ภายหลังมีการแบ่งหน้างานใหม่ เมื่อมีการแต่งตั้งนายพลที่ผ่านมา พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รักษาราชการแทน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.รอง ผบช.น.) ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานจราจร ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่คนเมืองกรุง เป็นวาระระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไข จึงมีโอกาสได้สัมภาษณ์การแก้ไขปัญหาด้านการจราจรเมืองหลวงที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพฯ
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ เปิดเผยว่า “สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจรในขณะนี้ ดำเนินการภายใต้ คณะอนุกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาการจราจรกรุงเทพและปริมณฑล ที่มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธาน โดยคณะอนุฯนี้ แต่งตั้งโดยคณะใหญ่คือ คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาการจราจรกรุงเทพและปริมณฑล ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ซึ่งคณะอนุฯนี้ มีการบูรณาการทุกหน่วยไปในทางเดียวกัน มีการประชุมหลายครั้งแล้ว ก่อนจะมีการตั้งคณะทำงานมา 5 ชุด คือ….
“1.คณะการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและแก้ไขกฎหมาย 2.คณะการปรับปรุงถนน โครงสร้างถนน ปัญหาที่เกิดบนถนนทั้งคอขวด จุดกลับรถ ที่เกี่ยวข้องกับกายภาพทางถนนที่ทำให้จราจรติด ทั้งปาดเกาะเพิ่มถนนและอื่นๆ 3.คณะแก้ไขการจราจรด้านระบบขนส่งสาธารณะ ทั้ง รถ ราง ล้อ เรือ มีกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าคณะ 4.คณะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในการแก้ไขปัยหาจราจร ทั้งกล้องวงจรปิด กล้องจับความเร็ว กล้องฝ่าไฟแดง เลนเช็ค เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี และ5.คณะด้านการประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึก รณรงค์ให้ประชาชนขับรถให้ถูกกฎจราจร มีกรมประชาสัมพันธ์เป็นหัวหน้า โดยทั้ง 5 คณะนี้ จะไปทำงานก่อนมาปรับปรุง”
พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวต่อว่า “ขณะนี้คณะด้านกฎหมาย กำลังเร่งแก้ไขเรื่องใบสั่ง ที่คนไม่กลัว ไม่มาชำระค่าปรับ ตอนนี้เหลือคนมาชำระไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีบทลงโทษที่หนัก อย่างฝ่าไฟแดงแรกๆก็กลัวกัน แต่ตอนนี้เฉยๆ สุดท้ายจึงมาแก้กฎหมายว่าทำยังไงให้คนมาชำระค่าปรับ ตอนนี้กำลังจะไปแก้ให้กรมการขนส่งชะลอการจดทะเบียนได้ หากพบว่าไปยื่นจดทะเบียนแล้วตรวจสอบมีใบสั่งค้างอยู่ก็ต้องชำระก่อน ซึ่งตอนนี้ ตร.ก็สามารถชำระผ่านระบบอีคอมเมิร์ส ผ่านตู้เอทีเอ็ม เคาร์เตอร์เซอร์วิส หรือช่องทางอื่นๆได้แล้ว หากขนส่งพบมีใบสั่งต่อไปอาจจะชำระได้เลย ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการในขั้นตอนนี้อยู่ ทางตร.ได้ไปเสนอกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แล้วว่าทำยังไงจะแก้ในส่วนนี้ได้”
“อีกส่วนคือ หากขนส่งไม่อายัด กำลังดูเรื่องค่าปรับ เช่น ใบสั่งไปครั้งแรก 400 บาท หากเกิน 7 วันไม่มาเพิ่มเป็น 1,000 บาท หรือ 2,000 บาทได้ไหม เพื่อให้เกินกว่าที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ หากปรับไม่ได้ก็ต้องส่งศาล ตอนนี้มีหลายแนวทางที่กำลังปรับแก้ เรื่องการทำใบสั่งให้ศักดิ์สิทธิ์ถือว่าจำเป็นที่สุด แม้เพิ่มเทคโนโลยีไป แต่คนไม่กลัวก็ไม่มีความหมาย บางคนว่าคนไทยขับรถไม่ดี ไม่รักษากฎจราจร แต่ความจริงไม่ใช่ คนไทยไปเมืองนอกทำไมขับดี ฝรั่งขับดี ฟแดงหยุด ความเร็วตามกำหนด แต่พอมาอยู่ไทยขับแย่เหมือนกัน เคยถามฝรั่งว่าทำไมขับในไทยขับรถแย่ ฝรั่งยังบอกว่าที่เมืองนอกค่าปรับแพง ไม่เสียค่าปรับก็เรียกขึ้นศาลเลย ”รรท.รอง ผบช.น.กล่าว
