นับเวลาที่ผู้ชมได้รู้จักกับ “เฟโลเนียส กรู” วายร้ายตัวเอ้ และเหล่า“มินเนียนส์” (Minions) สมุนตัวสีฟ้า-เหลืองของเขาที่พฤติกรรมสุดวายป่วง
รวมถึง 3 เด็กกำพร้า “มาร์โก”, “แอ็กเนส” และ “อีดิธ” ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของ “กรู” ใน Despicable Me หรือ “มิสเตอร์แสบร้ายเกินพิกัด” จากภาคแรกที่ฉายในปีพ.ศ.2553 มาถึงตอนนี้ก็ยาวนาน 14 ปีเข้าไปแล้ว
Despicable Me ได้กลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแฟรนไชส์ ที่มีหลายภาค ทั้ง Despicable Me 2 ออกฉายในปี 2556, Despicable Me 3 ฉายในปี 2560 รวมถึงยังมี Minions ตอนแยกที่เป็นเรื่องราวของพวก “มินเนียนส์”ในปี 2558 และ Minions : The Rise of Gru ออกฉายในปี 2565
มาในปี 2567 เรื่องราวเหล่าตัวละครสุดฮาทั้งหลายใน Despicable Meก็เดินมาถึงภาคที่ 4 ในชื่อเดิมไม่แปรเปลี่ยนก็คือ Despicable Me 4 หรือ “มิสเตอร์แสบร้ายเกินพิกัด 4” ยังคงความสนุกสนานในการผจญภัยครั้งใหม่ ตัวร้ายหน้าใหม่ และชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนไปของ “กรู” งานกำกับของ คริส เรโนด์
Despicable Me 4 บอกเล่าให้เห็นความคืบหน้าของชีวิต “กรู”(พากย์เสียงโดย สตีฟ คาเรลล์) วายร้ายกลับใจที่กลายมาเป็นเจ้าหน้าที่ต่อต้านเหล่าวายร้ายแทน
หลังแต่งงานอยู่กินกับ “ลูซี ไวลด์” สายลับจาก องค์กรต่อต้านวายร้าย (คริสเท่น วิก พากย์เสียง) ก็มีลูกชายตัวน้อย “กรู จูเนียร์” เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ เรียกว่าชีวิตครอบครัวช่างสมบูรณ์สุขสันต์
แต่ความสุขอยู่ไม่นาน
หลังจาก “กรู” ได้วางแผนจับ “แม็กซิม เลอ มาล” (วิลล์ เฟอร์เรลล์ ให้เสียงพากย์) ตัวร้ายชาวฝรั่งเศสจอมโอหัง ซึ่งเป็นอดีตเพื่อนร่วมโรงเรียนฝึกวายร้าย และแค้นฝั่งหุ่นต่อ “กรู” มานานหลายสิบปี
โดย “แม็กซิม” โทษว่า “กรู” เป็นคนทำให้ตนต้องอับอายในงานแสดงความสามารถของโรงเรียน
https://www.youtube.com/watch?v=uokYfna2OTM
การจับกุม “แม็กซิม” แม้จะไม่เกินความสามารถของ “กรู” และหน่วยต่อต้านวายร้ายทว่ากลับไม่ใช่เรื่องหมู ๆ ที่จะกักขังเขาไว้ เพราะชายหนุ่มพัฒนาวิธีดัดแปลงพันธุกรรม จนสามารถแปลงร่างให้เป็นแมลงตัวเขียว มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ทรงพลัง แถมได้ความร่วมมือกับแฟนสาวตัวร้ายเช่นกันอย่าง “วาเลนตินา” (พากย์โดย โซเฟีย เวอร์การา) “แม็กซิม”จึงแหกกรงขังที่แข็งแกร่งของหน่วยต่อต้านเหล่าวายร้ายออกมาได้ พร้อมประกาศก้องว่าจะตามล่าครอบครัว “กรู” เพื่อเช็คบิลความแค้นทั้งในอดีตและในปัจจุบันแบบรวบยอด
ฝ่าย “กรู” เมื่อได้รับข่าวการหนีคุกของ “แม็กซิม” ทำให้เขาห่วงความปลอดภัยของครอบครัว จึงยอมเข้าโครงการคุ้มครองคุ้มครองความปลอดภัยเมื่อถูกคุกคาม โดยเปลี่ยนที่พักอาศัยไปยังเมืองอื่น เปลี่ยนชื่อแซ่ เปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนพฤติกรรมและกิจวัตรที่คุ้นเคย และต้องเข้ากับเพื่อนบ้านใหม่ ๆ ให้ได้
ส่วนบรรดาสมุนมินเนียนส์ ก็ถูกแยกไปทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศนั่งโต๊ะที่หน่วยต่อต้านวายร้าย ซึ่งระหว่างที่แอนิเมชั่นนำเสนอชีวิตครอบครัวของ “กรู” ที่ดำเนินอยู่ภายใต้โครงการพิทักษ์พยาน ฝ่ายมินเนียนส์บางตัวก็ถูกคัดเลือกให้เข้าโครงการทดลองแปลงกายเป็น“ซุปเปอร์ฮีโร่มินเนียนส์” มีพลังพิเศษเพื่ออออกไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ชาวประชา
แอนิเมชัน Despicable Me 4 ยังคงไว้ซึ่งคอนเซปต์ดั้งเดิมของแฟรนไชส์นี้อย่างครบถ้วน ในแง่ของ “คนที่ร้ายก็ใช่ว่าจะเลวชั่วจนยากกลับตัว”ทว่าฉายชัดเข้มขึ้นก็คือประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัว มีคติสอนใจและข้อคิดในการปลูกฝังผู้เยาว์แฝงอยู่ประปราย
แต่ก็มีบางจุดที่บทหนังไม่ได้ให้บทเรียนที่เพียงพอสำหรับเด็กวัยกำลังโต ที่อาจมีความคิดผาดแผลง ไม่ได้แค่ทำให้ตนเองเดือดร้อนเพียงคนเดียวแต่ยังส่งผลต่อความปลอดภัยของคนอื่น ซึ่งแม้ภาพยนตร์จะเสิร์ฟความสนุกแบบเต็มอิ่ม
แต่เมื่อเดินหน้ามาถึงภาคที่ 4 ก็ชวนให้ตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่า “กรู” หรือแม้แต่ “ลูซี” มีคุณสมบัติถึงพร้อมหรือยัง กับการเป็นบุพการีหรือผู้ปกครองเด็ก และนี่อาจเป็นโจทย์หนึ่งของการเขียนบทและออกแบบตัวละครบางตัวที่จะใส่เข้ามาในเรื่องอย่างสมเหตุสมผล
แต่ถึงจะตั้งคำถามแบบนั้น บางครั้งคำตอบที่ได้ก็และพึงระลึกไว้ก็คือ…คนเรานั้นไม่มีใครสมบูรณ์แบบ!
Blue Bird 6/7/67