ผบช.ก. นำคณะดูงานและเข้าหารือกับตำรวจเซี่ยงไฮ้ และ หางโจว ประสานความร่วมมือปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการใช้ AI ในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. นำคณะตำรวจในสังกัดบช.ก.ประกอบด้วย พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปคม.พล.ต.ต.คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล. ,พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผบก.รน,.พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รองผบก.ป.,พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รองผบก.ป.
เดินทางไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้ และ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าหารือ และ ดูงานเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึง การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
สำหรับที่เมืองเซี่ยงไฮ้ พล.ต.ท.จิรภพ และคณะ เข้าหารือกับหัวหน้าและคณะทำงานของศูนย์สืบสวนป้องกันปราบปรามอาชญากรรมการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมของตำรวจนครบาลเซี่ยงไฮ้ (CID) เพื่อพูดคุย และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันปราบปราบอาชญากรรมออนไลน์ ทั้งสองหน่วยงานได้ตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างความร่วมมือเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกัน
ส่วนที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง คณะฯ ได้ศึกษาดูงานที่ศูนย์สั่งการตำรวจจราจรเมืองหางโจว (Hangzhou Traffic Police Command Center) ได้นำเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบมาเพื่อใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลการจราจร โดยมีการพัฒนาระบบรวมศูนย์ (Big data) และ การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการรักษาความปลอดภัย ปราบปรามอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีส่วนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการตัดสินใจ แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาดูงาน บริษัท เทคโนโลยีชั้นนำ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และ หางโจว อีกหลายบริษัทฯ อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น บริษัทที่มีการเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาระบบ AI ในการบริหารจัดการองค์กร, การป้องกันความมั่นคงทางด้านไซเบอร์, ระบบปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมที่ทันสมัย รวมถึงอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ เช่น กล้องวงจรปิดความละเอียดสูง เพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมรูปแบบต่างๆอย่างครบวงจร
พล.ต.ท.จิรภพยืนยันว่าที่ผ่านมารัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความสำคัญกับอาชญากรรมออนไลน์ทุกประเภทเป็นอย่างมาก เนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับประชาชน สังคม และระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วน
นอกจากการสืบสวนจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการคอลเซ็นเตอร์แล้ว ก็จะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น การใช้ AI ในการตรวจสอบพฤติกรรมต้องสงสัย บล็อก เพื่อป้องกันการเข้าถึงเหยื่อมากขึ้น
นอกจากนี้ยังจะเน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนโดยการประชาสัม พันธ์รูปแบบการหลอกลวงต่างๆ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งใน และ ต่างประเทศ เพื่อลดความสูญเสีย และตัดโอกาสการเกิดอาชญากรรมออนไลน์ให้ได้มากที่สุด