สถานการณ์โลกในปัจจุบัน เกิดเหตุรุนแรงไม่คาดฝันบ่อยครั้ง
อาทิ คนร้ายใช้ปืนยิงกราดสังหารคนตายหลายสิบคน อย่างเหตุที่เกิดขึ้นที่นิวซีแลนด์ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ล่าสุดเกิดเหตุกราดยิงอีก ในงานเทศกาลอาหารในเมืองกิลรอย ตอนเหนือรัฐคาลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
มีคนตาย3ศพ ขณะที่คนร้ายถูกวิสามัญฯภายในไม่กี่นาทีหลังเหนี่ยวไกก่อเหตุ
ในเมืองไทย ตำรวจไทยตื่นตัวในเรื่องนี้ มีการฝึกซ้อมเพื่อรับสถานการณ์ดังกล่าวที่ไม่รู้จะเกิดเมื่อไหร่
พล.ต.ต.สำราญ นวลมา ผบก.สปพ.บช.น. หรือผู้การ191ตระหนักถึงสถานการณ์ที่ว่า
พร้อมเปิดเผยถึงโครงการฝึก หลักสูตร “ACTIVE SHOOTER” ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลส่งข้าราชการตำรวจให้ บก.สปพ. ฝึกยุทธวิธีตำรวจให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝัน
มี พ.ต.อ.ปิยรัช สุภารัตน์ ผกก.งานสายตรวจ.(191)บก.สปพ.เป็นผู้จัดฝึกสอนว่า
ทุกวันนี้มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเริ่มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมทั้งยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าวันหนึ่งมีเหตุการณ์ ตำรวจสายตรวจเจอคนร้ายคลั่งพกพาอาวุธปืนมากราดยิง ไม่เลือกว่าใครเป็นใคร
ถึงวลานั้นตำรวจสายตรวจโรงพัก จะทำอะไรได้บ้าง จะรอหน่วยอรินทราช หรือ SWAT ต้องใช้เวลา เพราะหน่วยกำลังพวกนี้มีขั้นตอนในการเคลื่อนย้ายกำลังออกจากที่ตั้ง ต้องใช้เวลา
การรอ อาจทำให้ตำรวจที่ปะทะกับคนร้ายต้องเกิดการสูญเสียได้ หรือคนร้ายอาจใช้อาวุธทำอันตรายผู้บริสุทธิ์ไปแล้วหลายชีวิต
ดังนั้นพล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น.สั่งการให้จัดฝึกหลักสูตรนี้ขึ้น เพื่อให้ตำรวจสายตรวจของสถานีตำรวจนครบาลเป็นเสมือนกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว
ไปที่เกิดเหตุแล้วมีทักษะ มียุทธวิธี มีแบบแผน ในการยุดยั้ง สยบคนร้ายได้ทันท่วงที ได้ทราบหลักการเผชิญเหตุ และกฏการใช้กำลัง
มีหลักคิดเป็นแนวทางให้เกิดความปลอดภัยแต่ตัวข้าราชการตำรวจที่เข้าปฏิบัติหน้าที่และเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย
พ.ต.อ.ปิยรัช สุภารัตน์ ผกก.สายตรวจ บก.สปพ.บช.น.ได้นำหลักสูตร ASIM ACTIVE SHOOTER INCIDENT MANAGEMENT ที่ได้รับจากการคัดเลือกให้ไปรับการฝึกจากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 2559
นำมาฝึกให้กับตำรวจสายตรวจในสังกัด เพราะจำเป็นต้องรู้ ในการแก้ไขเหตุ เป็นยุทธวิธีของตำรวจสายตรวจที่ต้องรู้
โดยตำรวจที่อเมริกาเร่งถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นสายตรวจ ชุดสืบสวน เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ร่วมกันเป็นร่วมแบบของ Task Force หรือกำลังเฉพาะกิจ
เข้าร่วมทีมกันแก้ไขปัญหา ถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น กว่าจะรอหน่วยปฏิบัติการพิเศษมาถึงต้องใช้เวลา
ดังนั้นสายตรวจที่เผชิญเหตุคนแรก จะต้องมีความรู้ ต้องมีทักษะ
ไม่ใช่ว่าเจอที่เกิดเหตุแล้วจะปิดล้อมที่เกิดเหตุอย่างเดียว ต้องทำอะไรได้มากกว่านั้น
ควรต้องมีความรู้ความสามารถในการเจรจาต่อรองกับคนร้ายได้ เป็น First Negotiator ได้ มีทักษะ มีรูปแบบในการเจรจา เจาะเข้าไปในจิตใจของคนร้ายได้ ดูเรื่องอารมณ์ ว่าต้องการอะไร
ทั้งหมดเป็นไปตามทฤษฏีโดนัท ของเอฟบีไอ รวมอยู่ในหลักสูตรการฝึกสอนการบริหารเหตุวิกฤต
เราจะให้หลักการว่า ไปถึงที่เกิดเหตุต้องทำอะไร ขั้นตอนแรก ขั้นตอน 2 และ 3 จะต้องสื่อสารกับใคร จะต้องจำกัดพื้นที่คอนโทรลพื้นที่ยังไง ต้องสื่อสารไปที่ใครบ้าง
