อาชญา (ลง) กลอน
โดย…ธนก บังผล
เป็นรู้กันดีว่ามีบางอย่างที่ “พนักงานสอบสวน” เก็บเอาไว้ในใจ ไม่ค่อยอยากจะเอ่ยถึง
ทั้งความรู้สึก ศักดิ์ศรี หน้าที่ความรับผิดชอบ และการเติบโตในตำแหน่งการงาน
ถ้าย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเคยมีการปลดล็อกตั้ง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือดีเอสไอ ขึ้นมาแก้ปัญหา
เพื่อให้ฝ่ายสอบสวนได้มีโอกาสไต่ขึ้นสู่ตำแหน่งระดับผู้อำนวยการกอง จนถึงรองอธิบดี ไม่ต้องมาค้างคอขวดอยู่ที่ยศพันตำรวจโทหรือรองผู้กำกับไปตลอดชีวิต
แต่ก็ต้องยอมรับว่าตั้งแต่แจ้งความยันส่งสำนวนให้อัยการ
ดีไม่ดีก็ต้องขึ้นศาลเองด้วยซ้ำ บทบาทของพนักงานสอบสวนคือเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญ
ใช่ครับ…การจับกุมผู้ต้องหาของฝ่ายสืบสวนในแบบฉบับของนักสืบนั้น เป็นที่ใฝ่ฝันของคนที่จะมาเป็นตำรวจทั้งสิ้น
ถ้าอยู่ในกองกำกับการที่บริหารจัดการดีตามจับผู้ต้องหาได้ก็มีทั้งผลงาน เงิน และชื่อเสียง
หากมองมาที่พนักงานสอบสวนก็จะเห็นได้ทันทีว่าต่างกันราวฟ้ากับดิน วันๆก้มหน้าอยู่กับเอกสารกองพะเนินเดินกันขาลาก
ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อ พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ.2562 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.
คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) ได้ประเดิมเปิดรับโอนข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นชุดแรก 2 ประเภท คือ วิชาการ กับ ทั่วไป (หน่วยปฎิบัติ) จำนวน 40 คน
ปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา จะได้รับความสนใจจากพนักงานสอบสวนเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ สำนักงานศาลยุติธรรม ยังเปิดรับสมัครรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นอีก เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าพนักงานตำรวจศาล
หรือที่ภาษาฝรั่งเรียกกันว่า Court Marshall (คอร์ท มาร์แชล) ประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ และตำแหน่งเจ้าพนักงานตำรวจศาลหญิงระดับปฏิบัติการหรือระดับชำนาญการด้วย
โดยเจ้าพนักงานตำรวจศาลหญิงนั้น จะปฏิบัติหน้าที่ในการติดตามจับกุมกรณีมีผู้ต้องหาหญิงหลบหนีหมายจับของศาล
แน่นอนว่าตำแหน่ง และหน้างานนอกจากจะท้าทายความสามารถแล้วยังมองเห็นอนาคตของตัวเองได้ชัดเจนกว่าเดิมภายใต้ร่มเงาของศาลที่ศักดิ์ศรีไม่เป็นรองใคร
ที่สำคัญคือการย้ายสายงานภายใต้ พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พศ.2562 ครั้งนี้มีงบประมาณรองรับให้ถึง 200 ล้านบาท
มองเผินๆวันนี้อาจจะยังไม่รู้สึกว่าการที่มีพนักงานสอบสวนขอโอนย้ายสายงานไปเป็นตำรวจศาลจะเป็นปัญหาใหญ่อะไร
แต่อย่าลืมนะครับว่า ถ้าโรงพักมีพนักงานสอบสวนน้อยเกินไปหรือไม่ พอปัญหาที่จะตามมาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
แล้วก่อนหน้านี้ก็เคยมีประเด็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่รับผู้หญิงเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนแล้ว
ที่เหลือๆอยู่นี่ ถ้าขอย้ายไปเป็นพนักงานตำรวจศาลหญิงกันมากกว่านี้ ต่อไปใครจะเป็นมดงานก้มหน้ารองรับคำสั่งครับ
พ.ร.บ.ฉบับนี้เปิดแผลให้เห็นปัญหาข้างในองค์กร จนนำมาสู่ภาวะสมองไหลซึ่งปรากฏการณ์ขอโอนย้ายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ “ไม่มีความสุขกับการทำงาน” นะครับ
มันเกี่ยวกับความรู้สึกล้วนๆ …
ถ้าทำงานแล้วมีอนาคต ต่อให้งานหนักแค่ไหน ผมเชื่อว่าพนักงานสอบสวนสู้กันทั้งนั้น
ทุกคนก็รู้ว่าไม่ใช่แค่พนักงานสอบสวนหญิงที่อยากย้าย ยศพันตำรวจโท ตำแหน่งรองผู้กำกับสอบสวนที่บางคนเป็นมา 10 กว่าปีแล้วไม่ได้ขึ้นเป็น “ผู้กำกับ” สักที
วันหนึ่งการ “เปลี่ยน” ก็อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ…ใช่มั้ยครับ