ศาลอุทธรณ์พิพากษาถึงที่สุดจำคุกจำเลยคดีแชร์ลูกโซ่”ปั๊มน้ำมัน สตาร์ โบรกเกอร์ เซอร์วิส ฯ” 100 ปี ปรับ 5 ล้านบาท – ให้ชดใช้เงินคืนผู้เสียหาย ขณะเดียวกันDSI เล็งใช้ AI ตรวจจับบนระบบอินเตอร์เน็ต !!
วันที่4ต.ค.67 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 (ปัจจุบันคือกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ)ได้สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 24/25557
กรณี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ขอให้ตรวจสอบพฤติการณ์บริษัทสตาร์โบรกเกอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด มีการชักชวนประชาชนเพื่อเข้าเป็นสมาชิกและลงทุนในธุรกิจปั๊มน้ำมัน โดยจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าแนะนำสมาชิก แต่ไม่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ตกลงกันไว้
ทางการสืบสวนสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทฯ โดยกลุ่มผู้บริหารและพนักงานในขณะนั้น บางรายมีพฤติการณ์โฆษณาชักชวนประชาชนทั่วไปผ่านเว็บไซต์ https://starbrokerthaionline.blogspot.com ว่าบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน หากสมัครสมาชิกจะได้รับส่วนลดในการเติมน้ำมันตามสถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ลิตรละ 4 สตางค์ โดยมีค่าสมาชิกแรกเข้า 3,000 บาท
หากแนะนำผู้อื่นมาเป็นสมาชิก จะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าแนะนำในช่วงแรก รายละ 100 บาท ต่อมาภายหลังเพิ่มเป็นรายละ 500 บาท สามารถหาสมาชิกได้ไม่จำกัดและเมื่อเป็นสมาชิกแล้วจะได้บัตรสมาชิกสำหรับใช้แสดงกับสถานีบริการน้ำมันเพื่อขอลดส่วนลดดังกล่าวได้
รวมทั้งถ้าระดมผู้มาสมัครสมาชิกได้มากขึ้นตั้งแต่ 500 รหัสขึ้นไป จะถือเป็นระดับผู้บริหาร ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับเขต มีค่าตอบแทนเพิ่มเติมในฐานะผู้บริหารอีก ตั้งแต่ 12,000 บาท ถึง 600,000 บาทตลอดชีวิต
โดยระดับเขตจะมีรถเบนซ์ประจำตำแหน่ง รวมทั้งยังมีการชักชวนลงทุนในกิจการสถานีบริการน้ำมันรายย่อยขนาด 2 หัวจ่าย ลงทุน 190,000 บาท รับผลตอบแทนในฐานะผู้บริหารร้อยละ 10 ของยอดกำไรขายหลังจากหักค่าใช้จ่ายให้บริษัทตามที่บริษัทกำหนด
รวมทั้งแบบลงทุนในกิจการสถานีบริการน้ำมันรายใหญ่ 700,000 บาท ด้วย ซึ่งเป็นผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราสูงสุดของการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน
ช่วงต้นมีผู้เสียหายบางส่วนได้รับผลตอบแทน แต่ภายหลังบริษัท สตาร์ โบรกเกอร์ฯ กับพวก อ้างธุรกิจขาดทุนและไม่จ่ายผลตอบแทนซึ่งที่จริงบริษัท สตาร์โบรกเกอร์ฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ค้าน้ำมันตามกฎหมาย อีกทั้งไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงตามกฎหมาย จึงไม่มีรายได้โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะจ่ายผลตอบแทนที่สูงดังดังกล่าว
เหตุเกิดช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2556 ต่อเนื่องกัน มีผู้เสียหายเบื้องต้น 360 คน ภายหลัง มีผู้เสียหายเพียง 20 คน เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญา เฉพาะในคดีนี้มีความเสียหาย 3 ล้านบาทเศษ
ทางคดีมีการดำเนินคดีกับบริษัท สตาร์โบรกเกอร์เซอร์วิส (ประเทศ ไทย) จำกัด ผู้บริหารและพนักงานรวม 5 คนในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้าเป็นจำเลยต่อศาลอาญาแล้ว
ต่อมา คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และมีพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 2722-2726/2563 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 3271-3272/2564 ว่า บริษัท สตาร์ โบรกเกอร์ เซอร์วิส(ประเทศไทย) จำกัด
จำเลยที่ 1 นายภักระวี (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2 และนายสุรพล (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 5 มีความผิดตามฟ้องเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุทุกกรรม รวม 20 กระทงโดยปรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล กระทงละ 500,000 บาท
จำเลยที่ 1 และ 2ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน กระทงละ 250,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 5,000,000 บาทให้จำคุกจำเลยที่ 2 จากกระทงละ 5 ปี เหลือกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 จำนวน 40 ปี 120 เดือน
และให้จำคุกจำเลยที่ 5 กระทงละ 5 ปี รวม 100 ปี แต่เนื่องจากคดีความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 จำนวน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2)
และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายแต่ละราย พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยทั้งสามกู้ยืมไปจากผู้เสียหายแต่ละรายเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายแต่ละราย
ส่วนนางสาวสุวิมล (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 3 และนางสาวสุชราภรณ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 4 ศาลเห็นว่าทางการพิจารณา ยังฟังไม่ได้ว่าร่วมกระทำความผิด พิพากษายกฟ้อง
คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์แล้ว โดยมีหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
กรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงขอประชาสัมพันธ์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวมาเพื่อทราบ
ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนไปยังกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์จัดตั้ง “แชร์ลูกโซ่” ว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคกสูงและถูกจำคุกตามจำนวนที่กระทำผิดต่อผู้เสียหายเรียงกระทงความผิด และอาจถูกสำนักงานปปง. ยึดทรัพย์เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
ทั้งนี้ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กำลังพัฒนาระบบเฝ้าระวังการกระทำความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่บนระบบอินเตอร์เน็ตด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อป้องปรามการกระทำความผิดผิดดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น