Saturday, April 20, 2024
More
    Homeอาชญา (ลง)กลอนส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

    ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

     

    คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
    โดย…ธนก บังผล

    ผ่านพ้นไปแล้วกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในประเทศไทย พิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา หรือที่คนไทยทั้งชาติเรียกว่า “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”

    โดยพระเมรุมาศนั้น บริเวณชั้นชาลาบนสุดมีบุษบกองค์ประธาน ถือเป็นสัญลักษณ์เขาพระสุเมรุ เป็นที่ตั้งของ “พระจิตกาธาน” หรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีความเชื่อกันว่าพระจิตกาธานนั้น เป็นสถานที่สำคัญในการกลับคืนสู่ทิพย์สภาวะ ดังนั้น ที่แห่งนี้ ถือเป็นสถานที่สุดท้ายบนโลกมนุษย์ จึงต้องประดับอย่างสวยงามให้สมพระเกียรติ

    ภายในพระจิตกาธานยังมีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศตามโบราณราชประเพณีและงานช่างชั้นสูง ประกอบด้วย พระโกศจันทน์ ฉากบังเพลิง และประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยงที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ ทั้งหมดตามคติความเชื่อ และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

    ทั้งนี้ หนังสือธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดงานพระบรมศพ, คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพ, ราชบัณฑิตยสภา ระบุว่า พระจิตกาธาน คือ เชิงตะกอน หรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยแท่นฐานสำหรับเผาทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ดินเสมอปากฐานสำหรับวางฟืน ไม้จันทน์ พระจิตกาธาน มักประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีและเครื่องสด เช่น ดอกไม้ ใบไม้ ใบตอง หยวกกล้วยและผลไม้บางชนิด เป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องกันไฟ

    ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระจิตกาธานตั้งอยู่บนฐานชาลาชั้นบนสุดภายในบุษบกองค์ประธาน

    มีเกร็ดความรู้เฉพาะเรื่องพระจิตกาธาน ซึ่งเฟซบุ๊กเพจ คลังประวัติศาสตร์ไทย ให้ความรู้เกี่ยวกับ รูปแบบและธรรมเนียม ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง ไว้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากพระราชพิธีมีวิธีการปฏิบัติตามตำราที่ราชสำนักสืบทอดกันมา แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

    เพจ “คลังประวัติศาสตร์ไทย” อธิบายว่า มีการสุมเพลิง 4 ประเภท คือ 1.การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน (กรณีที่พระบรมศพอยู่ในพระบรมโกศ) การสุมเพลิงรูปแบบนี้เป็นแบบโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า แต่ในปัจจุบันนี้ไม่พบว่ามีการถวายพระเพลิงพระศพบนพระจิตกาธานอีกแล้ว เนื่องจากควบคุมเพลิงได้ยาก เจ้าพนักงานจะต้องคอยฉีดน้ำและควบคุมทิศทางลมอยู่ตลอดเวลา

    ครั้งสุดท้ายที่ใช้วิธีนี้คืองานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ในปีพ.ศ. 2528

    2.การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน (กรณีพระบรมศพอยู่ในหีบ) ในรูปแบบนี้เป็นราชประเพณีที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า เนื่องจากพระบรมศพของพระองค์ประดิษฐานอยู่ในหีบ ทางสำนักพระราชวังจึงทำการตั้งหีบพระบรมศพบนพระจิตกาธานแล้วนำพระบรมโกศ (โกศเปล่า) วางบนหีบพระบรมศพอีกชั้นหนึ่งดังภาพประกอบ ในคราวนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ หลังจากที่ผู้มาร่วมงานกลับกันหมดแล้วทั้งสามพระองค์เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังพระเมรุมาศเพื่อควบคุมการถวายพระเพลิงด้วยพระองค์เอง

    3.การสุมเพลิงพระศพในเตาไฟฟ้า (กรณีพระศพอยู่ในหีบ)ในรูปแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน จนถึงงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีกระบวนการต่างๆคล้ายกับงานพระบรมศพของสมเด็จย่า แต่จะแตกต่างกันตรงที่ได้อัญเชิญหีบทรงพระศพลงจากพระจิตกาธาน เข้าไปพระราชทานเพลิงในเตาเผาไฟฟ้าที่อยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุแทน

    และ 4.การสุมเพลิงพระศพในเตาไฟฟ้า (กรณีพระศพอยู่ในพระโกศ)ในรูปแบบนี้ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอีกเช่นกัน จนถึงปี พ.ศ.2555 ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดาฯ ลูกเธอในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ที่พระศพของพระองค์ประดิษฐานอยู่ในพระโกศตามโบราณราชประเพณี แต่เมื่อถึงเวลาพระราชทานเพลิงพระศพจริงนั้น เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระโกศลงจากพระจิตกาธานเพื่อไปพระราชทานเพลิงยังเตาไฟฟ้าที่อยู่ทางทิศตะวันตกแทน โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการสร้างขนาดของเตาไฟฟ้าให้มีขนาดใหญ่ และสูงกว่าปกติ เพื่อที่สามารถอัญเชิญพระโกศเข้าไปภายในเตาไฟฟ้าได้

    จากทั้ง 4 รูปแบบที่กล่าวมา ผมคาดว่า พิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นั้น อาจจะใช้แบบที่ 2 คือ วิธีเดียวกับที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องจากทราบมาว่ามีการบรรจุพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายในหีบพระบรมศพ

    ผิดถูกอย่างไรนั้นต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับ เนื่องจากทางสถานีโทรทัศน์ไม่ได้มีการถ่ายทอดสดให้ทางบ้านได้ชม

    อย่างไรก็ตามมีรูปพระเมรุมาศมาให้ชมกัน โดยสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์กันเป็นจำนวนมาก เป็นพระเมรุมาศ 17 แบบที่เคยบันทึกภาพพิธีพระบรมศพของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในอดีต


    ส่วนพระเมรุมาศที่ใช้ในงานพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน หลังจากนั้นจะเปิดให้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 30พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา07.00 น. ถึง 22.00 น.

    เบื้องต้นจะเปิดให้เข้าชมอย่างอิสระ รอบละ 5,500 คน คาดว่าสามารถรองรับประชาชน ได้วันละ 104,000 คน

    แบ่งเป็น กลุ่มภิกษุ สามเณร 500 รูปต่อวัน ,ผู้พิการทุกประเภท 500 คนต่อวัน ,นักท่องเที่ยว 8,000 คนต่อวัน ,นักเรียน นักศึกษา 15,000 คนต่อวัน และประชาชนทั่วไป 80,000คน ต่อวัน

    โดยกำหนดเวลาให้ชมบริเวณด้านหน้าพระเมรุมาศซึ่งเป็นส่วนของโครงการพระราชดำริ คนละ 15 นาที ส่วนในนิทรรศการ 6 อาคารจะให้เวลาคนละ 45 นาที ซึ่งประชาชนสามารถขึ้นชมพระเมรุมาศได้เฉพาะชั้น 1 เท่านั้น เมื่อหมดเวลาเจ้าหน้าที่จะส่งสัญญาณหมดเวลาเป็นรอบๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับให้สอดคล้องกับความสะดวก และความปลอดภัย

    ผู้ใดสนใจควรสอบถามรายละเอียดจากหน่วยงานรัฐให้ชัดเจนก่อนเดินทางเข้าไปชมครับ

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments