Saturday, February 22, 2025
More
    Homeข่าวเด่นรอบวันโฆษกสตม.ยันจัดเก็บอัตลักษณ์คนต่างด้าวจากเมียนมาก่อนส่งกลับทุกราย

    โฆษกสตม.ยันจัดเก็บอัตลักษณ์คนต่างด้าวจากเมียนมาก่อนส่งกลับทุกราย

    กรณี นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กกรณีการผลักดันส่งกลับคนต่างด้าว โดยไม่มีการจัดเก็บ Biometrics หรือข้อมูลต่างๆ ไว้เลยถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงต่อการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์

    วันที่ 21 ก.พ.68 เวลา 19.30 น. ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รอง ผบก.ตม.3 ในฐานะโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยกรณีการผลักดันส่งกลับบุคคลต่างด้าวที่รับตัวจากประเทศเมียนมานั้น

    สตม. ขอยืนยันว่าการผลักดันคนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในลักษณะคอลเซ็นเตอร์ที่ถูกส่งตัวมาจากประเทศเมียนมาได้มีการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ( ลายพิมพ์นิ้วมือ และภาพถ่ายใบหน้า ) ลงในบัญชีบุคคลต้องห้าม ( Blacklist ) ของระบบ Biometrics ก่อนดำเนินการผลักดันส่งกลับออกไปนอกประเทศทุกราย

    หากต่อมาภายหลังคนต่างด้าวรายดังกล่าวจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยมีการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล สัญชาติ หรือหนังสือเดินทางก็ตาม ระบบ Biometrics สามารถพิสูจน์ยืนยันบุคคลว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน เพื่อปฏิเสธการเข้าเมืองได้

    อนึ่ง กรณีคนต่างด้าวบุคคลใด หรือสัญชาติใดก็ตาม ที่กระทำความผิด และเคยถูกขึ้นบัญชีบุคคลต้องห้าม ( Blacklist ) ในระบบ Biometrics ไว้ ระบบ ฯ จะสามารถตรวจสอบยืนยันตัวบุคคลได้ทุกกรณีเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ตลอดชีวิต

    โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยถึงกรณีกรณี นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กกรณี สตม.ไม่ได้จัดเก็บข้อมูล Biometrics ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 17 ล้านคน เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมาซึ่งอาจเป็นโอกาสให้ทุนสีเทาแฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรมในประเทศได้ว่า

     ปัจจุบัน สตม. คัดกรองและควบคุมคนต่างด้าว ที่เดินทางเข้าประเทศด้วยระบบสารสนเทศ หลายระบบ ได้แก่ ระบบ Biometrics ซึ่งสามารถบันทึกข้อมูลของทุกคนที่เดินทาง เข้า- ออก ประเทศได้  โดยก่อนอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ จะมีการตรวจสอบว่าคนต่างด้าวเป็นบุคคลต้องห้าม บุคคลที่มีหมายจับ หรือเป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ จากฐานข้อมูลที่ สตม.ได้รับแจ้งและจัดเก็บไว้จากหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหรือไม่ 

    หากคนต่างด้าวไม่มีลักษณะต้องห้าม จะอนุญาตให้เข้ามาในประเทศ ซึ่งข้อมูลการ เข้า-ออก ประเทศของคนต่างด้าวนี้  สามารถตรวจสอบได้ว่าเดินทางเข้ามาในประเทศเมื่อใด ช่องทางใด ด้วยวัตถุประสงค์หรือวีซ่าประเภทใด และเดินทางออกเมื่อใด ช่องทางใด

    ต่อมาเมื่อคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศแล้ว สตม. ใช้ ระบบสารสนเทศอีกระบบหนึ่ง คือ ระบบ PIBICS ในการควบคุมคนต่างด้าว  โดยเมื่อเข้าพักอาศัย ณ ที่ใด ภายใน 24 ชม. สตม.จะมีข้อมูลการรับแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าวนั้น

    หากคนต่างด้าวต้องการจะอยู่ในประเทศเป็นระยะเวลานาน โดยอยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถต่อวีซ่าได้ คนต่างด้าวสามารถยื่นขอต่อวีซ่า ข้อมูลการอนุญาตต่อวีซ่าจะถูกบันทึกรายละเอียดไว้ในระบบนี้ทั้งหมด

    เช่น วัตถุประสงค์ในการอยู่ ระยะเวลาในการที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ สถานที่พัก สถานที่ที่ทำงาน ใบอนุญาตทำงาน รายได้ บัญชีเงินฝาก การเสียภาษี ฯลฯ ตลอดจนหากคนต่างด้าวมีครอบครัวเป็นคนไทย จะเก็บหลักฐานทางทะเบียนต่างๆ เช่น ทะเบียนสมรส ทะเบียนการจดรับรองบุตร เป็นต้น

    นอกจากนี้ระบบยังมีการบันทึกข้อมูลที่พักของคนต่างด้าวเมื่ออยู่ในประเทศทุกๆ 90 วัน  หากคนต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยแล้วต่อมาการอนุญาตสิ้นสุด( Overstay )   และไม่ได้มายื่นต่อวีซ่า  สตม.สามารถตรวจสอบข้อมูลจากระบบสารสนเทศได้ว่าคนต่างด้าวผู้นั้นอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมาย

    จะเห็นได้จากผลการสืบสวนจับกุมของ สตม. มีผลการจับกุมคนต่างด้าวที่กระทำผิด บุคคลที่ต้องการตัว  บุคคลตามหมายจับ หรือบุคคลที่อยู่เกินกำหนดอนุญาต ( Overstay)  จำนวนมากอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยอาศัยข้อมูลจากระบบสารสนเทศดังกล่าวนี้

    โฆษก สตม. กล่าวต่อว่า  กรณีที่ต่อมาภายหลังหากคนต่างด้าวมีการกระทำผิดกฎหมาย หรือ ได้รับแจ้งจากหน่วยงานต่างๆ ว่าคนต่างด้าวนั้นมีลักษณะต้องห้าม จะมีการบันทึกรายชื่อคนต่างด้าวนั้นๆ ลงในบัญชีบุคคลต้องห้าม ( Blacklist )  ซึ่งการบันทึกข้อมูลต้องห้ามนี้จะถูกบันทึกลงในระบบฯ และเก็บอัตลักษณ์ของคนต่างด้าวไว้เพื่อเปรียบเทียบ แม้ในกรณีที่คนต่างด้าวมีการเปลี่ยนแปลงเอกสารการเดินทาง ( Passport ) ในครั้งต่อไป  เมื่อเดินทางกลับเข้ามาในประเทศก็สามารถตรวจสอบยืนยันได้ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน ทำให้สามารถปฏิเสธการเข้าเมืองได้

    การบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมในระบบลักษณะนี้ สามารถจัดเก็บได้อย่างไม่จำกัดจำนวน  ดังนั้นจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อข้อมูลที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตแต่อย่างใด ดังนั้น จากข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่าระบบสารสนเทศ ของ สตม. ยังสามารถควบคุม ติดตามและตรวจสอบ คนต่างด้าว ที่เดินทางเข้ามาและอยู่ในประเทศได้

    ส่วนกรณีข้อมูลของคนต่างด้าวที่ถูกบันทึกลงในระบบฯ ที่ยังไม่มี License นั้น มีการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์คนต่างด้าวตามปกติ เพียงแต่ในส่วนของการประมวลผลบางรายการ อาจลดประสิทธิภาพลงบ้าง แต่ไม่กระทบต่อการควบคุมคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาและอยู่ในประเทศไทยในภาพรวมของ สตม. ทั้งระบบ

    ขณะนี้ สตม. ได้จัดทำโครงการระบบบริหารจัดการตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติ Thailand Immigration System (TIS) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง และหลายประเทศได้มีการใช้งานระบบที่มีลักษณะเดียวกันนี้อยู่แล้วมาทดแทน

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments