วงประชุมความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาพสื่อมวลชน ปี 67 เห็นตรงกันอาชีพสื่อไม่มีความมั่นคง ถูกเลิกจ้าง คนที่ยังอยู่ทำงานหนักเกิดความเครียด ซึมเศร้า เสนอตั้งคณะทำงานหาแนวทางแก้ปัญหาและผลกระทบ
มสส. เปิดผลสำรวจสุขภาพสื่อไทยปี 67 พบคนทำสื่อทำงานหนักพักผ่อนน้อยมีความเครียดสูง โรคประจำตัวมากขึ้นทั้งความดันและเบาหวาน แต่ยังมีข่าวดีดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าลดลง
บอร์ดสสส.ห่วงปี 2568 สื่อออนไลน์เกิดภาวะฟองสบู่เพราะแข่งขันสูง ด้าน“เทวฤทธิ์ มณีฉาย” สว.สายสื่อเสนอแก้ปัญหา 4 ส.คือ เสรีภาพ สวัสดิภาพ สวัสดิการและสหภาพแรงงานส่วนนักวิชาการห่วงอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ
วันที่ 19 ธันวาคม 67 ณ ห้องไดมอน 4 ชั้น 3 โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ
มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัด ประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “ความเสี่ยงและสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวล ชนไทย ปี 2567 ” เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชน
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวเปิดการประชุมว่า
ภาพรวมสื่อไทยปี67เต็มไปด้วยความยากลำบาก
ภาพรวมการทำงานของสื่อมวลชนไทยในปี 2567เต็มไปด้วยความยากลำบากแค่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีธุรกิจสื่อปลดออกพนักงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 300 คน เช่น Voice TV เลิกจ้างพนักงาน 200 กว่าคน PP TV เลิกจ้างพนักงาน 90 คน ส่วนครึ่งปีหลังล่าสุดสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เพิ่งเลิกจ้างพนักงานกว่า 300 คน
แม้จะมีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแต่ในอนาคตก็ยังยากลำบาก ส่วนคนที่ยังอยู่ก็มีความไม่แน่นอนเนื่องจากรายได้สปอนเซอร์น้อยลงทุกสื่อต้องแย่งเม็ดเงินโฆษณากัน
ฟองสบู่ใกล้แตกสื่อออนไลน์ล้นตลาด
นอกจากนั้นในอนาคตอันใกล้ภาวะฟองสบู่ของวงการสื่อออนไลน์กำลังจะแตกเพราะปริมาณมากเกินจนล้นตลาด สื่อที่ยังอยู่ก็ปรับลดขนาดองค์กรทำให้คนทำงานสื่อต้องทำงานหนักขึ้นค่าล่วงเวลาไม่ได้เบี้ยเลี้ยงไม่มี วันหยุดก็น้อยจนเกิดความเครียดแทบไม่มีเวลาพักผ่อน
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพของสื่อมวลชนอย่างมาก จึงหวังว่าผลการสำรวจสถานการณ์สุขภาวะสื่อมวลชนไทยปี 2567 ที่ทางมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะโดยการสนับสนุนของสสส.จะนำมาเป็นข้อมูลร่วมกันแสวงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพของสื่อมวลชน และในเวทีการประชุมครั้งนี้มีนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภาสายสื่อมวลชนมาร่วมเสนอแนะมุมมองด้วยจะได้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายระดับชาติต่อไป
”เลขา มสส.“เปิดผลสำรวจสุขภาวะสื่อชนไทย
รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถาน การณ์ ปัญหาสุขภาวะของสื่อมวลชนไทย ปี 2567โดยสอบ ถามกลุ่มตัวอย่างสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 372 คน แบ่งเป็นเป็นเพศชาย 61% เพศหญิง 38.0% เพศทางเลือก 1 %
ทำงานหนัก-มากกว่า8ชม./วัน
คำถามแรกสื่อมวลชนทำงานหนักมากน้อยแค่ไหนพบว่าส่วนใหญ่ 44.09%ทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่จำนวน 19.35%ไม่มีความแน่นอนในชั่วโมงทำงาน ขณะที่13.98% ทำงาน 9-10 ชั่วโมงต่อวันและที่มากกว่านั้นมีสื่อมวลชน 8.60%ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน สรุปว่าเกินครึ่งทำงานหนักมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง
นอกจากนั้นยังพบว่าส่วนใหญ่ 41.94%ไม่มีวันหยุดที่แน่นอน 31.18% หยุด 2 วันต่อสัปดาห์ 10.75% หยุด 1 วันต่อสัปดาห์ และ8.60 % ไม่มีวันหยุดเลย
ความดันเบาหวานโรคฮิตคนสื่อ
ส่วนเรื่องโรคประจำตัวส่วนใหญ่ 56.99% ไม่มีโรคประจำตัว 43.01%มีโรคประจำตัว คนที่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวานในสัดส่วนที่พอๆกันคือ 24.14% โดยภาพรวม 77.58% เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือNCDs
ส่วนการตรวจสุขภาพประจำปีส่วนใหญ่ 74.19%มีการตรวจสุขภาพประจำปี อีก25.81%ไม่ได้ตรวจ
ภาพรวมเครียดสูง69.9%
ประเด็นสุดท้ายเรื่องปัญหาความเครียดจากการทำงานพบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่41.13%มีความเครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย รองลงมา 23.39%มีความเครียดปานกลาง ตามมาด้วยปกติไม่เครียด 18.28% และสุดท้ายเครียดมาก 5.38% เมื่อดูโดยภาพรวมมีความเครียดสูงถึง 69.9%
