คอลัมน์ ปั้นลูก(ตำรวจ)เป็นนักหวด
Ep.2 ทิ้งบ้าน-ล่าความฝัน
ตลอดเวลาที่ลูกฝึกซ้อมเทนนิสอยู่ที่ต่างจังหวัด ยอมรับว่ามันมีปัจจัยหลายอย่างทำให้ครอบครัวต้องทบทวนหลายตลบว่าจะเล่นต่อหรือจะเลิกดี เพราะที่สนามไม่เอ้ืออำนวยให้กับเยาวชนเท่าใดนัก และผมเช่ือว่าหลายๆจังหวัดก็เป็นเหมือนๆกัน ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นเด็กอยู่ในสายตา
พ่อแม่อุตสาห์ไปรอรับลูกหลังเลิกเรียน เอาข้าวขนมนมเนยไปกินในรถเพื่อไปให้ทันซ้อม เล่นกันอยู่ดีๆก็โดนไล่ออกจากคอร์ตหน้าตาเฉย เมื่อเป็นแบบนี้เด็กหลายคนที่ผู้ปกครองมีความอดทนน้อยก็ทยอยถอดใจแขวนแร็กเก็ต กันตั้งแต่ยังไม่ทันได้ออกสนามแข่งขัน ทั้งที่บางคนมีฝีมือ มีพรสวรรค์
จำได้ว่าตอนลูกหัดเล่นเทนนิสมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งหญิงชายกว่า 10 คน ไม่รวมรุ่นพี่ที่ตะลอนล่าถ้วยรางวัลคว้าแชมป์ประเทศไทยมาแทบทุกรุ่น สุดท้ายก็มีอันล้มหายตายจาก เพราะขาดการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ พ่อแม่ก็เลยหันไปลงเรียนพิเศษแทน กลายเป็นยัดเยียดความเครียดให้ลูกเพ่ิมโดยไม่รู้ตัว
แต่ผมไม่ยอมแพ้ครับ พยายามปรับเปลี่ยนเวลาฝึกซ้อม ไหนๆ หลวมตัวเข้ามาแล้ว ที่สำคัญลูกชอบ ในเม่ือผู้ใหญ่ยึดเวลาหลังเลิกเรียนตอนเย็นก็ไม่เป็นไร ยอมปลุกลูกให้ต่ืนแต่เช้ามืด นัดโค้ชมาฝึกซ้อมก่อนไปโรงเรียน เสร็จแล้วรีบอาบน้ำแต่งตัวกินข้าวกันในรถให้ทันเข้าแถวเคารพธงชาติ
บางวันก็มีผู้ปกครองที่ลงทุนสร้างสนามส่วนตัวให้ลูกซ้อม เกิดสงสารชวนลูกผมไปตีด้วยตอนเย็น บุญคุณนี้ผมและครอบครัวไม่เคยลืมครับ วิถีชีวิตของนักเทนนิสเยาวชนบ้านนอกเป็นแบบนี้อยู่หลายปี แต่ก็ไม่มีอะไรหยุดยั้งความมุ่งมั่นตั้งใจได้ ครอบครัวผมพาลูกตระเวนแข่งขันสนามต่างๆ ชนะบ้างแพ้บ้างเป็นเรื่องเกมส์กีฬา สั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ
หลังเรียนจบชั้นป.6 เมื่อปี 55 ผมตัดสินใจพาลูกเข้ากรุง จำต้องจากครอบครัวอันอบอุ่นซึ่งมีทั้งปู่ย่าตายายที่อยู่บ้านใกล้กันเพื่อไปเรียนต่อชั้น ม.1 ที่สำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกได้ซ้อมเทนนิสมากขึ้น โดยมั่นใจว่าลูกเราก็มีดีไม่แพ้ใคร ก่อนประเดิมถ้วยใหญ่คว้ารางวัลชนะเลิศชิงแชมป์ประเทศไทยรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี พร้อมกับก้าวขึ้นเป็นมือ 1 ของประเทศ
เดอะ วินเนอร์