เพียงไม่กี่วัน เท่าที่เห็นข่าวผ่านสายตา มีตำรวจทั้งชั้นประทวน ชั้นสัญญาบัตร กระทำอัตวินิบาตกรรมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ราย
ก็เรียกง่ายๆ ว่า ตำรวจฆ่าตัวตาย นั่นแหละ
ล่าสุดเมื่อวันวานนี้เอง ที่ท้องที่ สภ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช รองสารวัตรปราบปราม อุทิศตัวเป็นครูแดร์ โครงการเพื่อเด็กและเยาวชน ให้ปลอดจากยาเสพติด ตั้งทีมฟุตบอลช่วยดึงเยาวชนในพื้นที่ให้หันมาเล่นกีฬาอย่างจริงจัง หลีกเลี่ยงไม่ให้หลงทางไปมั่วสุมเสพยาหรือนิยมใช้ความรุนแรงเป็นเด็กก้าวร้าว
แต่ตำรวจท่านนี้มีปัญหาป่วยหนัก จนทุกข์ทรมานเกินรับไหวจึงตัดสินใจจบชีวิตตนเองอย่างน่าสลดใจและเป็นที่เศร้าใจต่อลูกศิษย์อีกจำนวนมากที่สูญเสียครูแดร์ท่านนี้
นอกจากกรณีนี้แล้ว ก่อนหน้าไม่กี่วัน ก็มีระดับผู้กำกับที่จ.อุทัยธานี ยิงตัวตายที่ม้าหินอ่อนข้างป้อมตำรวจ หนีอาการป่วยซึมเศร้า
และก่อนคดีนี้ ก็ยังมีตำรวจ ยศ ส.ต.ต. โดดจากห้องพักชั้น 7 แฟลตเมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ยังไม่ทราบชนวนเหตุที่แท้จริง
นี่เป็นเพียงตัวอยางไม่กี่รายจากการก่อเหตุปลิดชีพตัวเองของคนในเครื่องแบบสีกากี ว่าด้วยสาเหตุแตกต่างกันไป จากสภาพร่างกาย แต่ที่ไม่แตกต่างคือ สภาพจิตใจ!
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ถ้ามองเพียงผ่านๆเพราะไม่ว่าบุคคลในกลุ่มอาชีพหรือแวดวงใดๆ ก็ประสบกับปัญหาอาการป่วยทั้งร่างกายและจิตใจไม่ต่างกัน มากบ้างน้อยบ้าง
ยิ่งในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันฝืดเคือง หากินลำบาก สังคมอยู่กันอย่างตัวใครตัวมัน ยิ่งเจริญด้านเทคโนโลยีเท่าไหร่ ยิ่งทำให้โลกส่วนตัวสูงมากขึ้น เมื่อบางคนเกิดปัญหาในชีวิต ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร ก็ตัดสินใจลาโลกกันดื้อ ๆ
มันอาจจะพูดกันแบบสรุปง่าย ๆ ว่า ตัดช่องน้อยแต่พอตัวหรือคิดสั้น แต่ความจริงแท้ คนที่ประสบปัญหา อาจจะคิดยาวคิดนานมากจนมาถีงคำตอบสุดท้ายแล้วก็เป็นไปได้
เราไม่อาจด่วนสรุปเป็นสูตรสำเร็จอย่างที่เคยได้ยินได้ฟังมาแต่เนิ่นนานกาเล
กล่าวสำหรับบุคคลในเครื่องแบบสีกากี การเกิดเหตุก่ออ้ตวินิบาตกรรมของบุคลากรในองค์กรที่ต้องเสียสละทุ่มเทชีวิตเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนนั้น
มันเป็นเรื่องใหญ่มากๆ ถ้าผู้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม กลายเป็นผู้ป่วยทั้งร่างกายและด้านจิตใจ ปีๆหนึ่งเราสูญเสียกันไปไม่น้อย ทั้งจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และจากการเจ็บป่วยร่างกายและจิตใจ
ถ้าเปิดข้อมูลสถิติคงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนัก
แต่องค์กรเล็งเห็นความสำคัญของเรืองนี้มากเพียงพอหรือยังสำหรับความป่วยทางจิตใจที่มีผลมาจากการทำงานอยางหนักหรืออาจจะมีผลจากสุขภาพร่างกายที่เกิดโรคภัยคุกคามบ้างก็ตาม
แน่นอนว่า ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมทุกชนิด จะเน้นการฝึกปรือทักษะ การปฏิบัติการ เน้นหนักด้านกายภาพให้มีความอดทน แข็งแรง มาก จนอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตเท่าที่ควรจะเป็น
เราจึงได้พบเห็นตำรวจแข็งแกร่งด้านร่างกาย แต่จิตใจ“อ่อนแอ”มากขึ้น ๆ บางรายถึงขั้นควบคุมตัวเองไม่ได้ คลุ้มคลั่งเปลี่ยนไปเป็นอาชญากรเสียเอง ไม่น้อยเลยทีเดียว
ถึงเวลาที่ควรจะเอาจริงเอาจังกับองค์กรที่กำลังป่วยอมโรคนี้เสียแล้ว
อย่ามัวชักช้ารอจนถึงเวลาเอ่ยวลีว่า “เราทำดีที่สุดแล้ว” เพราะความหมายมันก็ไม่ต่างจาก “เราแพ้แล้ว” ใช่ไหม
ดอนรัญจวน 22/3/2567