สื่อส่วนใหญ่โนซิกาแรต
ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 83.60% ไม่สูบบุหรี่ ส่วนอีก16.40%ยังสูบบุหรี่อยู่ สำหรับเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 96.77%ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีเพียง 3.23%เท่านั้นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า สำหรับคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 58.33%ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนอีก41.67%ซื้อจากร้านค้าทั่วไป ส่วนเหตุผลของคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นระบุว่ากลิ่นไม่เหม็นและคิดว่าเลิกได้ง่าย
ดื่มเหล้าเพราะต้องเข้าสังคม
ประเด็นพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์นั้นพบว่า 43.01%ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ ส่วนอีก 48.12% ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนเหตุผลที่ดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ 43.66% เพราะยังสังสรรค์และเข้าสังคมอยู่ รองลงมา26.76% ดื่มเพื่อความสนุกสนาน สำหรับสื่อมวลชนที่ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่นั้น 58.55% มีความเสี่ยงต่ำ 22.80%มีความเสี่ยงสูงหรือเสพติดแอลกอฮอล์แล้วและ18.65% เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ 57%ไม่คิดจะเลิก ส่วนอีก43%คิดจะเลิกดื่ม
ระมัดระวังเรื่องใช้รถใช้ถนนสูง
ด้านความปลอดภัยทางถนน ปรากฏว่าสื่อมวลชนมีการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง 60.22% สวมบางครั้ง 35.48% และไม่สวมเลย 4.30% ในขณะที่การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่รถยนต์ 84.95% คาดทุกครั้ง มีเพียง 15.05%ที่คาดบางครั้ง
สื่อส่วนใหญ่ 42.53%ไม่เคยประสบเหตุจากการดินทาง 23.54%เคยประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์และ 24.81% เคยประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยายนต์ ในขณะที่พฤติกรรมฝ่าฝืนกฎจราจร 51.08% ไม่เคยฝ่าฝืน ส่วน48.92% นั้นเคยฝ่าฝืนส่วนใหญ่เป็นการฝ่าฝืนสัญญาณไฟและการขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด
นิยมซื้อหวยรัฐเสี่ยงโชครองลงมาหวยใต้ดิน
ด้านปัจจัยเสี่ยงเรื่องการพนันและการพนันออนไลน์นั้นพบว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ 65.59% เคยเล่นการพนันอีก 3.41%ไม่เคยเล่นการพนัน สำหรับคนที่เคยเล่นการพนันส่วนใหญ่ 80.47% เล่นในสถานที่ที่จัดให้มีการเล่น ส่วนอีก 17.19% เล่นผ่านออนไลน์
เมื่อถามถึงประเภทการพนันที่เล่นว่าเล่นพนันชนิดไหน ส่วนใหญ่ 46.84% ตอบว่าซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา 20.53%ซื้อหวยใต้ดินและอีก20.53 % เล่นไพ่
โรคประจำตัวสูงกว่าปี66
เลขาฯมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวสรุปและวิเคราะห์ผลการสำรวจในปี 2567ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงในการทำงานและต้องทำงานหนักขึ้น วันหยุดต่อสัปดาห์ลดน้อยลงส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ สื่อมวลชนมีโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น16.01%เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566
เครียดจากการทำงานประเด็นหลัก
โรคประจำตัวที่เป็นกันมากที่สุดคือเป็นความดันโลหิตสูงและเบาหวาน การเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีปริมาณที่สูงขึ้นและยังพบว่าส่วนใหญ่มีความเครียดจากการทำงานสูงมาก ดังนั้นผู้บริหารองค์กรสื่อควรให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหานี้โดยเร่งด่วน
ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ มีการสูบบุหรี่น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ลดลงไป7.13% และพบว่าสื่อมวลชนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่าดื่มลดลง8.99%เมื่อเปรียบกับปี 2566
มุมมองสื่อซื้อหวยรัฐไม่ใช่การพนัน
พฤติกรรมการพนัน ยอมรับว่าเคยเล่นพนันซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2566 ประเภทการพนันที่เล่นมากที่สุดคือสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่แตกต่างไปจากปี 2566 ซึ่งเป็นไปได้ว่าสื่อมวลชนมองว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นการพนันแต่เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของ ดังนั้นการปรับมุมมองของสื่อว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการพนันจึงไม่ใชเรื่องง่าย
