Friday, November 22, 2024
More
    Homeข่าวเด่นรอบวัน“ผบ.ต่อศักดิ์”ตามรอย”อธิบดีเผ่า”มอบแหวนอัศวิน ให้”ผู้กองสน.ปทุมวัน” ระงับเหตุกราดยิงพารากอน

    “ผบ.ต่อศักดิ์”ตามรอย”อธิบดีเผ่า”มอบแหวนอัศวิน ให้”ผู้กองสน.ปทุมวัน” ระงับเหตุกราดยิงพารากอน

    ”ผบ.ต่อศักดิ์”สืบทอด”อธิบดีเผ่า” มอบ “แหวนอัศวิน”ยกย่องข้าราชการตำรวจ ที่มีผลปฏิบัติงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังคมและประเทศชาติ โดยคนแรกที่รับคือผู้กอง สน.ปทุมวัน ที่เข้าระงับเหตุและจับกุมเยาวชนกราดยิงที่พารากอน

    วันที่17ต.ค.66 ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.เป็นประธานในพิธีสวนสนามและปฏิญาณตน เนื่องในวันตำรวจ

    1ในพิธีการ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้มอบ”แหวนอัศวิน”ให้กับร.ต.อ.ธัญอมร หนูนารถ รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ปฏิบัติหน้าที่ รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ

    เหตดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เวลา 16.12 นาฬิกา ขณะที่ ร.ต.อ.ธัญอมร กำลังเดินทางกลับบ้าน ได้ยินวิทยุรายงานเหตุ คนร้ายกราดยิง จึงอาสาในทันที และได้มารายงานตัวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยได้ปฏิบัติตามหลักยุทธวิธีตำรวจ จนกระทั่งสามารถควบคุมสถานการณ์ และจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด

    ​พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กล่าวถึงการมอบแหวนอัศวินครั้งนี้ว่า

    สำหรับ “แหวนอัศวิน”มีจุดกำเนิดจาก พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ  ที่ต้องการจะมอบรางวัลให้กับข้าราชการตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เสียสละ ปฏิบัติงานโดดเด่น และสร้างคุณประโยชน์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังคม และประเทศชาติ ซึ่ง “แหวนอัศวิน” ถือเป็นสิ่งของอันทรงเกียรติ ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับข้าราชการตำรวจที่ได้รับ และเป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา

    ปัจจุบัน ผมจึงมีแนวคิดที่จะรื้อฟื้นประเพณีการมอบ “แหวนอัศวิน” เพื่อยกย่องข้าราชการตำรวจที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นและสร้างคุณประโยชน์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังคม และประเทศชาติ จนเป็นที่ประจักษ์ ตามแนวทางของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ให้กลับคืนมาอีกครั้ง เพราะการ  “เชิดชูคุณความดี/ตอนมีชีวิต/ดีที่สุด” 

    จากเหตุการณ์ในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ร.ต.อ.ธัญอมร หนูนารถ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จนสามารถหยุดสถานการณ์ได้อย่างเรียบร้อย จึงสมควรมอบแหวนอัศวิน เพื่อเป็นเกียรติแก่ตนเอง และครอบครัว สืบต่อไป

    สำหรับความเป็นมาของ “แหวนอัศวิน” สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ต้องการจะมอบรางวัลให้กับข้าราชการตำรวจ ที่ทำงานเสี่ยงตาย ทำชื่อเสียงในด้านปราบปราม และงานอื่น อันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายภูธร หรือฝ่ายนครบาล / จึงได้มอบเป็นแหวนทองลงยา ที่หัวแหวนเป็นตราหน้าหมวกตำรวจสีแดง โดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ได้ตั้งชื่อแหวนนี้ว่า “แหวนอัศวิน”

    ทั้งนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มีแนวคิดที่จะสานต่อเจตนารมณ์ และต้องการเทิดเกียรติของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ โดยจะมีการมอบแหวนอัศวิน ให้กับข้าราชการตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ สร้างคุณประโยชน์ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สังคม และประเทศชาติ

    แหวนอัศวิน โลโก้แห่งยุคอัศวินผยอง และบะหมี่อัศวิน

    “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทย
    ทำไม่ได้”ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง

    นี่คือประโยคเต็ม ที่พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีตำรวจผู้เรืองอำนาจในยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้กล่าวไว้ แต่ผู้คนมักจะตัดมาเฉพาะส่วนแรกในเชิงประชดประชัน ซึ่งสามารถอธิบายถึงความอหังการของตำรวจในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

