Thursday, March 28, 2024
More
    Homeบทความทั่วไปสถานการณ์ยาเสพติดปี2020

    สถานการณ์ยาเสพติดปี2020

     

    ผบช.ปส.คาด สถานการณ์ยานรกเมืองไทย ปี 2020 ยาไอซ์ จะระบาดหนักในสถานบริการ และมีราคาถูก เพราะผลิตตามตะเข็บชายแดนพม่า ชนิดโนลิมิต

    พลตำรวจโท ชินภัทร สารสิน ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) เปิดเผยว่า ในปี 2020 ปัญหายาเสพติดกลุ่มเมทแอมเฟตามีนโดยเฉพาะไอซ์ จะขยายตัวรุนแรงมากขึ้นในภูมิภาค

    สะท้อนจากผลการจับกุมในประเทศต่างๆที่มีปริมาณสูงขึ้น โดยไอซ์ที่ลักลอบลำเลียงเข้าประเทศไทยและประเทศต่างๆ

    มีฐานการผลิตอยู่เขตพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มชาติพันธ์ติดอาวุธในบริเวณรัฐฉานตอนเหนือของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

    “แหล่งผลิตยาเสพติดที่สำคัญของโลกยังคงอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ กลุ่มผู้ผลิตมีความสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องและไม่จำกัด

    จากสถานการณ์การผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ยาเสพติดจำนวนมากได้ถูกลักลอบส่งออกกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ

    ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนอกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ปรากฏผลจับกุมในประเทศต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก

    เขากล่าวต่อว่า ห้วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและประเทศสมาชิกในลุ่มแม่น้ำโขงได้ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำภายใต้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ในโอกาสต่างๆ

    โดยเฉพาะแผนการสกัดกั้นยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ตามแนวชายแดน 3 ประเทศ คือ พม่า ไทย ลาว

    ส่งผลให้กลุ่มขบวนการเปลี่ยนเส้นทางลำเลียง จากเดิมที่เคยเข้าประเทศไทยเป็นหลัก ผ่านทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    ปัจจุบันพบว่า เปลี่ยนเส้นทางการลำเลียงโดยผ่านไปทางลาว เวียดนาม หรือผ่านพม่าลงสู่ทะเลอันดามันก่อนลำเลียงเข้าสู่ประเทศที่สาม หรือลำเลียงเข้าไทยทางฝั่งตะวันตกของจ.ตาก และจ.กาญจนบุรี

    พลตำรวจโท ชินภัทร กล่าวด้วยว่า

    ปริมาณยาเสพติดที่ลักลอบนำเข้าต่อครั้งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากตลอดปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงปีหน้า

    สำหรับยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดในประเทศไทยยังคงเป็นยาบ้า รองลงมาคือไอซ์และกัญชาตามลําดับ

    นอกจากนี้ คีตามีน เริ่มเป็นที่นิยมและแพร่ระบาดในกลุ่มนักเที่ยวกลางคืนมากขึ้น

    ขณะเดียวกันประเทศไทยยังคงถูกใช้เป็นแหล่งพักยาเสพติด และเส้นทางผ่านลําเลียงยาเสพติดประเภท ไอซ์ เฮโรอีน และกัญชา ไปยังประเทศที่สามอีกด้วย

    “ปัจจัยที่ทำให้ยาเสพติดถูกลำเลียงเข้าไทยเป็นจำนวนมาก มาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก เพราะไทยอยู่ติดกับแหล่งผลิตยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า

    จากการที่แหล่งผลิตบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่ยังสามารถผลิตยาเสพติดได้เป็นจำนวนมากอย่างไม่จำกัด โรงงานผลิตที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

    การนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่นำไปสู่การผลิตสามารถจัดหาได้อย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีการผลิตที่มีความทันสมัยมากขึ้น

    รวมถึงกลุ่มเครือข่ายนักค้ายาเสพติดข้ามชาติที่เข้าไปเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อต้องการขยายตลาดยาเสพติดทั้งในและนอกภูมิภาค รวมไปถึงความต้องการภายในประเทศยังมีอยู่สูง โดยเฉพาะยาบ้า

    เมื่อกำลังการผลิตยาเสพติดนอกประเทศมีการเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อให้ตัวยาเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้มีปริมาณยาบ้าถูกส่งเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ราคาต่ำลง เช่นเดียวกับ ไอซ์ ปัจจุบันราคาลดต่ำลงกว่าในอดีตมาก” 

    เขากล่าวต่อว่า

    สำคัญที่สุดกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้ายาเสพติด

    โดยนำเทคโนโลยีการติดต่อซื้อขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เป็นปัจจัยสำคัญ ที่เอื้อให้การค้ายาเสพติดขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว

    กลุ่มผู้ค้าหลีกเลี่ยงการส่งมอบยาเสพติดให้กับกลุ่มผู้ซื้อโดยตรง แต่จะใช้วิธีติดต่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์แล้วแจ้งจุดวางยาเสพติด (Dead Drop)

    เป็นการตัดตอนในกระบวนการส่งมอบไม่ต้องผ่านตัวแทนหรือคนกลางในพื้นที่ชายแดนอย่างเช่นในอดีต ไม่ต้องเสียค่าส่วนต่างจำนวนมาก

