วงการกีฬาเสื่อม!!!
แฉแก๊งล่ารางวัลวิ่งมาราธอน
ซื้อขายถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
คอลัมน์ อาชญา (ลง) กลอน
โดย ธนก บังผล
วงการกีฬาของไทย เวลาที่ไปแข่งระดับนานาชาติอย่าง ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ หรือ โอลิมปิค เมื่อนักกีฬาทีมชาติไทยถูกผู้ตัดสินเข้าข้างฝ่ายตรงข้ามแบบค้านสายตา ภาษาบ้านๆก็เรียกว่า “ถูกโกง” เรามักจะโมโหเดือดดาล หลายครั้งพาลไม่ชอบประเทศนั้นๆไปด้วย
แต่เพราะการโกงกีฬา เป็นการโกงที่ไม่มีกฎหมายไหนบังคับจับปรับและจำคุก เหมือนการโกง ยักยอกทรัพย์สิน นักกีฬาที่โกงใช้สารกระตุ้นที่ต้องห้าม อย่างมากก็แค่โดนริบเหรียญรางวัล ห้ามแข่ง ถูกถอดสปอนเซอร์เท่านั้น บทลงโทษที่ไม่ต้องแลกมาด้วยอิสรภาพมันจึงง่ายต่อการโกงกีฬาทุกประเภท
วันนี้เปลี่ยนแนวมาคุยเรื่องสุขภาพการออกกำลังกายกันครับ แล้วลองหาคำตอบว่าในฐานะที่อยู่ในวงการตำรวจ จะเอากฎหมายไหนมาบังคับใช้เมื่อเจอเรื่องโกงประเภทนี้รับรองปวดหัวไปไม่เป็นเลยทีเดียว
กำลังเป็นที่ฉาวโฉ่ร้อนระอุทั่วโซเชียลมีเดียตอนนี้ หลังพบการโกงเพื่อเอารางวัลในการแข่งขันวิ่งมาราธอน รายการซูปเปอร์ฮาล์ฟมาราธอนครั้งที่ 22 จัดขึ้นที่เขาชะโงก โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) จ.นครนายก เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา
ก่อนงานจะเริ่มก็มีการโหมโรงกันยิ่งใหญ่ สำหรับ “รันเนอร์” หรือนักวิ่งแล้วงานนี้ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะจัดขึ้นที่มี พล.ท.หญิง กมลพร สวนสมจิตร ผู้แทนจาก สสส. ร่วมกับ พล.ต.สันต์ชัย เกิดสวัสดิ์ รอง ผบ.รร.จปร และ พล.ต.สุขุม สุขศรี เสนาธิการ รร.จปร.เป็นประธานในพิธีเปิดมหกรรมการออกกำลังกายแอโรบิค ในวันที่ 5 พ.ย. ที่บริเวณสนามกีฬากลาง รร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก
มีกิจกรรมแปลอักษร ของนักเรียนนายร้อย จปร. เพื่อถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยกิจกรรมการออกกำลังกายแอโรบิคนี้ เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายตามนโยบายของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกิจกรรมการแข่งขันเครื่องร้อนเครื่องบินพลังยาง, เครื่องบินเล็ก รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ก่อนจะมีงานกิจกรรมวิ่งเขาชะโงก ซุปเปอร์ฮาล์ฟมาราธอน ครั้งที่ 22 ในวันที่ 6 พ.ย.
โดยแบ่งการแข่งขันเป็น 4 ระยะทาง ได้แก่ ซุปเปอร์ฮาล์ฟ มาราธอน 32 กม. ฮาล์ฟมาราธอน ระยะทาง 16 กม. มินิมาราธอน 10 กม.
และฟันรันระยะทาง 3 กม.
จุดออกสตาร์ทและเส้นชัย อยู่ที่ลานหน้ากองบัญชาการ ผู้เข้าเส้นชัยอันดับ 1-5 ของกลุ่มอายุ และทุกประเภทการแข่งขันจะได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พล.อ.หญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ปัญหาเกิดขึ้นที่การวิ่งซุปเปอร์ฮาล์ฟ มาราธอน 32 กม. ชาย อายุ 35-39 ปี โดยผู้เข้าเส้นชัย 5 อันดับแรก ทำเวลาได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง 18 นาที 4 ใน 5 ของนักวิ่งปอดเหล็กมีดีกรีระดับทีมชาติ คือสถิติดีมาก และเป็นที่รู้จักของนักวิ่งเป็นอย่างดี
ยกเว้นอยู่คนเดียวที่เข้ามาแบบไม่มีใครเชื่อ เพราะมีประวัติไปลงทะเบียนวิ่งแต่ใช้ทางลัดนั่งรถเข้าเส้นชัย หรือที่ศัพท์นักวิ่งเรียกว่า “เปิดวาร์ป” มาแล้ว
เมื่อไปดูสถิติการวิ่งของคนนี้ที่งานเมืองไทยมาราธอน ระยะทาง 42กม. ใช้เวลาวิ่งไปทั้งหมดประมาณ 6 ชั่วโมง แต่มาวิ่งที่เขาชะโงกระยะทาง 32 กม. ใช้เวลาวิ่งไม่ถึง 2 ชั่วโมง18 นาที ซึ่งหมายความว่าต้องใช้เวลาวิ่ง 4 นาทีต่อ 1 กิโลเมตร
เมื่อถูกจับได้คาหนังคาเขาว่าไม่ได้วิ่งเข้าเส้นชัยแต่มีชื่อรับรางวัล ความก็แตกทำให้คนที่วิ่งได้รางวัลตัวจริง ออกมายอมรับว่าพอเข้าเส้นชัยแล้วก็เปลี่ยนชื่อของตัวเองไปให้อีกคนหนึ่งเพื่อให้ได้รางวัลแทน เพราะมีความจำเป็นในชีวิต ไม่ได้ขายถ้วยรางวัล และที่ต้องเปลี่ยนจากชื่อตัวเองไปใส่ชื่ออีกคนหนึ่งนั้น เป็นเพราะว่า คนที่รับรางวัลเป็นคนซื้อบิบ (ป้ายติดที่เสื้อเพื่อแสดงความเป็นทีม รุ่นอายุ ประเภท หรือ ไอดีของนักกีฬา ทำให้แยกแยะง่ายขึ้นในงานที่มีคนมาแข่งขันจำนวนมาก) ให้ ก็เลยสละรางวัลให้คนนั้นขึ้นไปรับแทน
คำถามคือ ทำไมนักวิ่งต้องซื้อบิบให้ ความจำเป็นในชีวิตที่อ้างจนต้องเอาถ้วยรางวัลทั้งๆที่ไม่ได้วิ่งเข้าเส้นชัย 5 คนแรกคืออะไร และการเอาอันดับให้กันหลังวิ่งเสร็จทำได้ด้วยหรือ (ค่าลงสมัครประมาณ 350 บาท)
มีนักวิ่งให้ความเห็นว่า กรณีอย่างนี้เป็นการซื้อขายรางวัล คือ ถ้าอยากได้รางวัลก็ให้ไปติดต่อกับนักวิ่งที่ฟิตและมีฝีมือ เมื่อเข้าเส้นชัยได้ก็เอาเงินไป ส่วนคนซื้อก็ขึ้นไปรับถ้วยรางวัลแทน
ปัญหาที่ตามมาคือ คนๆนี้ที่มีชื่อขึ้นไปรับรางวัล ยังเคยเปิดวาร์ป และทำผิดกฎกติกาแข่งขันในหลายๆที่เพื่อเอารางวัล เช่น งานหัวใจสุโขทัยที่วิ่งไม่จบแต่ไปรับเสื้อ รับเหรียญรางวัล ส่วนงานแข่งวิ่งที่ช่องปาก กลับตัวผิดระยะซึ่งถือว่าผิดกติกาแต่ก็ปรากฏว่าไปรับเงินรางวัล
มันจึงกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้คนไทยหัวหมอเกิดความคิด ซื้อ-ขายถ้วยรางวัลในสนามที่สำคัญมาเก็บใส่ตู้โชว์ประดับบารมีเป็นของตัวเอง
ในวงการนักวิ่งเองก็มีออกมาแฉว่า “ขบวนการ” ซื้อขายรางวัลนี้มีมานานแล้ว สำหรับรันเนอร์ที่ไม่ได้ใช้ขาของตัวเอง ทั้งลัดสนาม ทั้งเปิดวาร์ป
ประเด็นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรียกได้ว่า “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ของนักวิ่งระดับประเทศ โดยความสำคัญที่คนตั้งคำถามขึ้นมาคือ ที่เขาชะโงกนั้นผู้วิ่งชนะจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ขึ้นไปรับรางวัลจากพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพฯ หลายคนเพียรพยายามฝึกซ้อมด้วยความตั้งใจแม้จะรู้ว่าโอกาสเข้าเส้นชัย 5 อันดับแรกนั้นจะน้อยเต็มที
แต่กับบางคน ไม่ได้ให้ความสำคัญ ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้การจัดงานวิ่งแข่งขันมาราธอนที่เขาชะโงก กลายเป็นงานที่อัปยศเสื่อมทั้งศักดิ์ศรี จากแก๊งนักล่าบ้ารางวัลชอบสะสมถ้วยแต่ไม่มีปัญญาวิ่งเพียงไม่กี่คน