วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 8 ตร.
จากนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยให้ถือว่าผู้เสพ คือ ผู้ป่วยเพื่อเป็นการลดอุปสงค์หรือจำนวนผู้ติดยาเสพติดในประเทศให้ลดลง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1 – 9 จำนวน 1,483 หมู่บ้าน/ชุมชน
มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน ในการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด อาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อลดจำนวน และทำให้ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดหมดไปจากชุมชน/หมู่บ้าน อย่างเป็นระบบและยั่งยืนซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน
เสริมสร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาพิษภัยของยาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง อีกทั้งยังถือเป็นต้นเหตุของปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ประกอบกับปัจจุบันการเสพยาเสพติดถือเป็น การเจ็บป่วย โรคสมองติดยาซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
ดังนั้น การบำบัดรักษาและการช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดย่อมต้องพิจารณาหลายมิติแบบองค์รวม เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน
จากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า ผู้ใช้/ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัด ยังขาดภูมิคุ้มกันทางใจ ขาดความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ และกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำอีก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีโครงการฯแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นการบำบัดโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเพื่อให้เกิดการบำบัดฟื้นฟูใกล้บ้านหรือภายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้ผู้ผ่านการบำบัดอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสงบสุข ภายใต้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงในระดับสากลเป็นไปตามหลักการสาธารณสุข สิทธิมนุษยชนและเป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564
มีกระบวนการตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง บำบัด ฟื้นฟู และติดตาม ดูแล ช่วยเหลือโดยกลไกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
เพื่อเป็นสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานและเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ ชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน ในการดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มีการจัดการประชุมชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืนขึ้นในวันนี้
เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องได้มาร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนและแนวทางการดำเนินการในพื้นที่ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมาย ยาเสพติด พ.ศ.2564 เพื่อบูรณาการการป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติดให้กับชุมชน/หมู่บ้านเป้าหมาย ในการดำเนินการโครงการฯ