    การสั่งซื้อยาเสพติดจึงสามารถได้ปริมาณที่มากขึ้นในจำนวนเงินที่เคยสั่งซื้อ และยังเป็นการต่อต้านการสืบสวนขยายผลจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่

    ยังพบว่ากลุ่มนักค้าทุกระดับ รายย่อย รายกลาง รายใหญ่ นิยมซื้อขายยาเสพติดผ่านสื่อสังคมออนไลน์

    ควบคู่กับการส่งมอบ ยาเสพติดผ่านทางพัสดุไปรษณีย์ ระบบโลจิสติกส์ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้น

    เนื่องจากการให้บริการขนส่งระบบโลจิสติกส์มีจำนวนมาก รวมทั้งยังมีปัจจัยเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน การโอนเงินผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ที่สะดวก รวดเร็ว ทำให้ยากต่อการสกัดกั้น ติดตามจับกุม และสืบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่

    ผบช.ปส. กล่าวต่อว่า สำหรับเส้นทางลำเลียงยาเสพติดที่สำคัญของประเทศไทย กลุ่มผู้ค้ายาเสพติดยังคงใช้เส้นทางลำเลียงยาเสพติดผ่านตามแนวชายแดนไทย-พม่าทางภาคเหนือ ทางด้านจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน

    เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตและแหล่งเก็บพักยาเสพติดของกลุ่มผู้ผลิต เพื่อลำเลียงนำยาเสพติดเข้าสู่พื้นที่ชั้นในเขตปริมณฑลและกรุงเทพฯ

    นอกจากนี้กลุ่มค้ายาเสพติด ยังปรับเปลี่ยนวิธีการและเส้นทางลำเลียง โดยผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านจ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร มากขึ้น

    เพราะเป็นพื้นที่ชายแดนติดแม่น้ำโขง สามารถนำยาเสพติดขึ้นเรือข้ามแม่น้ำโขง และเลือกจุดขนถ่ายได้โดยง่าย

    ปัจจุบันสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังคือ พบว่ายาเสพติดถูกลำเลียงเข้าไทยด้านชายแดนตะวันตก ได้แก่ จ.กาญจนบุรี และจ.ตาก มากขึ้น

    เพื่อหลบเลี่ยงการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด ตามเส้นทางสายหลักและเส้นทางสายรอง

    สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ยาเสพติดในปี 2020 พลตำรวจโท ชินภัทร สรุปไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย

    1. ชายแดนภาคเหนือเป็นเส้นทางหลักในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทย ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มที่จะใช้เป็นเส้นทางในการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น

    นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการจับกุมยาเสพติดที่ลักลอบนำเข้าจากพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งความถี่และปริมาณยาเสพติด

    เนื่องจากเจ้าหน้าที่เข้มงวดเส้นทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ผู้ค้ายาเสพติดหลบเลี่ยงหันมาใช้เส้นทางนี้ทดแทน

    2. ห้วงที่ผ่านมาการลำเลียงยาเสพติดโดยการขนส่งทางน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยสำคัญจากหลายสาเหตุ เช่น การปรับเปลี่ยนเส้นทางลำเลียง เพื่อหลบเลี่ยงการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนอื่นๆ

    การลำเลียงทางน้ำเอื้อต่อการลักลอบลำเลียงครั้งละมากๆ ยากต่อการป้องกันและปราบปราม ทั้งยังสามารถลักลอบลำเลียงนำเข้ายาเสพติดได้ตลอดพื้นที่ชายฝั่งทะเล

    3. ภาวะการขยายตัวของการผลิตยาเสพติดกลุ่มประเภท เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า และ ไอซ์) ที่มีกำลังการผลิตอย่างไม่จำกัด จนเกิดภาวะล้นตลาด ทำให้ยาเสพติดมีราคาถูกลง และอาจส่งผลทำให้เกิดการกระตุ้นความต้องการของกลุ่มผู้ค้าและผู้เสพมากขึ้น

    4. การใช้คีตามีนควบคู่กับเอ็กซ์ตาซี ในกลุ่มนักเที่ยวกลางคืนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสถานบันเทิง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

    และ 5. ปัญหาที่สำคัญที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายยาเสพติด กับการพัฒนาของระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ควบคู่กับการขนส่งทางพัสดุ จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้นเนื่องจากสามารถกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และไม่จำกัดพื้นที่

    พลตำรวจโท ชินภัทร กล่าวต่อว่า

    สำหรับแนวทางเชิงรุกการทำงานของตำรวจปราบปรามยาเสพติดในปี 2020 จะดำเนินการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในทุกเส้นทาง

    รวมทั้งจะดำเนินการปราบปรามจับกุมและสืบสวนขยายผล ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้าและส่งออก ขยายผลไปยังผู้สมคบและผู้สนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อทำลายโครงสร้างเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดทั้งระบบ

    โดยดำเนินการตามมาตรการสมคบ มาตรการทางทรัพย์สิน ทั้งการยึดทรัพย์ และการฟอกเงินกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดตามกฎหมาย

    ขณะเดียวกันจะแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีอิทธิพลต่อประเทศเพื่อนบ้าน ให้ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

    รวมทั้งพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศบริเวณชายแดน เพื่อสกัดกั้นและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ

    พร้อมจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทางด้านไอที และด้านยุทธวิธี เพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย.

    เครดิต: วัสยศ งามขำ บางกอกโพสต์

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments