คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
โดย…ธนก บังผล
เป็นธรรมดาปุถุชนคนมีความรู้สึก รัก-เกลียด ยิ่งต้องอยู่ในสังคมที่ความขัดแย้งทางการเมืองสูง การแสดงออก “เลือกข้าง” จึงถูกเปิดเผยอย่างชัดเจนและบ่อยครั้ง
มันอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่ควรระวังสำหรับตำรวจไทย (ในยุคทหารครองเมือง-ฮา) ทหารยังมีแตงโม นับประสาอะไรกับโปลิส
แต่ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่เลือกข้าง เหลือง-แดง แตงโมหรือมะเขือเทศ
สิ่งที่สำคัญที่สุดของตำรวจคือไม่ควรแอบอิงกับอำนาจทางการเมือง เพราะผลกระทบที่ตามมาคือเกียรติและศักดิ์ศรีถูกบั่นทอนไร้ค่า การโยกย้ายที่สนองต่อผลประโยชน์ ขั้วอำนาจเหนือผลงาน นับวันยิ่งทำให้ตำรวจกลายเป็นเครื่องมือนักการเมือง
ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ “รัฐตำรวจ” สมัยพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ มือขวาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สร้างขุมกำลังตำรวจเทียบเท่ากองทัพ มีตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม ตำรวจม้า ตำรวจรถถัง มีธงไชยเฉลิมพลเป็นของตัวเอง จนมีคำประชดว่าอาจจะมีตำรวจเรือดำน้ำ
การที่องค์กรตำรวจถูกนำเข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองมากเกินไปในยุคนั้น ทำให้อันธพาลเกลื่อนเมือง มีการรัฐประหาร
ผลสุดท้าย เจ้าของวลีอันลือลั่น “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” ต้องลี้ภัยการเมือง และเสียชีวิตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวัยเพียง 52 ปีเท่านั้น
เมื่อหมดยุครัฐตำรวจ ตั้งแต่นั้นมาหลายหน่วยก็ถูกยุบไปพร้อมๆกับการก่อร่างสร้างอำนาจของทหารขึ้นมาแทน
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเมืองเปลี่ยนโฉมหน้าการเลือกตั้ง ทำให้นักการเมืองมีอำนาจล้นฟ้า ทั้งตำรวจและทหารต่างก็สยบยอมกับนักการเมือง เห็นได้จากโผโยกย้ายที่สามารถระบุตัวได้เลยว่า “ใครเด็กใคร” หรือแม้กระทั่ง “ใครทำโผ” ถ้าจะวิ่งต้องเข้าหาใคร
ชัดเจนที่สุดคือตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร) ที่ฝ่ายการเมืองต่างก็สนับสนุนคนของตนเองให้ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ จนแทบไม่มีใครเกษียณฯอายุคา “พิทักษ์1” มาหลายปี คนดีคนเก่งเป็นตำรวจอาชีพที่ผู้ใต้บังคับบัญชารัก ยังต้องเด้งเพราะดันมาเจอรัฐประหาร
ล่าสุด เห็นตำรวจระดับ “พ.ต.อ.” ยื่นใบขอลาออกจากราชการเพราะคำสั่งโยกย้าย จนกลายมาเป็นคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น
ผู้กำกับการที่ขอลาออกรายหนึ่ง มีกระแสข่าวว่าเป็นตำรวจเลือกข้างทางการเมือง เลยถูกโยกจนแทบหาอนาคตไม่เจอ
จริงอยู่ที่ตำรวจก็คนธรรมดา มีรัก มีเกลียด แต่บทเรียนจากอดีตตั้งแต่ยุค พล.ต.อ.เผ่า จนถึงปัจจุบัน น่าจะทำให้ผู้นำองค์กรวางจุดยืนให้ผู้ใต้บังคับบัญชากว่า 2 แสนนาย ได้อยู่ในที่ๆมีเกียรติ และไม่เป็นเบี้ยล่างให้กับการเมืองเหมือนที่ผ่านๆมา
ก็ได้แต่เพ้อฝันละครับ เพราะโลกแห่งความจริงสังคมไทยยังไปไม่ถึงไหนเลย แค่สายตาที่ประชาชนมองมาด้วยอคติยังแก้กันไม่ได้ เรื่องจะหลุดจากขั้วอำนาจยิ่งยากเกินกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่เกินฝันก็ยังพอมีอยู่บ้าง คือ ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองในที่สาธารณะ รวมถึงการแสดงออกต่างๆ ที่อาจผลักให้เราไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่
ผมเชื่ออยู่ลึกๆครับว่าถ้าตำรวจอยู่เหนือการเมืองได้ การแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีจะกลายเป็นโบนัสของตำรวจที่ทุกคนต้องเฝ้ารอ ไม่ใช่ทำดีแทบตายแต่นายไม่เห็นหัว เฉกเช่นทุกวันนี้