กรณี นายธนัญชัย หมั่นมาก หรือ “หน่อง ท่าผา” อายุ 45 ปี ลูกน้องนายปวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” ผู้กว้างขวางใน จ.นครปฐม ก่อเหตุยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. กลางงานเลี้ยงในบ้านของ “กำนันนก” เสียชีวิต กระสุนยังโดน พ.ต.ท.วศิน พันปี รอง ผกก.2 บก.ทล. บาดเจ็บสาหัสไปอีกราย ก่อนที่กำนันนดจะโร่มอบตัวหลังถูกออกหมายจับตามที่ได้เสนอข่าวมานั้น
ค่ำวันที่ 7 ก.ย.66 มีรายงานว่า พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป.รรท.ผบก.ทล. ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ข้าราชการตำรวจในสังกัดบก.ทล. ที่ปรากฎรายชื่อว่าอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว
มี พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 บก.ทล., พ.ต.ท.วศิน พันปี รอง ผกก.2 บก.ทล., ด.ต.ชนาณัฐ วุฒิยากร ผบ.หมู่ บก.ทล., 6. พ.ต.ต.ณรงค์ พิทักษ์ฉนวน สว.ฝอ.กก. 2 บก.ทล. ร.ต.ท.ณรงค์ศักดิ์ แดงอำไพ รองสว.ทล.1 กก. 2 บก.ทล. ด.ต.สราวุฒิ เชียงทอง ผบ.หมู่ บก.ทล.จ.ส.ต.ทศพร แซ่อึ้ง ผบ.หมู่ บก.ทล. จ.ส.ต.พิสิฐ ชิวปรีชา ผบ.หมู่ ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. และ จ.ส.ต.เมทิศกร พันศ์สีจันทร์ ผบ.หมู่ ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล เป็นต้น มอบหมายให้พ.ต.อ.ณัฐพงษ์ ปิตะบุตร รอง ผบก.ทล. เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และให้รวบรวมข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
สำหรับรายละเอียดคำสั่งระบุว่า คำสั่ง กองบังคับการตำรวจทางหลวงที่ 168 /2566เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ด้วยปรากฎข่าวสารทางสื่อหลายสำนักว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน2566มีข้าราชการตำรวจทางหลวงหลายนาย ได้รับเชิญจากนายปวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก ให้ไปร่วมรับประทานอาหารเย็นณ ลานหน้าบ้านเลขที่ 50หมู่ที่ 2 ต.ตาก้อง อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม
ระหว่างนั้นนายปวีณ จันทร์คล้าย ได้พูดคุยกับพ.ต.ต. ศิวกร สายบัว สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1กองกับการ2กองบังคับการตำรวจทางหลวง และเกิดความไม่พอใจ มีปากเสียงกัน
หลังจากนั้นนายธนัญชัยหรือหน่องหมั่นมาก เป็นลูกน้องของนายปวีณ จันทร์คล้าย เดินเข้ามาประชิดตัวแล้วใช้ปืนไม่ทราบชนิดยิงไปที่พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หลายนัดจนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา และกระสุนปืนบางนัดยังไปถูก พ.ต.ท.วศิน พันปี ได้รับบาดเจ็บอีกด้วย
เบื้องต้นรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ในขณะเกิดเหตุมีข้าราชการตำรวจทางหลวงหลายนาย อยู่ในที่เกิดเหตุโดยที่การกระทำของนายธนัญชัย หมั่นมาก นั้นถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจทำการจับกุม แต่ข้าราชการตำรวจดังกล่าว กลับปล่อยให้ผู้กระทำผิดนั้นหลบหนีไปได้
ยังความสงสัยแก่ประชาชนทั่วไปว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ จึงไม่ดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ซึ่งอาจกระทบต่อภาพลักษณ์การปฏิบัติงานของตำรวจทางหลวง นั้น
เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว รวมถึงเพื่อให้เกิดความชัดแจ้ง และความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าหา อาศัยความตามหนังสือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 013.1511637 ลงวันที่ 21เมษายน65 เรื่อง แนวทางและขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีร้องเรียนข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการและลูกจ้างในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้
1. พันตำรวจเอก ณัฐพงษ์ ปิตะบุตร รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เป็นประธานกรรมการ
2.พันตำรวจเอก ชวลิต ชวลิตพงศ์พันธุ์ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจทางหลวงเป็นกรรมการ
3. พันตำรวจโท รุ่งวิทย์ ขวัญมาสารวัตร ฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจทางหลวงเป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างเคร่งครัด และรายงานให้ทราบภายใน 20 วัน
อนึ่ง ถ้าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่ากรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้ หรือกรณีที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงพาดพิงไปถึงข้าราชการตำรวจผู้อื่นและ
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาในเบื้องต้นแล้วเห็นว่า ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำในเรื่องที่ตรวจสอบนั้นอยู่ด้วย ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทำการตรวจสอบต่อไป แล้วรายงานให้ทราบโดยเร็ว
สั่ง ณ วันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 66
พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้วผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รักษาราชการแทน ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง