เมื่อสื่อมวลชนเป็นฆาตกร
ร่วมฆ่าล้างครัว 8 ศพที่ จ.กระบี่
คอลัมน์ อาชญา(ลง)กลอน
โดย…ธนก บังผล
เสพข่าวฆ่าล้างครัวที่ จ.กระบี่กันมาทั้งเดือน เชื่อว่าหลายคนคงเบื่อกับคดีโหดร้ายทารุณ โดยมีผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องต้องสังเวยชีวิตไปอย่างอนาถ
กระแสข่าวประเภทนี้ สื่อมักจะให้น้ำหนักไปที่ผู้ฆ่า เมื่อไหร่ตำรวจจะจับคนร้ายได้ ในขณะที่ตำรวจจะเริ่มสืบจากสาเหตุ เพื่อหาหลักฐานโยงไปถึงผู้ก่อเหตุ การเริ่มต้นตั้งธงของทั้ง 2 ฝั่งที่แตกต่างกัน โดยปกติที่ผ่านมาหลายสิบปีนั้น เป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ามาตลอด
นอกจากจะไม่ขัดกันแล้ว ในบางทีสื่อเองก็ช่วยขยายแผลหาเบาะแสให้ตำรวจได้นำมาพิจารณาในการสืบสวน เช่นเดียวกับข้อมูลลึกๆของตำรวจที่เปิดเผยให้กับสื่อนั้นก็ทำให้สามารถต่อยอดประเด็นในการวางแผนทำงานให้กับนักข่าวด้วย
ผมเองติดตามอยู่ห่างๆ ตั้งแต่ต้น เพราะหลังจากถอยออกมาแล้วก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษใดๆ หรือมีโอกาสชิดใกล้ตำรวจในพื้นที่ กับผู้มีอำนาจในวงการสีกากีเหมือนแต่ก่อน ก็ต้องมองผ่านสื่อด้วยความเคารพในการทำงานของทุกฝ่าย ไม่ก้าวก่าย ก้าวล่วง ในส่วนที่ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้อง
แต่ธรรมดาสามัญชนคนที่มีอารมณ์ร่วมไปข่าว แม้กระทั่งคนข่าวที่ตามคดีนี้ บางคนก็มีทัศนคติกับขั้นตอนสืบสวนค่อนข้างแย่ แล้วเอาความแย่นั้นมาตั้งข้อสงสัย โดยไม่รู้เลยว่าวิธีการทำงาน สืบสวน หาพยานหลักฐาน มีความละเอียดมากน้อยอย่างไร
บางประเด็นที่ตั้งก็ช่างเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรือแรงจูงใจในการฆ่า ซึ่งนำไปใช้ประกอบสำนวน / ขึ้นศาลแล้วทำให้ไม่มีน้ำหนัก พาลที่ผู้ต้องหาจะหลุดคดีเอาง่ายๆ
การตั้งข้อสังเกตในคดีฆ่ายกครัวนั้น ถ้าเป็นไปด้วยหลักฐานแล้ว ย่อมช่วยให้ตำรวจทำงานและตอบสังคมได้ทุกประเด็น แต่ถ้าเป็นไปด้วยความไม่เข้าใจ ผลกระทบที่จะทำให้เสียรูปคดี สำนวนอ่อนจนผู้ต้องหาหลุดในชั้นศาลก็มีสูง ใครจะรับผิดชอบ
“บังฟัต” ไม่ว่าจะเป็นผู้บงการสูงสุดหรือไม่ เชื่อว่าเบื้องหลังการทำงานของนักสืบ และฝีมือการสอบสวนจะทำให้คดีเดินหน้าเอาผิดไปได้ชัดเจนทุกขั้นตอน
แต่เรื่องที่น่าหนักใจที่สุด คือการนำเสนอผู้รอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์อีก 3 ราย และ หนึ่งในนั้นเป็นเด็กทารกอายุเพียง 3 เดือน ไม่ใช่ว่าสื่อนำเสนอไม่ได้นะครับ แต่ด้วยทุกวันนี้การที่สื่อขายความ “ดราม่า” นั้น ผมคิดว่ามันชักเลยเถิดเกินความเหมาะสมและความปลอดภัย
จับคนฆ่าพ่อแม่ได้แล้ว ยังเอาเด็กมาอยู่กลางแสงไฟ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้จริงๆ อย่าลืมว่าข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้มีระบบจัดเก็บไว้ได้นาน ผมไม่กลัวเลยที่วันหนึ่งเด็กคนนี้จะโตขึ้นมาพร้อมความแค้นและคำถามที่ติดอยู่ในใจว่าใครฆ่าครอบครัวของเขาไป เพราะเชื่อว่าเมื่อถึงวันนั้นเขาจะสามารถค้นหาข่าวในปัจจุบันนี้มาอ่านได้
ส่วนเมื่ออ่านแล้ว รับรู้แล้ว ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร เขาจะทำอะไรต่อไปนั้นเป็นเรื่องในอนาคตที่ยากจะคาดเดา
ในมุมกลับกัน แสงสว่างที่ถูกส่องมายังเด็กในวันนี้ ผมหวาดกลัวว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานจนโตเป็นผู้ใหญ่ แม้ล้างแค้นจะนานกี่ปีก็ยังไม่สาย แต่ในระหว่างที่ยังแบเบาะปกป้องตัวเองไม่ได้การฆ่าล้างโคตรก็จะยังมีอยู่ อีก 10 ปีก็ยังไม่สายเช่นกัน
เพราะฉะนั้นการนำเสนอข่าวเด็กทารกที่รอดจากการฆ่าล้างครัวนั้นละเอียดอ่อนต่อชีวิตของญาติพี่น้องทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ต้องใช้วิจารณญาณในการนำเสนอและใช้ศิลปะในการดำเนินเรื่องเป็นอย่างมาก เป็นศาสตร์ของสื่อมวลชนชั้นสูงที่นักข่าวหรือคนในวงการปัจจุบันทั้งหมดทุกคน แทบไม่มีประสิทธิภาพพอจะแตะประเด็นนี้ได้เลย
ไม่ได้ปรามาสคนทำข่าวว่าไร้ความสามารถนะครับ แต่ลองคิดดูว่าดราม่าที่จะนำเสนอไปมันคุ้มกับความปลอดภัยในชีวิตของเด็กน้อยคนนี้ที่เสี่ยงขึ้นหรือไม่
สุดท้ายนี้ มีเรื่องร้องเรียนฝากไปถึง พล.ต.ต.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้บังคับการกองปราบปราม หลังจากได้รับแจ้งว่ามีตำรวจอ้างว่าสังกัดกองปราบออกไปเก็บเงินค่าดูแลกับชาวบ้านย่านบางบัวทอง
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา มีหญิงสาว 3 คน ทานข้าวกันโดย 1 ในนั้นมีโพยหวยใต้ดินอยู่ในมือ ระหว่างที่พูดคุยกันก็ปรากฏว่ามีผู้ชายใส่ชุดลำลองธรรมดา 3 คน ซึ่งอยู่ในร้านเดียวกันนั้นเดินมาที่โต๊ะแล้วอ้างว่าเป็นตำรวจกองปราบ จะพาตัวไปโรงพักดำเนินคดีในข้อหาเป็นเจ้ามือหวยใต้ดิน จากนั้นได้เรียกให้หญิงสาวทั้ง 3 คนซึ่งกำลังกินข้าวอยู่ให้ออกไปหน้าร้าน แล้วเสนอตัวในทำนองข่มขู่ว่า “จะให้ช่วยอย่างไรบ้าง”
ข้อเรียกร้องครั้งแรก 1 ในกลุ่มชายที่อ้างเป็นตำรวจกองปราบบอกว่าให้จ่าย “คนละ 15,000บาท” โดยระหว่างนั้นให้ผู้เสียหายทั้ง 3 คนคุยกับ “เสธ.แดง” ทางโทรศัพท์
ทั้ง 3 บอกว่าไม่มีเงินจริงๆ จนสุดท้ายสรุปว่าผู้เสียหายต้องจ่ายเงินให้กับทั้ง 3 คนไป คนละ 3,000 บาท นอกจากนี้ยังกำชับว่าจะกลับมาเก็บทุกเดือน ก่อนที่ทั้งหมดจะขึ้นรถอีซูซุ 4 ประตู สีดำ ออกไปจากร้าน
เรื่องนี้ถึงแม้ว่าจะมีคนเกี่ยวข้องกับหวยใต้ดินจริง แต่อีก 2 คนที่เหลือซึ่งเป็นเพื่อนกัน นัดกันมากินข้าวกลางวันด้วยกันนั้นไม่เกี่ยวข้อง กลับต้องมาจ่ายเงินให้กับคนที่อ้างว่าเป็นตำรวจกองปราบทุกเดือน เดือนละ 3,000 บาท
ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่อย่างนี้ ตำรวจมีหน้าที่ไถเงินจากประชาชนหรืออย่างไร
หลักฐานเดียวที่มีคือเบอร์โทรศัพท์ของคนที่อ้างว่าเป็นตำรวจกองปราบคนหนึ่งที่ทิ้งไว้ให้ผู้เสียหายทั้ง 3คน คือเบอร์ 099-4622799
ผมตั้งข้อสรุปไว้ 3 ประเด็น คือ 1. มิจฉาชีพอ้างตัวเป็นตำรวจกองปราบรีดไถชาวบ้าน 2.ตำรวจหน่วยอื่นอ้างกองปราบออกหากิน และ 3.ตำรวจกองปราบจริงๆ ซึ่งเป็นกรณีที่แย่ที่สุด
ฝาก “ผู้การทิน” ช่วยหาความกระจ่างในเรื่องร้องเรียนที่ชาวบ้านย่านบางบัวทองแจ้งผ่านเข้ามาด้วยครับ