    เมื่อพลตำรวจเอกเผ่าฯ ได้โอนย้ายจากทหารมาเป็นตำรวจ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจนั้น ได้ทำการพัฒนากรมตำรวจอย่างก้าวกระโดด โดยนโยบายหลายเรื่องก็เอามาจากกองทัพ เพราะท่านเคยเป็นทหาร ทำให้ตำรวจเกิดหน่วยที่คล้ายทหารขึ้นมาหลายหน่วย เช่น ตำรวจรถถัง ตำรวจน้ำ ตำรวจพลร่ม ตำรวจม้า อีกทั้งยังมีธงประจำหน่วยตำรวจที่คล้ายคลึงกับธงชัยเฉลิมพล และยังมีการสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 อีกด้วย

    ตำรวจยุคนั้นยิ่งใหญ่และถูกเรียกว่า รัฐตำรวจ กองทัพตำรวจ เทียบเคียงกับทัพทหารเหล่าอื่นๆ

    ด้วยความที่ยุคสมัยนั้นมีนักเลงอันธพาลชุกชุม ทั่วประเทศเต็มไปด้วยโจร หรือเสือ การเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความวุ่นวาย ผู้บังคับกฎหมายอย่างตำรวจต้องมีความเด็ดขาด จึงทำให้ตำรวจยุคนั้นต้องเข้มแข็ง ดุเดือด ภายใต้การบังคับบัญชาของอธิบดีเผ่าฯ ท่านจึงอยากจะมอบรางวัลให้กับนายตำรวจลูกน้องคนสนิททั้ง 4 คนที่ทำงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเกือบเอาชีวิตไม่รอดมาหลายครั้ง ตามหนังสือชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย ที่พันตำรวจเอกพุฒ บูรณะสมภพ นายตำรวจคนสนิทได้เขียนไว้

    “ เฮ้ย พวกมึงก็ได้เหนื่อยกับกูหลายครั้งแล้ว ขั้นเงินเดือนก็ได้กันไปตามสมควร บางปีก็ต้องถูกตัดจากสี่ขั้นเหลือสองขั้น เพราะมันจะมากไป

    กูมาคิดว่า กูจะให้อะไรพวกมึงที่เป็นเครื่องหมายในความตั้งใจทำงานของพวกมึง อย่างไม่คิดแก่ชีวิตมาหลายครั้งแล้ว กูคิดออกแล้ว กูจะให้ไอ้ที่พวกมึงจะต้องนำติดตัวไปตลอดเวลา เพื่อพวกมึงจะได้สำนึกในหน้าที่ด้วย ”

    หลังจากนั้นอธิบดีเผ่าฯ ก็ได้สวมแหวนให้ลูกน้องคนสนิทคนละวง เป็นแหวนทองคำลงยาสีแดงชาด ที่หัวแหวนเป็นตราหน้าหมวกตำรวจหรือตราแผ่นดินสีทอง อธิบดีเผ่าตั้งชื่อแหวนนี้ว่า “แหวนอัศวิน”

    พันตำรวจเอกพุฒยังบอกไว้อีกว่า

    “หัวแหวนที่ลงยาตราแผ่นดินนั้น มีสีแดงเป็นพื้นเด่นดูสวยงามดี และได้รับคำสั่งให้สรวมไว้ที่นิ้วนางข้างขวาเป็นประจำ จะถอดออกเสียมิได้ ถ้าเมื่อใดได้พบท่านผู้ให้แหวนนั้น แล้วท่านไม่เห็นแหวนวงนั้นอยู่ที่นิ้วนางข้างขวา ผู้นั้นก็จะถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเรียกแหวนวงนั้นคืน ตัดออกจากบัญชีไปเลย”

    ดังนั้นคนที่ได้รับแหวนอัศวินจะต้องสวมไว้ตลอด 24 ชม เรียกได้ว่าจะนอน จะอาบน้ำ ก็ถอดไม่ได้ หากอธิบดีเผ่ารู้ว่าถอดออก ก็จะถูกปลดและยึดแหวนคืน

    ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คำว่า “อัศวิน” ก็ได้โด่งดังไปทั่วเมือง ซึ่งหลังจากที่อธิบดีเผ่าฯ ได้มอบแหวนอัศวินให้กับนายตำรวจคนสนิททั้งสี่แล้ว ท่านก็ได้มอบให้กับนายตำรวจที่ทำชื่อเสียงในทางปราบปราม และในทางการงานอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการตำรวจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนครบาล หรือฝ่ายภูธรอีกหลายคนต่อมา ยุคนั้นเป็นยุคที่ผู้คนขนานนามว่า ยุคอัศวินผยอง

