วันที่ 27 ส.ค.66 พล.ต.ต.นครินทร์ สุคนธวิท ผบก.น.6 เผยถึงกรณีที่วันพรุ่งนี้ (28 ส.ค.) ทางกรมราชทัณฑ์จะเปิดโอกาสให้ญาติของ นายทักษิณ ชินวัตร เข้าเยี่ยมอาการที่ รพ. ตำรวจ ว่า ตั้งแต่ได้รับการประสานจากทาง รพ.ตำรวจ เรื่อง นายทักษิณ ชินวัตร จะถูกส่งตัวจาก รพ.ราชทัณฑ์ มารักษาอาการที่ รพ.ตำรวจ ได้สั่งการให้ สน.ปทุมวัน จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเอาไว้สนับสนุน กรณีอาจมีบุคคลไม่หวังดีก่อเหตุวุ่นวายจนทำให้กระทบต่อการควบคุมตัวผู้ต้องขังสำคัญ แนวทางปฏิบัติ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่ได้กำชับให้กำลังพลทุกนาย ที่ได้รับมอบหมายภารกิจ สามารถเข้าสู่พื้นที่ รพ.ตำรวจ ได้ใน 15 นาที
ผบ.เรือนจำ เผยกฎ กติกาเยี่ยม”ทักษิณ”ที่รพ.ตำรวจ ยันยื่นขออภัยโทษได้ เอกสารต้องครบ “คุณความดี-รักษาป่วย”
ส่วนเงื่อนไขการเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รพ.ตำรวจ เมื่อเวลา 13.25 น. วันเดียวกัน นายนัสที ทองปลาด ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามระเบียบนั้นก่อนที่นายทักษิณ จะเข้าเรือนจำจะต้องเขียนรายชื่อผู้ที่สามารถเข้าเยี่ยมได้ไม่เกิน 10 รายชื่อต่อวัน จากนั้นผู้ที่ประสงค์จะเข้าเยี่ยมต้องมาระบุวันที่-ลงชื่อกับเจ้าหน้าที่เรือนจำไว้ก่อน เมื่อถึงวันที่ลงทะเบียนไว้ให้เดินทางมาที่เรือนจำเพื่อมาดูรายชื่อว่าสามารถเข้าเยี่ยมได้หรือไม่ โดยจำกัดผู้ที่สามารถเข้าเยี่ยมได้ไม่เกิน 10 คน ใน 1 วัน 1 ครั้ง ครั้งละ ไม่เกิน 40 นาที
นายนัสทีเผยอีกว่า ในวันพรุ่งนี้มีรายชื่อผู้ที่ประสงค์จะเข้าเยี่ยมครบแล้วเป็นรายชื่อบุคคลในครอบครัวทั้งสิ้นแต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เริ่มเข้าเยี่ยมได้ในเวลาราชการ ตั้งแต่ 09.00 – 15.00 น. หรือสามารถเยี่ยมผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ระหว่างการสนทนาทั้งแบบเจอตัวหรือผ่านกล้อง จะมีผู้คุมคอยอยู่ใกล้ๆเสมอ
ส่วนเกณฑ์เเละขั้นตอนการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ นายนัสทีกล่าวว่า ขอเรียนอธิบายอย่างชัดเจนว่าเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังเด็ดขาดทุกรายสามารถดำเนินการได้ กระบวนการจะเริ่มต้นที่ราชทัณฑ์ ส่วนผู้ต้องขังเด็ดขาดจากรายคดีใดจะได้รับการอภัยโทษหรือไม่นั้น ไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ แต่ยืนยันว่านักโทษเด็ดขาดทุกคดีสามารถเขียนทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ทั้งหมด
ส่วนหน้าที่ของเรือนจำฯ หลังจากที่ผู้ต้องขังยื่นขอพระราชทานอภัยโทษนั้น จะตรวจสอบเอกสารแนบ ตรวจสอบข้อความ ตรวจกระบวนการและจะส่งต่อไปตามลำดับชั้น คือ 1.กรมราชทัณฑ์ รายงานไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่ามีการเขียนทูลเกล้าฯถวายฎีกา 2.กระทรวงยุติธรรม 3.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 4.สำนักราชเลขาธิการ จากนั้นจะเป็นการนำความขึ้นกราบบังคมทูล ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และเมื่อมีผลฎีกาไม่ว่าจะเป็นการพักโทษ ลดโทษ พ้นโทษ หรือยกฎีกาจะมีการแจ้งมายังเรือนจำ/ทัณฑสถานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายนัสทีกล่าวอีกว่า การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย มีระเบียบตามที่กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมได้กำหนดไว้ คือ จะมีแบบฟอร์มคำร้องแบบบังคับของเรือนจำฯ และในเอกสารส่วนที่จำเป็นต้องใช้ประมาณ 7-8 รายการ อาทิ เอกสารรายงานคุณงามความดี เอกสารทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งผู้ต้องขังสามารถดำเนินการเองได้ หรือจะเป็นญาติทางสายเลือดที่ดำเนินการแทน แต่เอกสารต้องครบถ้วนและถูกต้อง