ดังนั้นจะต้องมีแบบแผนในใจตลอด สามารถโต้ตอบกับคนร้ายได้ว่าต้องการอะไร มีรูปแบบในการเจรจา เจาะเข้าไปในจิตใจของคนร้ายได้ ว่าต้องการอะไร
พ.ต.อ.ปิยรัช กล่าวต่อว่า การเป็นสายตรวจไม่ใช่ตรวจอย่างเดียว ต้องเข้าไปแก้ไขเหตุการณ์ได้
อุปกรณ์ก็สำคัญ ต้องรู้ว่าจะต้องใส่อะไรป้องกันตัว ต้องใช้อาวุธที่ดี ต้องใช้อาวุธปืนได้อย่างแม่นยำ รู้หลักการปฏิบัติรูปแบบการเคลื่อนที่เป็นทีม รู้เรื่อง ABC Cover
รวมทั้งต้องวางตัวในเสื้อเกราะให้ได้ว่าต้องใช้ท่าอะไร และต้องรู้ว่าอะไรใช้เป็นที่กำบังได้ อย่างเช่น ยืนอยู่หลังประตูไม้ต้องรู้ว่ากระสุนขนาดไหนทะลุเข้ามาได้
รถยนต์ก็เหมือนกันตรงไหนสามารถใช้เป็นที่บังได้ต้องเป็นส่วนหนาของรถเช่นหลังรถ ถ้ามีเหตุเกิดขึ้น ต้องขับรถไปจอดตรงไหน เคลื่อนที่เข้าไปยังไง
ไปเป็นทีมจะสื่อสารกันแบบไหน ถ้ามีบันไดจะขึ้นยังไง ผ่านโถงทางเดินยังไง ก่อนเข้าห้องต้องทำแบบไหน เข้าไปแล้วต้องวางตัวยังไง จะมีทิศทางไหนจัดการคนร้ายได้อย่างเหมาะสม
จุดไหนสมควรใช้อาวุธได้ เราจะอธิบายว่าจุดไหนมันแย่ จุดไหนเหมาะสม อาจจะไม่ใช้คำว่าถูกหรือผิด” เพราะยุทธวิธีมันไม่มีคำว่าถูกผิด มันมีแค่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
ถ้ามันแย่ ตำรวจก็อาจจะตาย รวมทั้งถ้าไปกันหลายหน่วย จะมีวิธีใดเป็นสัญลักษณ์บอกฝ่าย เพื่อป้องกันการยิงกันเองเมื่อมีเหตุชุลมุนเกิดขึ้น เมื่อไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนร้ายหรือเจ้าหน้าที่
ทั้งหมดนี้เรียนรู้มันเป็นประโยชน์ เป็นหน้างานของสายตรวจ ทุกคนต้องรู้สิ่งที่มาฝึกเป็นสิ่งที่สำคัญ
ไม่ใช่ฝึกเสร็จคิดว่าได้เป็นฮีโร่แล้ว กระสุนมันไม่เลือก ถ้าโดนก็ตายหมด
ดังนั้นต้องมียุทธวิธีที่ดี หน้างานไม่มีใครไปบอกไปสอน แต่มันต้องมีหลักการ
ทุกวันนี้ให้สายตรวจในสังกัดต้องมีเสื้อเกราะติดรถไว้ สามารถประกอบทีมได้ตลอดเวลา ถึงแม้ออกเวรแต่ถ้าเจอเหตุการณ์จะทำอย่างไร ให้ทุกคนเตรียมความพร้อม
มีกระเป๋าหนึ่งใบ เรียกว่ากระเป๋า เอ ซิม ภายในจะมี เสื้อเกราะ อุปกรณ์การแพทย์ กุญแจมือ ไฟฉายสำรอง สายห้ามเลือด กระสุนสำรอง ยารักษาโรค แท่งเรืองแสง สัญลักษณ์บอกฝ่าย ติดตัวตลอดเวลา
ผลที่สุดที่เราทำผลประโยชน์ก็ตกสู่พี่น้องประชาชนได้รับการคุ้มครองปกป้อง
พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการฝึกโครงการนี้ เพราะประโยชน์จะตกสู่ประชาชน ถ้าตำรวจมียุทธวิธีที่ดี ประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็จะปลอดภัย
เนื่องจากตำรวจสามารถเข้าไประงับยับยั้งเหตุที่มันร้ายแรงได้
คนร้าย บางทีไม่ต้องใช้ความรุนแรงถึงชีวิตแค่ตอบโต้ด้วยการการใช้ความละมุนละม่อนก็ควบคุมสถานการณ์ได้
ถ้าต้องใช้กำลังระดับสูงสุด เราก็ใช้ได้อย่างมีรูปแบบ ไม่ต้องเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างเพราะฝึกมาแล้ว
การฝึกเริ่มต้นไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผบช.น.ต้องการให้ตำรวจ 88 โรงพัก ในสังกัดบช.น.ได้เข้าร่วมฝึกด้วย
ที่ผ่านมามี ตำรวจจาก บก.น.5. สน.บางนา ทุ่งมหาเมฆ บางโพงพาง พระโขนง ลุมพินี ทองหล่อ คลองตัน มาเรียนรู้แล้ว
บก.สปพ. ได้ผลิตบุคลากร มาเป็นชุดสาธิต ครูฝึก เป็นหลักแม่แบบ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าหน่วยเราจะเก่งเหนือใคร
แค่เพียงแต่พยายามหมั่นเรียรรู้ฝึกฝน เปิดรับ เพื่อแนะนำถ่ายทอดให้กับตำรวจ เพราะมันเป็นวิชาชีวิตที่เขาจะได้รับความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่