ด้านนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม18 สายสื่อสารมวลชน อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท กล่าวว่า
ผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อทำให้สื่อมวลชนต้องทำงานหนักมาก เกิดความเครียดมีภาวะซึมเศร้าจำนวนมาก ควรจะมีทีมที่ปรึกษาเข้าไปช่วยเหลือโดยเฉพาะคนทำงานที่อยู่เบื้องหลังต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ
เปิดปัญหา4ส.ที่สื่อไทยเผชิญ
จากประสบการณ์การทำงานด้านสื่อสารมวลชนของตัวเอง สรุปได้ว่ามีประเด็นที่สื่อมวลชนไทยต้องเผชิญขอเรียกว่า 4 ส. คือ เสรีภาพที่สื่อมวลชนไทยยังคงมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นหรือการนำเสนอข่าวสาร เพราะยังมีการฟ้องร้องปิดปากโดยใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่
ส.ที่สองคือสวัสดิภาพของคนทำงานด้านสื่อสารมวลชนมีอยู่หลายครั้งนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมากลับถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพล
ส.ที่3 คือ สวัสดิการในการทำงาน ในอดีตการจ้างงานของธุรกิจสื่อจะเป็นพนักงานประจำมีสวัสดิการดูแลแต่ทุกวันนี้มีการแข่งขันสูงทำให้ต้องลดต้นทุน ลดสวัสดิการลง จากพนักงานประจำเป็นการทำงานชั่วคราวทำให้ไม่มีความมั่นคงในการทำงาน สื่อต้องทำงานหนักมากขึ้น มีความเสี่ยงทั้งด้านสุขภาพเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ
และส.สุดท้ายคือสหภาพแรงงาน ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจสื่อจำนวนไม่มากนักที่มีสหภาพแรงงานซึ่งเป็นองค์กรที่ลูกจ้างรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องเรียกร้องสวัสดิการและสวัสดิภาพต่อนายจ้าง
อ.ธรรมศาสตร์ชี้รูปแบบจ้างงานผิดปกติ
ขณะที่ ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษารูปแบบการจ้างการงานของคนที่ทำงานในวงการสื่อมวลชนพบว่าเป็นรูปแบบการจ้างงานที่ผิดปกติ มีการจ้างงานที่ไม่มีมาตรฐานการทำงานมากขึ้น เช่น จ้างทำงานบางเวลาหรือจ้างทำงานแค่ 11 เดือน มีการต่อสัญญาการทำงานเป็นรายปีหรือการจ้างงานเหมาช่วง เป็นสถานการณ์ที่มีการแปรสภาพจากการทำงานมั่นคงไปสู่ความไม่มั่นคง ส่งผลกระทบต่อปัญหาความเครียดและสุขภาพจิตมีผลต่อพลังของสื่อจากเดิมที่มีพลังมากไปสู่การมีพลังน้อยลงเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ
เรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะสื่อดั้งเดิมที่จะได้รับผลกระทบเท่านั้น แม้แต่คนรุ่นใหม่ Gen Z หรือ Gen Alpha ที่ต้องการเป็น Youtuber Tiktoker ที่มุ่งหารายได้และเห็นว่าเป็นงานชนิดหนึ่ง ก็จะได้รับผลกระทบเพราะไม่มีความมั่นคงในการทำงานและไม่มีระบบสวัสดิการต่างๆในการดูแลเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ธุรกิจสื่อ วัฒนธรรมและกราฟฟิก เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนรูปของรูปแบบธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ การแสดง และสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งมีประเด็นที่น่ากังวลในอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ ขาดการทำงานที่มีคุณค่า และการเข้าไม่ถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม ส่งผลให้ต้องประเมินผลกระทบของการจ้างงานใหม่
คนข่าวรับจ้างแบบไหนก็เหนื่อยเหมือนกัน
ด้านสื่อมวลชน นายเสด็จ บุนนาค ผู้จัดการสภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ยอมรับว่ามีการจ้างงานหลายรูปแบบแต่สรุปว่าไม่ว่าจ้างงานแบบไหนการทำงานก็เหนื่อยเหมือนกันหมด เพราะทำงานเหมือนเป็นพนักงานประจำทุกอย่างแต่ไม่ค่อยมีลูกจ้างลุกขึ้นมาเรียกร้อง เคยมีการตั้งสหภาพแรงงานสื่อมวลชนการแห่งประเทศไทยแต่เจ้าของธุรกิจสื่อก็ไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้มากนัก
ขณะที่สื่อมวลชนอื่นๆต่างได้แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันและเห็นร่วมกันว่า สภาการสื่อสารมวลชนแห่งชาติ สมาคมวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ สมาชิกวุฒิสภา และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะควรจะจับมือกันเพื่อหาข้อสรุปในการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาทั้งเรื่องสภาพการจ้างในการทำงาน สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการช่วยเหลือสื่อมวลชน ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อโดยการตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อเร่งรัดผลักดันเรื่องนี้ต่อไป