วย ก็จะมีโทษหนักขึ้นอีก

    ด้าน นพ.วิทิต กล่าวว่า ภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย คือ ภาวะเม็ดฮีโมโกลบินในเลือดมากผิดปกติ เพราะมีสารอื่นไปจับเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน ส่งผลให้ร่างกายมีภาวะขาดอ๊อกซิเจน ทำให้มีอาการเหนื่อยล้า ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน หากอาการหนักก็จะทำให้ปลายมือเท้าเขียว บางรายถึงกับหมดสติ หรือเสียชีวิตได้

    ส่วนสาเหตุนั้นมาจากการใช้สารไนไตรท์ และไนเตรต ที่ใช้สำหรับยืดอายุของอาหาร หรือ สารกันบูด ตามปกติแล้วร่างกายสามารถจะขับสารดังกล่าวออกทางไตได้ หากไม่เกินมาตราฐาน

    กฎหมายได้กำหนดให้ใช้ประกอบผลิตภัณฑ์อาหารได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของอาหาร แต่จากการตรวจสอบ พบผู้ผลิตได้ว่าจ้างคนงาน และใช้การชั่งตวงวัดที่ไม่ได้มาตรฐานจากการตรวจวิเคราะห์ พบว่า ผลิตภัณฑ์มีปริมาณสารนี้ถึง 2,000 กว่ามิลลิกรัม

    ส่วนพล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า ขอฝากความห่วงใยมายังประชาชนว่า ก่อนบริโภคควรตรวจสอบแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อาหารก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นอาหารที่มีคุณภาพ และฝากถึงสถานประกอบการที่ผลิตอาหาร ให้มีความโปร่งใส และมีความปลอดภัย หากยังมีผู้ฝ่าฝืน จะดำเนินการจับกุมอย่างเด็ดขาดต่อไป

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments