คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
โดย…ธนก บังผล
สถิติไม่เคยโกหกใครแม้มันจะทำให้หลายคนไม่ยอมรับก็ตาม
แต่สำหรับกล้องตรวจจับระบบเลเซอร์ หรือ “เลนเชนจ์” ซึ่งทางกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) นำมาใช้เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นหลักฐานในการจับปรับผู้ขับขี่รถที่มักเข้าใจผิดว่าถนนใน กทม.เป็นของตัวเอง
อยากจะเลี้ยวเมื่อไหร่ตรงไหนก็ได้ โดยเฉพาะกรณีปาดเบียดทางขึ้นสะพานและอุโมงค์ลอดแยก นับจากนี้ไปตำรวจพูดสั้นๆได้แค่คำเดียวว่า “ให้ภาพมันเล่าเรื่อง”
ก่อนหน้าจะบังคับใช้จริง ทาง บก.จร. ก็ได้ทำการทดสอบใช้กล้องตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรใน 15 จุดทั่ว กทม.มาแล้วนะครับ
และเพียงแค่เดือนนั้นเดือนเดียวก็มีสถิติที่น่าตื่นเต้นมาให้ระทึก คือพบผู้กระทำความผิดมากถึง 2แสนราย หรือเฉลี่ยแล้วขำๆ ประมาณ 7,000 คนต่อวัน
แต่ละจุดมีกล้อง 3 ตัว โดยกล้องตัวกลางมีเซ็นเซอร์ตรวจจับรถที่วิ่งเส้นทึบพร้อมกับบันทึกวิดีโอไปด้วย เมื่อเซ็นเซอร์พบรถที่ขับขี่ปาดหน้าก็จะสั่งให้กล้องอีก 2 ตัวถ่ายภาพก่อนและหลังการกระทำความผิด แล้วส่งใบสั่งปรับไปยังทะเบียนบ้านเจ้าของรถที่จดแจ้งไว้
หลักฐานชัดขนาดนี้ “นักปาด” ในตำนานยังต้องอุทาน “คุณพระช่วย”
ทราบหรือไม่ครับว่า หลังจากประกาศใช้เลนเชนจ์อย่างเป็นทางการ วันที่ 9 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 00.01-15.00 น. ในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 15 จุด สถิติทั้งหลายก็ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากแค่ 15ชั่วโมงนั้น บก.จร.พบผู้กระทำความผิดมากถึง 12,000 ราย
จุดที่มีผู้กระทำความผิดมากที่สุดใน กทม. คือ บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง รองลงมาคือ บริเวณแยกอรุณอัมรินทร์
ซึ่งหากคำนวณโดยคร่าวๆ ข้อหาเบียดช่องจราจร เปลี่ยนช่องทางเส้นทึบมีอัตราโทษปรับ 1,000 บาท เฉลี่ยวันละ 10,000 ราย จะต้องมีคนจ่ายเงินเสียค่าปรับตกราวๆ 10ล้านบาทต่อวัน
ลองคิดดูนะครับว่าในแต่ละวัน มีคนชอบขับรถปาดหน้าชาวบ้านออกมาเพ่นพ่านอยู่บนถนนเมืองหลวง 10,000คน บางคนปาดหน้าแบบติดนิสัย บางคนไม่รู้ว่าปาดหน้าผิดกฎหมายเหมือนได้ใบขับขี่มาโดยไม่ต้องสอบ ยิ่งไปกว่านั้นมนุษย์นักปาดบางคนเมื่อไม่คิดว่าตัวเองทำผิด ก็ยังเป็นพวกอารมณ์หวั่นไหวง่าย ขี้โมโห และนิยมพกอาวุธไว้ในรถ
จึงไม่น่าแปลกใจหรอกครับว่าเหตุวิวาทบนถนนที่ถูกแชร์บนโซเชียลมีเดียหลายกรณีเกิดจากบรรดานักปาดไปก่อไว้ที่แยกหนึ่ง ก่อนจะมาเป็นเรื่องในอีกซอยหนึ่งอะไรประมาณนี้
ทุกวันนี้คนทำงานจำนวนไม่น้อยมีค่านิยมอัพเกรดตัวเองให้ดูมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นด้วยการซื้อรถยนต์ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อเป็นหน้าเป็นตาอวดชาวบ้าน หรือต้องการความเป็นส่วนตัวบนถนนก็ตามแต่ ทำให้มีรถยนต์ออกมาวิ่งกันเกลื่อน โดยไม่แคร์สายตาประชาชนว่าเป็นผู้ขับขี่ใช้รถใช้ถนนเข้าข่ายเละเทะสร้างปัญหาหรือเปล่า
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ลองมาดูสถิติอื่นที่น่าสนใจบ้างครับ
ปีที่แล้ว บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการจราจร INRIX เผยรายงานการประเมินสภาพจราจรทั่วโลก หรือ Global Traffic Scorecard Report ระบุว่า กทม.เป็นเมืองรถติดอันดับ 16 ของโลก
ควบตำแหน่งอันดับ 1 ในเอเชีย ทำให้ผู้ใช้ถนนเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 64 ชั่วโมงต่อปี หรือเสียเวลาเฉลี่ย 72 นาทีในแต่ละวัน โดยใช้อีก 24 นาทีต่อวันเพื่อวนหาที่จอดรถ
ด้าน Uber ก็เคยรวบรวมสถิติรถติดในเมืองเทพสร้างของเรา ว่า
กทม.มีรถมากกว่า 5.8 ล้านคัน แต่มีจำนวนคนบนรถ 2.1 คนต่อคันเท่านั้น โดยในช่วงเวลาเร่งด่วน มีรถบนถนน 160% ของปริมาณรถที่เหมาะสม รถจึงติดกว่าปกติ 2 เท่า ทั้งนี้ ต้องมีพื้นที่จอดรถเท่าสนามบินสุวรรณภูมิ 8 แห่ง จึงจะเพียงพอ ไม่นับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พ่นออกมาทำลายสุขภาพอีกมหาศาล
เห็นไหมครับว่าแค่เรื่องอยากมีรถยนต์สักคัน มันมีผลกระทบแบบเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวขนาดไหน
ส่วนใคร หลงใหลการขับรถปาดหน้าชาวบ้านชาวช่องอยากจะปาดต่อไปก็เชิญครับ ค่าปรับ1,000 บาทต่อครั้งของท่าน ถ้าไม่เสียดายก็ตามสบายครับ