อาชญา (ลง) กลอน
ธนก บังผล
ยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากเคยยืนต่อแถวตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ ทุกวันนี้มีสมาร์ทโฟนที่ทำได้สารพัดในเครื่องเดียว
คนสมัยนี้เลยทำอะไรฉาบฉวยเป็นนิสัยและกลายเป็นวัฒนธรรมผิดๆโดยไม่รู้ตัว
ในวงการสื่อมวลชน ข่าวในแต่ละวันแทบจะล้นโซเชียลมีให้เลือกอ่านเลือกดูกันหลายช่องทาง เรียกได้ว่าเยอะจนหาคุณภาพและความถูกต้องไม่ค่อยมี
โดยเฉพาะข่าวปลอมตัดต่อภาพมาสร้างความแตกแยกให้คนในสังคมทะเลาะกันเยอะมาก
เมื่อสื่อแท้กับสื่อเทียมมาอยู่ปะปนกันบนโลกออนไลน์ ก็เกิดการแข่งขันหารายได้จากยอดไลก์ ยอดแชร์ เรตติ้ง ยอดขาย ซึ่งกระตุ้นให้นิสัยฉาบฉวยของคนทำงานมากขึ้น
คดีปล้นร้านทองฆ่า 3 ศพ ที่จ.ลพบุรี เป็นกรณีล่าสุดที่สื่อโดนสับแหลกเรื่องจรรยาบรรณ
เพจที่มีคนติดตามมากๆ ก็ใช้นิสัยเดิมๆครับ คือนั่งเทียน คิดเอาเอง เพื่อให้ข่าวมีความเคลื่อนไหวทุกวัน
บางเพจวิเคราะห์เอาเองเลยว่าเหตุเกิด จ.ลพบุรี ฆาตกรต้องเป็นทหารแน่นอน เอาลักษณะการแต่งกาย เสื้อผ้าที่ใช้มานั่งจินตนาการในออฟฟิศแอร์เย็นๆ
มั่วเสร็จก็อัพข่าวขึ้นเพจเรียกยอดไลก์ จรรยาบรรณวิชาชีพเป็นอย่างไรไม่รู้จัก
ในขณะที่สื่อหลักลงพื้นที่ไปเฝ้าติดตามเกาะกระแส พูดคุยกับตำรวจรายงานความคืบหน้า
พอส่งข่าวขึ้นออนไลน์ก็ยังโดนพวกเพจข่าวเถื่อนหยิบไปลอก หรือไม่ก็ขโมยเอาไปจินตนาการต่อยอดกันซึ่งๆหน้าเลยก็มี ความน่าเชื่อถือของสื่อมันก็เลยถดถอยครับ
ผมเรียกมันว่ายุคเสื่อม เสื่อมจากตัวสื่อเองล้วนๆที่ไม่ยึดมั่นในจริยธรรมจนประชาชนไม่รู้สึกว่าเป็นที่พึ่งได้
เห็นแก่เรตติ้งเพื่อเอาไปขายโฆษณา หาเงิน เข้ากระเป๋า โดยไม่ดูสภาพเศรษฐกิจว่าหากช่องทางนั้นไม่ใช่แม่เหล็กของจริง ผู้ประกอบการก็ไม่อยากจะเสียเงินซื้อโฆษณาหรอกครับ
สื่อส่วนหนึ่งมันเลยกลายสร้างวงจรอุบาทว์ขึ้นมา คือ เขียนข่าวมั่ว ไม่มีจรรยาบรรณ พอได้ยอดไลก์ยอดแชร์คนติดตามเยอะก็เอาไปขายโฆษณา
แต่ห้างร้านรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่าย ก็เลยกลายเป็นจรรยาบรรณไม่มี เงินก็ไม่ได้
สื่อประเภทนี้เยอะมากนะครับ มีสารพัดรูปแบบกันเลย
ในขณะที่คนข่าวยึดจรรยาบรรณกำลังจะอดตายกันไปทีละแห่ง
สื่อของจริงก็เหมือนตำรวจตัวจริงนั่นละครับ คือหากมีใครอ้างว่าเป็นตำรวจ ชาวบ้านจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นตำรวจจริง ส่วนมากก็เชื่อกันไว้ก่อนเลยว่าจริง
การยึดจรรยาบรรณเป็นที่ตั้ง ไม่บิดเบือนข้อมูล นำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ทำงานด้วยความสุจริต ยึดระเบียบข้อบังคับรักษาจริยธรรมเพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนหรือซ้ำเติมสังคมให้เลวร้ายลงไปอีก
สื่อที่ยึดจรรยาบรรณนั้นมีหลายแห่ง หลายคน แต่มักไม่ค่อยมีคนพบหรือรู้ว่าเป็นของจริง เพราะเขาไม่อวดอ้าง แสดงตัว ใช้สิทธิพิเศษครับ
ก็เหมือนกับตำรวจอาชีพของจริงที่ทำงานยึดมั่นในความสุจริตนั่นละครับ ไม่มีใครแต่งเครื่องแบบเต็มยศไปนั่งร้านอาหารสั่งเครื่องดื่มจนเมาเละคาชุด ก่อนจะเบ่งกินฟรีไม่จ่ายตังค์
พฤติกรรมอย่างนี้ตำรวจของจริงไม่ทำกัน เขาไม่โชว์ให้ชาวบ้านเห็น
เปรียบง่ายๆก็เหมือนพระอรหันต์นั่นละครับ พระท้ายแถวอาจจะออกมาเดินห้างสรรพสินค้าเพื่อช็อปปิ้งหรือดูหนังเป็นประจำทุกวัน
แต่พระอรหันต์ไม่เดินห้างสรรพสินค้า เพราะรู้ว่าธรรมะไม่ได้อยู่ที่นั่น
พระอรหันต์ไม่เสียเวลาในการภาวนาจิตเพื่อไปหารายได้ สะสมทรัพย์สินความสะดวกสบาย
นักข่าวตัวจริง ตำรวจของจริง ก็เช่นกันครับ ไม่พูดมาก ไม่อยากดัง ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน วัดกันที่ผลงาน
สื่อของจริงไม่สนใจยอดไลก์หรือเรตติ้ง ตำรวจของจริงก็ไม่สนใจอยากดังอยากออกหน้ากล้องเพื่อจะเอาผลงานไปวิ่งหาตำแหน่งขอย้ายหน่วย
บอกเล่ากันด้วยความอึดอัดครับ ตั้งแต่เห็นบางสื่อปล่อยคลิปวันเกิดเหตุยิงเด็กเสียชีวิต เรื่อยมาจนกระทั่งจับตัวคนร้ายได้ ไม่มีวันไหนเลยที่ทำงานด้วยการยึดจรรยาบรรณ
ที่สำคัญคือ ไม่มีสักข่าวเลยในเพจเถื่อนพวกนี้ที่แสดงให้ประชาชนเห็นถึงจริยธรรมสื่อ
ก็ได้แต่หวังว่าของปลอมที่รกวงการอยู่ทุกวันนี้คงจะเฉาตายหายไปเองในไม่ช้า