จากข่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 67 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ไปตรวจเยี่ยมตำรวจที่พื้นที่สถานีตำรวจภูธรทุ่่งลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตามนโยบายของผบ.ตร. ที่ต้องการให้กำลังพลมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะตำรวจภูธรตามเขตชายแดน
นอกจากจะเยี่ยมบำรุงขวัญและมอบสิ่งของแล้ว ยังได้ประชุมมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะ ผกก.สถานีตำรวจภูธร
ย้ำว่าจากนี้ไป ผกก.ที่รับหน้าที่กำกับดูแลโรงพักจะต้องปรับตัวเร่งการทำงานสร้างความเชื่อมั่น ไม่ต้องรอให้ผู้เดือดร้อนไปพึ่งพาสื่อ เพจ หรืออินฟลูเอนเซอร์ ถึงจะแก้ไขปัญหาคดีได้
“ผู้กำกับสถานีตำรวจทุกแห่งต้องสร้างความศรัทธาให้ประชาชนให้ได้ ใครเป็นผู้กำกับที่ไหนต้องต่อสู้กับตัวเอง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ทุกชุมชน ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ในพื้นที่ของตนเอง มีเหตุต้องมาบอกผู้กำกับ
มีเหตุต้องนึกถึงผู้กำกับ ไม่ใช่มีเหตุต้องไปบอกเพจต่างๆ สื่อมวลชนต่าง ๆ โซเชียลมีเดีย ผกก.คนใดทำได้แบบนี้ถือว่ารบชนะ ต่อความไม่ไว้วางใจของประชาชน แล้วท่านจะภูมิใจ เมื่อไรตำรวจทำงานแล้วประชาชนเขาจะรู้เอง”
ที่ผ่านมาคนที่กำกับดูแลและแก้ปัญหาโดยบังคับใชักฎหมายอย่างเด็ดขาด ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหารอยต่อระหว่างตำรวจกับประชาชน ที่มีผลมาจากความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หันไปพึ่งสื่อและเพจ เพื่อให้มาจี้คดี เมื่อเป็นข่าวถึงจะมีการขับเคลื่อนในการปราบปรามหรือจับกุม
แต่จากนี้ไป ผกก.สถานีตำรวจภูธรทุกแห่งจะต้องปรับตัว จะเป็นฝ่ายรอรับไม่ได้ ต้องทำงานในเชิงรุก นั่นหมายความว่า เมื่อมีการเข้ามาแจ้งความ นอกจากจะ “ขึ้นโรงพักไม่ต้องฝาก” แล้ว จะต้องเร่งทำคดีแบบ “ปิดให้ครบ จบให้ไว” เพื่อลดข้อครหาและคลายความสงสัย อย่าเก็บข้อมูลไว้ เมื่อเกิดปัญหา เพราะจะกลายเป็นว่าร่วมกันปกปิด และหากยิ่งคดีล่าช้า จะกลายเป็นว่า สมยอมหรือถูกมองว่า “เรียกรับ” เหมือนหลายคดีที่ผ่านมา
การดำเนินการในเชิงรุก ไม่จำเป็นต้องรอเงื่อนไขเวลา สามารถทำได้ทันที แม้จะต้องเหนื่อยมากขึ้น แต่หากมีการกวดขันที่เด็ดขาด และดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว คนที่คิดจะก่อคดีหรือทำไม่ดี ก็จค่อยๆ ลดลง ภาระงานก็จะลดลงตามไปด้วย
ที่นำเสนอมาคัดจากข่าวไทยรัฐออนไลน์มาอีกถ่ายทอดทัศนาแล้วรู้สึกเห็นท้ศนคติที่ควรจะเป็นของตำรวจไทยว่า ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว คำว่า “ปฏิรูป”ปฏิภาพก็ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้กับองค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เลยใช่ไหม
ในขณะที่ความเป็นจริงของสังคมไทยวันนี้ จะเห็นประชาชนที่เดือดร้อนจากมิจฉาชีพ หรือความอยุติธรรม ความรุนแรง อาชญากรรมต่างๆ มีแนวโน้มหันไปพึ่งพา “เพจ” “อินฟลูเอนเซอร์” มากกว่าจะก้าวขึ้น “โรงพัก” ไปแจ้งความขอให้ตำรวจช่วยเหลือเสียอีก
ใช่ว่าเพจโซเชียลมีเดีย อินฟลูเอนเซอร์ หรือเซเลบ รายการทีวีจะมอบความยุติธรรมให้้ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนเหล่านั้นได้ หากแต่เป็นการช่วย “ตีปี๊บ”ลงแส้ให้ตำรวจเต้นไปตามจังหวะสื่อ เร่งรัดคดีให้โดยเร็วพลันเท่านั้นเอง
ก็นับว่า สื่อเพจอินฟลูเอนเซอร์ ต่างๆ ก็นับว่าทำประโยชน์ให้กับสังคมไม่ยิ่งหย่อนหรืออาจจะมากกว่าผู้ที่ต้องทำหน้าที่โดยตรงอย่างตำรวจเสียอีก
แต่เมื่อ “บิ๊กโจ๊ก” หรือพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ฝากนโยบายที่ชัดแจ้งขนาดนี้แล้ว ทำให้อดรู้สึกดีๆไม่ได้ ที่มี่นายตำรวจใหญ่ได้สร้างปลูกฝังแนวคิดให้กับตำรวจที่อยู่กับหน้างาน ให้เห็นแนวทางการทำงานได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องตีความขยายผลอะไรมากนัก
ทำงานเชิงรุก “ปิดให้ครบ จบให้ไว” ไม่ต้องมีใครมาฝากฝัง
ไม่ใช่ประชาชนมีปัญหาอะไร ก็มองหาแต่ “สายไหมต้องรอด” “กัน จอมพลัง” “โหนกระแส” หรือสารพัดสารพันยูทูบเบอร์นักร้องนักแหล่
แทนที่จะไปพึ่ง “สีกากี” ต้นธารของกระบวนการยุติธรรมที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างแท้จริง
ดอนรัญจวน 4/2/2567