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวถึง เรื่องการแก้ไขการจราจรติดขัดว่า “ตอนนี้ถนนเราน้อย แต่รถเรามาก หากยิ่งไม่รักษากฎจราจรอีก ยิ่งติด หากรักษากฎไม่แซงกัน ไม่ปาดหน้าซ้ายขวา มาช้ารถติดก็เข้าคิวไป คนไม่รักษากฎก็ไปแซง ไปเบียด คนไม่อยากให้แซงก็ปิด ปิดไม่ทันชนกันก็เกิดอุบัติเหตุ ทำให้จราจรติดขัดหนักไปอีก แต่หากแซงซ้ายได้พอถึงสะพานตบขึ้นแซงไปก่อน เป็นตัวอย่างไม่ดี พอคนอื่นเห็นทำได้ก็ทำตาม ทำให้มีปัญหาเข้าไปอีก” ถามว่าได้รับหน้าที่คุมงานจราจรเมืองหลวง มีเรื่องไหนที่กังวลหรือไม่
“ห่วงตรงว่า ณ ตอนนี้มีการก่อสร้างไม่รู้กี่โครงการบนถนน โครงการรถไฟสายต่างๆ การทำอุโมงค์ โครงการอื่นๆอีกเยอะ ซึ่งแต่ละโครงการก็เสร็จปี 61-62-63 ทั้งนั้น จึงเชื่อว่าจากนี้ต่อไป 3 ปีข้างหน้า การจราจรก็ยังคงติดขัดหนัก หากยังไม่หันมาใช้รถสาธารณะ แต่เราก็ไม่ได้ท้อ ตอนนี้สั่งการตำรวจจราจรทุกคนลงพื้นที่ ตรงไหนรถติด ลงไปโบกรถ ไปดูแลรถ มีปัญหาตรงไหนก็ไปแก้ โครงการของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. ที่แก้ไข 21 สายที่ติดขัด เราก็ไปดู เส้นไหนรถสาธารณะจอดแช่ป้าย จอดสะเปะสะปะ จอดป้ายรถเมล์ จอดสถานีรถไฟฟ้า ตรงนี้ก็ต้องไปแก้ ตรงไหนขอคืนพื้นที่จากการก่อสร้างได้ก็ไปขอคืนมา แบริเออร์ที่เบียดมาเหลือเลนครั้ง ก็ไปดูขยับอีกวิ่งได้ 2 เล่น หรือ 2 เลนวิ่งได้ 3 เลน มันก็ดีขึ้น “
“ตอนนี้ไปสั่งการที่ บก.02 ( บก.จร.) ในการดูแลการจราจรทั้งกรุงเทพฯ หากเราจะทำให้เคลื่อนไหวได้ดี กำลังตำรวจต้องเข้าจุดเร็วทั้งเช้าและบ่าย ใช้ทฤษฎีพร่องน้ำเร่งรถคันแรก ตี 5 ครึ่งรถเริ่มมาแล้วเข้าเมือง เช็คทางวิทยุทุกเช้า กรุงเทพนทุกด้าน ไม่ว่าจะดอนเมือง วิภาวดี พหลโยธิน บางนา-ตราด เพชรเกษม พุทธมณฑล ซึ่งด้านแรกที่รถเข้ามา บอกให้จราจรไปสำรวจตั้งแต่ตี 5 มีรถเสีย อุบัติเหตุ รถใหญ่ รถบัส รถเมล์ สิบล้อ มีเสียไหม ขวางถนนหรือไม่ ต้องเร่งเคลียร์พื้นที่ให้หมด เวลาประมาณ ตี 5 ครึ่งรถเข้า ก็จะเร่งระบายให้หมดถนน โดยการจราจรก็ต้องไหลลื่นประสานกัน รถจากวงนอกเข้าวงใน หน้าโรงเรียนที่มีรถมาส่ง ก็ต้องมาส่งออกให้เร็ว ข้างหลังมันจะไปได้เร็ว ตำรวจก็เริ่มรู้วิธี ปรับสัญญาณไฟให้สัมพันธ์กัน ช่วง 7 โมง ถึง 7 โมงครึ่ง หน้าโรงเรียนแต่ละแห่งรถติดมาก ตำรวจก็ต้องร่วมกับโรงเรียน และผู้ปกครอง ส่งบุตรหลานเสร็จก็รีบขับออกใช้เวลาให้น้อยที่สุด ช่วยกันมันก็ไปได้ ใช้วิธีนี้ตั้งแต่เริ่มมารับตำแหน่ง” พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าว
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ยังกล่าวถึงการทำงานด้านจราจรของตำรวจแต่ละพื้นที่ด้วยว่า “อย่างสะพานข้ามแยกรัชโยธินที่ปิด ทำให้ถนนลาดพร้าว ซึ่งถนนลาดพร้าวรถติดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของกรุงเทพฯ ก็ไปคุยกับจราจรแต่ละพื้นที่ ทั้ง สน.วิภาวดี สน.พหลโยธิน สน.โชคชัย สน.ลาดพร้าว ก็ต้องร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ไปทำให้รถคล่องตัว ถนนที่รถเข้ามาตั้งแต่แยกบางกะปิ สุวินทวงศ์ เข้ามารับเป็นช่วงๆ ให้สัมพันธ์กัน เพราะหากแต่ละพื้นที่ปล่อยรถในพื้นที่ตัวเองให้โล่ง แต่พื้นที่อื่นติดไม่ได้
ภาพรวมใหญ่ๆตอนนี้ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะไปส่งลูก แล้วไปที่ทำงานต่อ ต่อไปหากมีเทคโนโลยีมาช่วยได้ มีเซ็นเซอรับรถแต่ละถนน แจ้งมาตู้ควบคุมสัญญาณไฟ แจ้งมา บก.02 ก็จะดีขึ้น พยายามผสายกันระหว่างประสบการณื อุปกรณ์ เทคโนโลยี หากทำได้ดีก็จะช่วยได้ในส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ต้องก้าวไปให้ถึงจุดนั้น ซึ่งหลังปี 63 รถไฟหลายสายจะเสร็จก็น่าจะดีขึ้นอีก ” นี่คือแผนงานในการปรับแก้ไขปัญหาจราจรที่รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เริ่มลงมือทำ ซึ่งในส่วนของ บช.น. ที่กำลังดำเนินการอยู่ พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรเมืองหลวงให้จงได้..!!!