    เมื่อจำนวนนายตำรวจที่ได้รับ “แหวนอัศวิน” มีมากขึ้นเป็นหลายสิบคน อธิบดีเผ่าฯ ก็ได้แบ่งระดับของ “แหวนอัศวิน” ด้วยการเอาเพชรมาติดที่หัวแหวนเป็นการยกระดับให้กับพวกที่ทำงานเสี่ยงชีวิตชนิดสมบุกสมบันในหน้าที่จริงๆ ก็เลยเกิดคำว่า “อัศวินแหวนเพชร” โดยผู้ที่ได้รับแหวนอัศวินฝังเพชรเป็นรางวัลรุ่นแรกก็คือนายตำรวจคนสนิททั้งสี่ของอธิบดีเผ่านั่นเอง ซึ่งก็คือ

    1. พ.ต.อ.พันศักดิ์ วิเศษภักดี
    2. พ.ต.อ.อรรณพ พุกประยูร
    3. พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ
    4. พ.ต.อ.วิชิต รัตนภานุ

    จากนั้นมา “อัศวินแหวนเพชร” ก็ได้เกิดขึ้นมาใหม่อีกหลายคน ซึ่งอธิบดีเผ่าฯจะมอบให้กับโคตรตำรวจที่ทำงานเสี่ยงชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เสี่ยงอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บเกือบเสียชีวิตในการปราบปรามโจรผู้ร้าย

    และในที่สุด “อัศวินแหวนเพชร” ก็มีคนได้รับไปทั้งหมดเพียง 13 คนเท่านั้น เพราะอธิบดีเผ่าฯได้ถือเอาเลข 13 เป็นเลขมงคล ซึ่งมาจากวันตำรวจ คือวันที่13 ต.ค. ของทุกปี

    ความโด่งดังของอัศวินยังได้ลุกลามไปถึงชื่อเมนูอาหารในร้านชื่อดังแห่งหนึ่งย่านราชวงศ์คือร้านสีฟ้า อันเนื่องมาจากการที่เหล่าอัศวินนั้นนิยมไปรับประทานอาหารที่ร้านนี้เป็นประจำ และได้สั่งให้เจ้าของร้านทำบะหมี่ที่ใส่เครื่องสารพัดทั้งหมู ไก่ กุ้ง ปู ปลา จนกระทั่งลูกค้าคนอื่นเกิดอยากจะสั่งตามแต่ก็เรียกไม่ถูก

    เมื่อถามจากเจ้าของร้านก็ได้คำตอบว่า “อ้อ บะหมี่ของพวกอัศวิน” ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้บะหมี่อัศวินก็กลายเป็นรายการอาหารยอดนิยมของร้านอาหารแห่งนี้ไปโดยปริยาย ซึ่งยังสามารถหาทานได้ที่ร้านสีฟ้าทุกสาขา

    ผู้ที่ได้รับแหวนอัศวินแหวนเพชรที่พอจะหาข้อมูลได้มีรายชื่อดังนี้
    1. พ.ต.อ.พันศักดิ์ วิเศษภักดี
    2. พ.ต.อ.อรรณพ พุกประยูร
    3. พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ
    4. พ.ต.อ.วิชิต รัตนภานุ
    5. พ.ต.ท.กมล ชโนวรรณ
    6. พ.ต.ท.สวง วุฒินันท์
    7. พ.ต.ท.เยื้อน ประภาวัต
    8. พ.ต.ต.ประชา พูนวิวัฒน์
    9. ร.ต.อ.ยอดยิ่ง สุวรรณาคร
    10. ร.ต.อ.เจริญ วัจนคุปต์
    11. พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น
    12. พล.ต.ท. เจริญ​ฤทธิ์​ จำรัสโรมรัน
    13. ไม่ทราบ

    วันนี้ 17 ตุลาคม 2566 แหวนอัศวิน ได้ฟื้นคืนกลับมาเรียกขวัญกำลังใจให้ความเป็นตำรวจไทยยืนในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีอีกครั้ง โดย ผบ.ตร. ที่ชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล

    RELATED ARTICLES
    - Advertisment -

    Most Popular

    Recent Comments