กระทรวงยุติธรรม จับมือ UNDP และ UNGCNT จัดการประชุมระดับชาติหัวข้อ”การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชันเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน”
วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 ระหว่างเวลา 08.30 – 12.30 น.ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กทม.
กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand: UNGCNT)
จัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 8 หัวข้อ “การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน”
โดยได้รับเกียรติจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ ร่วมกับ คุณนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และ ดร. เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย
มีคุณดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้ชี้แจงความเป็นมาและวัตถุประสงค์การประชุมฯ และมีคณะเจ้าหน้าที่กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อำนวยความสะดวกตลอดการประชุมฯ
การประชุมฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการต่อต้านการทุจริต และสิทธิแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และความคิดเห็นระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน และการทุจริตในห่วงโซ่อุปทาน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวขอบคุณองค์กรพันธมิตรที่ร่วมกันจัดการประชุมฯ หัวข้อ “การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน” ได้จัดขึ้นในห้วงเวลาที่มีความเหมาะสม เนื่องจากวันที่ 9 ธันวาคม เป็นวันต่อต้านการทุจริตสากล
อีกทั้งหัวข้อการประชุมฯ ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในมิติแรงงาน ยังมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะในประเทศไทย
จากรายงานสถานการณืด้านแรงงาน ไตรมาส 3/2567 กรกฏาคม-กันยายน 2567 ที่มีประชากรวัยแรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 59.24 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 40.48 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน ส่วนอีก 18.75 ล้านคน เป็นคนชรา/คนที่ไม่สามารถทำงานได้ เรียนหนังสือ ทำงานบ้าน และอื่นๆ
พ.ต.อ.ทวีกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.48 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 33 จำนวน 12.10 ล้านคน และเป็นแรงงานนอกระบบที่สมัครจ่ายค่าประกันสังคม มาตรา 39 จำนวน 1.72 ล้านคน มาตรา 40 จำนวน 11 ล้านคน รวมจำนวนผู้ประกันตน จำนวน 24.82 ล้านคน ดังนั้นจำมีผู้อยู่ในกำลังแรงงานอยู่นอกระบบประกันตน จำนวน 15.66 ล้านคน
นอกจากนั้น ปัจจุบันประเทศไทยยังมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ อยู่ประมาณ 3.3 ล้านคนเศษ แต่ยังมีกลุ่มที่อยู่ใต้ดินอีกประมานรวมกับที่ขึ้นทะเบียนไว้ ประมาณ 5 ล้านคน
การพูดถึง การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการคอร์รัปชัน เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน จะมีความหมายถึงแรงงานทุกระบบ ประเทศไทยถ้านำนิยามสากลมาใช้เราจะมีผู้ว่างงานเพียง 4.14 แสนคน ที่ถือว่าน้อยมาก
ส่วนตัวเห็นว่าเพราะมีแรกงานนอกระบบและอาชีพอิสระจำนวนมาก รวมถึงมีสัดส่วนธุรกิจนอกระบบจำนวนมากด้วยจึงเป็นเรื่องท้าทายรัฐบาลที่ต้องเข้าไปดูแลและยากต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงาน
รมว.ยุติธรรม กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม เพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมอย่างแท้จริง
การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน จึงถือเป็นกรอบนโยบายของรัฐบาลที่สะท้อนความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความร้บผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม
โดยแผนปฏิบัติการฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นหลัก (Priority Area) 4 ประเด็น ได้แก่ (1) แรงงาน (2) ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (4) การลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ
ทั้งนี้ ปัญหาการละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นสำคัญที่ควรเร่งแก้ไข โดยการผลักดันร่างกฎหมายป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Anti- Strategic Lawsuit Against Public Participation : Anti- SLAPP Law) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยโดยเร็ว
นอกจากนั้น ควรนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการพัฒนามาตรการป้องกันการทุจริต เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม พิจารณายกเลิกกฎหมายที่เป็นโซ่ตรวน เป็นอุปสรรค หรือเป็นเงื่อนไขในการพัฒนา
รวมถึงกฎหมายที่มีความล้าสมัย ขยายผลการดำเนินงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมการคุ้มครองแรงงานในทุกมิติ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ และควรต่อยอดการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนกับกลุ่ม SMEs ด้วย เนื่องจากมีจำนวนมากในประเทศไทย
โดยดำเนินการควบคู่กับการส่งเสริมการศึกษาให้กับแรงงานที่พบว่า ประมาณ 65% มีการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาขั้นนพื้นฐาน ที่เป็นหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายของรัฐที่ต้องให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาถึงขึ้นพื้นฐาน (มัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช) การที่แรงงานไม่ได้รับการศึกษาถึงขั้นที่รัฐกำหนดอาจถือว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ดังนั้น การให้การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกละเมิด
สุดท้ายนี้ ผมขอให้ทุกคนมองว่ากระทรวงยุติธรรมเป็นของพวกเราทุกคน เป็นพื้นที่ที่จะสร้างความยุติธรรมให้กับคนทุกกลุ่ม และทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงขอให้ทุกท่านร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อจะได้รวบรวมและนำไปสู่การแก้ไข รวมถึงจะได้เป็นโอกาสในการผลักดันความเป็นธรรมให้กับแรงงานและภาคธุรกิจให้อยู่ร่วมกันได้ภายใต้หลักการเคารพสิทธิมนุษยชน
ร่วมกันขจัดปัญหาการทุจริตในมิติแรงงาน ทั้งในระบบ และนอกระบบ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และความเท่าเทียม ภายใต้หลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน
ด้านคุณนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทย โดยกระทรวงยุติธรรม ที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจก้บสิทธิมนุษยชนเป็นประเทศแรกในเอเชีย และมีบทบาทนำด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค
โดยเฉพาะการกำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัทต้องเปิดเผยผลกระทบการดำเนินงานในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 86% ได้ดำเนินการแล้ว การเสริมสร้างความเข้มแข็งของมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
รวมถึงพัฒนาการล่าสุดในการริเริ่มศึกษาแนวทางออกกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านภาคบังคับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ยังเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อหลักนิติธรรมของประเทศไทย
เห็นได้จากค่าคะแนนของประเทศไทยในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอรัปชั่นขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International Corruption Perceptions Index) และดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมของ World Justice Project (World Justice Project’s Rule of Law Index) ซึ่งยังปรากฏว่ามีปัญหาในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริต และประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม
ในการนี้ UNDP ยินดีร่วมมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในการสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผ่านทางโครงการใหม่ที่มุ่งสนับสนุนสื่อและเยาวชนให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (Agent of Change) ตลอดจนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในทุกมิติต่อไป