คอลัมน์ อาชญา(ลง)กลอน โดย…ธนก บังผล
ไม่บ่อยครั้งนักที่คนส่วนหนึ่งในสังคมจะออกมาเรียกร้องให้ประหารชีวิตผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญ ตั้งแต่ “ไอ้เกม” ฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 13 ปีบนรถไฟแล้วโยนร่างทิ้งกลางทาง จนมีกระแสให้บังคับใช้กฎหมาย ข่มขืน=ประหาร มาถึงคดีกลุ่มลูกตำรวจรุมฆ่าชายพิการที่โจษจันกันทั่วเมืองว่ามีอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไป
สังเกตกันหรือเปล่าครับ ว่าในยุคที่เราๆท่านๆสามารถรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วผ่านทางโทรศัพท์มือถือ อารมณ์ร่วมของกลุ่มไทยมุงที่จ้องจะรุมประชาทัณฑ์นั้นมาเต็มแบบไม่ต้องนัดหมาย ดูอย่างกรณีล่าสุด “ไอ้ต้อม” ผู้ต้องหาฆ่าปาดคอชิงไอโฟน ในพื้นที่ สน.โคกคราม พอตำรวจจับได้ก็มีไทยมุงแห่ไปดูหน้าฆาตกรกันอย่างล้นหลาม พลางยกกระดาษที่มีใจความเรียกร้องให้ประหารชีวิต
เราจะไม่พูดถึงการจ้องจะประชาทัณฑ์ ซึ่งเข้าข่ายทำร้ายร่างกายและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งหากตำรวจไม่สามารถนำผู้ต้องหาไปทำแผนรับสารภาพได้ ก็จะส่งผลต่อการส่งสำนวนคดีให้ศาลพิจารณาลงโทษ
มาว่ากันประเด็นหลักๆเลยครับ เรื่องประหารชีวิต ที่หลายคนอยากเห็นเป็นตัวอย่างสักราย ก่อนอื่นนั้นใจจริงผมเห็นด้วยกับการประหารชีวิตนะครับ โดยเฉพาะ ข่มขืน = ประหาร แต่เรื่องของเรื่องก็คือเรามีกฎหมายในการพิสูจน์ข้อหาของอาชญากรอยู่แล้ว การไปชุมนุมในที่เกิดเหตุเพ่อเรียกร้องนั้นอาจเป็นแค่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ทำได้ครับ
มีข้อมูลจากเว็บไซต์ the MATTER ระบุว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังคงมีโทษประหารชีวิต มีเช่นในปี 2558 มีการตัดสินให้นักโทษถูกประหาร 5 ราย แต่ก็ไม่ได้มีการนำนักโทษไปลงมือประหารแต่อย่างใด ย้อนกลับไปครั้งล่าสุดที่มีการประหารคือ ปี 2552
นั่นเท่ากับว่าประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตนักโทษจริงๆมาแล้วกว่า 7 ปี ซึ่งที่เป็นอย่างนี้เพราะ ทันทีที่ครบ 10 ปี องค์การสหประชาชาติ จะถือว่าเราเป็นประเทศที่ไม่มีการประหารในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง
องค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) รายงานว่าในปี 2015 มีการประหารทั้งสิ้น 1,634 ราย (เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 2014 ที่มีการประหารไป 1,061 ราย) ใน 25 ประเทศทั่วโลก 89% ของการประหารเกิดขึ้นใน 3 ประเทศคือ อิหร่าน ปากีสถาน และ ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งที่เขาพยายามต่อต้านกันก็เพราะส่วนหนึ่งการประหารในประเทศข้างต้นมักไม่ได้มีที่มาจากข้อหาร้ายแรง ส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานการเป็นรัฐศาสนา
ดังนั้น คดีการคบชู้ การแสดงความไม่เคารพต่อพระเจ้า ฉ้อโกง ไปจนถึงการตั้งคำถามต่อนโยบายของผู้นำ บทลงโทษคือประหารชีวิต
มีคำถามคือ การประหารชีวิตทำให้สถิติการเกิดอาชญากรรมน้อยลงจริงหรือ?
ในเว็บไซต์นี้ อ้างอิง John Lamperti ศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ จาก Dartmouth College สหรัฐอเมริกา ได้ข้อสรุปว่า โทษประหารไม่ได้ลดการฆาตกรรม แต่ผลที่เจอกลับสวนทาง ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ การมีอยู่ของการประหารมันเหมือนเป็นการให้ความชอบธรรมกับการฆ่า การกำจัดศัตรู ซึ่งพอดูในรายงานหลายๆ ฉบับเช่นจากลอนดอนหรือนิวยอร์กก็พบว่าอัตราการฆาตกรรมนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นกับการมีอยู่ของโทษประหารชีวิต
คือแทนที่จะเป็นไปตามที่เราเชื่อว่าการประหารเป็นการชะลอหรือลดการฆาตกรรม ผลกลับตรงข้าม
ข้อสังเกตเพิ่มเติมของศาสตราจารย์เองคือ ไปดูสถิติการฆาตกรรมในประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต สิ่งที่พบคือ อัตราการฆาตกรรมในประเทศเหล่านั้นก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ถ้าถามผม ว่าข้อมูลของระดับศาสตราจารย์จากอเมริกา ดีงามเพียงใด ผมก็บอกได้เพียงง่ายๆว่า ถ้าครอบครัวใครไม่เจอมันก็ไม่รู้สึก วิสัยปุถุชนธรรมดาย่อมมีความแค้นเป็นปกติ จนกระทั่งสติกลับมาแล้วไตร่ตรองดูนั่นละครับ จึงจะลดอารมณ์อาฆาตพยาบาทลงได้
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีคดีอุฉกรรจ์ สะเทือนขวัญอยู่หลายกรณี เรามีการเรียกร้องให้ผู้ต้องหาได้รับโทษประหารชีวิต และดูเหมือนตำรวจเองก็เล่นด้วย เพราะบางคดีมันก็ก่อเหตุเกินกว่าที่คนเขาทำกัน
เมื่อศาลตัดสินตามข้อหา ให้ประหารชีวิต กระแสสังคมก็ดูจะพอใจและก็ลืมเลือนมันไปตามกาลเวลา ทั้งๆที่ความจริงคือ ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทยแล้ว สาเหตุคือเพราะต้องการให้องค์การสหประชาชาติยกย่องเทียบเท่าประเทศอื่นๆที่มีอารยะกัน
ประเด็นที่สังคมไทย เมืองแห่งพระพุทธศาสนา ควรเก็บมาใคร่ครวญกันเพื่อหาทางออกในอนาคตร่วมกันคือ เมื่อประหารชีวิตนักโทษแล้ว จะทำให้คนร้ายเกรงกลัวที่จะก่อคดีอาชญากรรมน้อยลงจริงหรือ
ความคิดเห็นของผมเองก็คงจะบอกว่า ไม่น่าเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ควรมีการประหารชีวิตจริงๆ อย่างน้อยหากอาชญากรยังมีความเป็นคนอยู่บ้างก็อาจจะระงับจากฆ่าคนตายมาเป็นทำร้ายร่างกายก็พอ