ตำรวจ ปคบ.ร่วม อย. บุกทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอาง น้ำยายืดผมปลอม ส่งขายแพลตฟอร์มออนไลน์ ยึดของกลางมูลค่าเกือบ 4 ล้านบาท
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 ม.ค.67 ที่ กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. พร้อมด้วย เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
ร่วมแถลงผลปฏิบัติทลายโกดังทุนจีนขายน้ำยายืดผมปลอมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และ แหล่งผลิตจำหน่ายเครื่องสำอางปลอม รวม 2 คดี
พล.ต.ต.วิทยา กล่าวว่า คดีแรกบุกทลายโกดังทุนจีนย่านบางบอน หลังพบมีการขายน้ำยายืดผมปลอมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มี น.ส.อัลยา (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี เป็นผู้ดูแล นำตรวจค้นพร้อมของกลางเครื่องสำอางเถื่อนกว่า 1 หมื่นชิ้น รวมมูลค่ากว่า 4 แสนบาท
หลังก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก “อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part 6” ได้โพสต์ภาพวิดีโอผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์น้ำยายืดผมปลอมยี่ห้อดังแล้วผมหลุดร่วงเป็นจำนวนมาก หลังจากสั่งซื้อมาจากแอปพลิเคชัน TikTok ร้าน LK live shop และ RSAN live shop จึงจัดกำลังลงพื้นที่สืบหาหาเบาะแส จนทราบว่ามีการเช่าโกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงบางบอนใต้ เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ใช้เป็นสถานที่เก็บและกระจายสินค้า จึงนำหมายค้นเข้าตรวจสอบ จนนำมาสู่การตรวจยึดของกลางทั้งหมด พร้อมจับกุมตัวน.ส.อัลยา คนดูแลสถานที่ดังกล่าว
พ.ต.อ.วีระพงษ์ กล่าวว่า จากการสืบสวนยังทราบว่าร้าน LK live shop และร้าน RSAN live shop นั้นมีเจ้าของเป็นกลุ่มนายทุนชาวจีนเป็นกลุ่มทุนเดียวกัน สินค้าเครื่องสำอางปลอมและเถื่อนต่างๆนั้น จะถูกลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีนก่อนนำมาจัดเก็บไว้ที่โกดังย่านบางบอน เพื่อรอการจำหน่าย มียอดขายต่อเดือนประมาณ 3 ล้านชิ้น ทำมานาน 1 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายผลเพื่อเอาผิดกลุ่มนายทุนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่นๆต่อไป
พล.ต.ต.วิทยา กล่าวต่อว่า คดีที่ 2 เป็นการนำกำลังเข้าตรวจค้น พื้นที่เป้าหมาย2 จุดใน จ.ปทุมธานี หลังทราบว่าถูกใช้เป็นสถานที่ผลิต และสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม ส่งขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ shopee ชื่อร้าน “Kunying Beauty Shop”
จากการตรวจสอบสถานที่ทั้ง 2 แห่ง พบอุปกรณ์การผลิต รวมถึงเครื่องสำอางปลอม ถูกแพ๊คเตรียมพร้อมส่งขายให้กับลูกค้าจำนวนมาก มูลค่ารวมกว่า3 ล้านบาท ตรวจยึดทั้งหมดเป็นของกลาง
พ.ต.อ.วีระพงษ์กล่าวว่า สืบสวนทราบว่า โรงงานผลิตเครื่องสำอางปลอมดังกล่าวนั้นเป็นของ น.ส.ศิริลักษณ์ (สงวนนามสกุล) เริ่มจากการใช้บ้านในพื้นที่ ต.คลองสี่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นสถานที่ในการผลิต จากนั้นส่งมาจัดเก็บที่บ้านพักในพื้นที่ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อรอการบรรจุ และจำหน่ายให้กับลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ shopee ชื่อร้าน “Kunying Beauty Shop” โดยทำมานานกว่า 5 ปี
อย่างไรก็ตามในขณะที่เข้าตรวจสอบสถานที่ทั้ง 2 แห่ง จึงเชิญตัวผู้ดูแลสถานที่ มาสอบปากคำ โดยหลังจากนี้ จะส่งของกลางทั้งหทดไปตรวจตรวจพิสูจน์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื้อดูว่ามีสารต้องห้ามหรือสารอันตรายผสมอยู่หรือไม่ จากนั้นจะรียกตัวมาแจ้งข้อหาต่่อไป เบื้องต้นพบเป็นความผิด พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ข้อหาผลิตและขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ก่อนเตรียมขยายผลเอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่นๆต่อไป